รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศด้วยการเชื่อมโยงธุรกิจภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคเกษตรเข้าต้วยกัน โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐาน “วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย” ที่เขื่อมโยงกับ “ความคิด” และ “เทคโนโลยีสมัยใหม่” ซึ่งนัยสำคัญคือ สร้างระบบเศรษฐกิจที่ผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย เข้ากับองค์ความรู้ที่ครอบคลุมทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้
สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่เริ่มมองหาสิ่งใหม่ที่มากไปกว่าการใช้งานตามปกติ ทั้งในด้านของความสวยงาม สุนทรียภาพ และการตอบสนองความเป็นปัจเจกชน รวมทั้งการเกิดขึ้นของวิถีชีวิตใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลของสินค้าและบริการด้วยตนเอง รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้เกิดโอกาสและช่องทางในด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทย
ซึ่งหากวิเคราะห์โอกาสของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยไม่ได้มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือเงินทุนจำนวนมากที่จะสามารถสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมของไทยได้ แต่ประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาผสมผสานและสร้างมูลค่าขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ดีภาคอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่เคยชินกับระบบทุนนิยมมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่อาศัยเทคโนโลยีและเครื่องจักรในสายการผลิต ทำให้การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตกระทำได้ยาก แต่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs นับได้ว่ามีข้อได้เปรียบมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เนื่องจากสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตหรือรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วได้ง่ายกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ รวมถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่แฝงอยู่กับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมยังสามารถนำมาต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ง่าย
โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดเศรษฐิกจเชิงสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการบนรากฐานของศิลปะและภูมิปัญญาของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการละเมียดและความแตกต่างของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ OTOP หลายชนิดสามารถพัฒนากลายเป็นสินค้าชั้นสูงราคาแพงที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น ผู้ประกอบการมีดอรัญญิกที่พัฒนาและใช้ทักษะการทำมีดมาประยุกต์ทำอุปกรณ์บนโต๊ะอาหาร เช่น ช้อน ส้อม ที่มีราคาสูง เป็นต้น ดังนั้น การยกระดับและการสร้างผู้ประกอบการ SMEs ให้เป็น Creative SMEs ที่ใช้ “วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย” มาต่อยอด “ความคิดในการพัฒนาออกแบบสินค้าและบริการ” การใช้ “เทคโนโลยสมัยใหม่” ในการปรับปรุงคุณลักษณะให้เกิดเป็นสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงเป็นรากฐานการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
ปัจจุบัน มีเพียงกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs จำนวนไม่มากที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการของตนเพื่อให้เกิดมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของพื้นที่มาประยุกต์ใช้ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมองข้ามและไม่ทันนึกถึงสิ่งที่ตนมีที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของตน การนำความคิดสร้างสรรค์ดั้งเดิม และพื้นฐานของทักษะที่อยู่บนทรัพย์สินทางวัฒนธรรม มาผสมกับความรู้การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปเพิ่มการแข่งขันการเชิงเปรียบเทียบเพื่อให้โดดเด่นยิ่งขึ้น เช่น นวดแผนไทย ซึ่งเป็นสินค้าบริการ ที่ประเทศไทยมีทักษะฝีมือที่ชำนาญ และถ่ายทอดกันมาแต่ดั้งเดิม เมื่อนำเข้ามาใส่ในธุรกิจสปา ได้ช่วยสร้างคุณค่าให้กับนวดแผนไทยมากขึ้น มีราคาสูงขึ้น ถือเป็น Value creative แล้ว แต่ควรจะทำเพิ่มขึ้น คือ การนำเอากระบวนการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ต้องมีการคิดค้นน้ำมันนวดที่เป็นกลิ่นพิเศษเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน ที่ผ่านกระบวนการวิจัยมาแล้วว่าเป็นกลิ่นที่เหมาะสมกับลูกค้าคนนั้นมากที่สุด เพียงเท่านี้ก็จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้
ยกตัวอย่างประเทศที่สามารถประยุกต์นำเอาวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาสรรค์สร้างสินค้าและบริการที่มีความแตกต่างและตรงต่อความต้องการของผู้ซื้อเพื่อนำเอามาเป็นแบบอย่าง คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่นับได้ว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเอาวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาประยุกต์กับสินค้าและบริการจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือในกรณีบริษัท Pagong ซึ่งเดิมเคยเป็น SMEs ผู้ผลิตชุดกิโมโนมาตั้งแต่อดีต แต่จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ความจำเป็นและความถี่ในการใช้งานชุดกิโมโนนั้นลดลงอย่างมาก ทำให้ทางบริษัทได้ปรับเปลี่ยนไปรับจ้างผลิตผ้าผืนเพื่อป้อนโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าตามสมัยแบบ OEM ซึ่งต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างหนัก และต้องแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศจีนที่มีราคาถูก จนทำให้ธุรกิจเกิดการขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนต้องมีการลดจำนวนคนงานและมีแนวคิดหยุดกิจการลง
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมือการบริหารให้กับทายาททางธุรกิจคนปัจจุบัน ได้มีแนวคิดว่าหากยังคงดำเนินธุรกิจแบบนั้นอยู่คงจะไม่สามารถยืนหยัดอยู่บนการแข่งขันได้นาน จึงเริ่มหาจุดขายเพื่อหนีการแข่งขันที่ไม่มีวันชนะ โดยกานำเอาภูมิปัญญาที่ครอบครัวตนเองมีอยู่ตั้งแต่สมัยอดึต คือ การผลิตผ้ากิโมโน เป็นการนำเอาลวดลายของผ้ากิโมโนมาประยุกต์ใช้กับรูปแบบเสื้อผ้าในปัจจุบัน ซึ่งการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยภูมิปัญญาของ Pagong นี้เป็นที่ต้องการของตลาดเสื้อผ้าในญี่ปุ่นอย่างมาก จนปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบจนสามารถขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้และสามารถสร้างยอดขายได้ปีละกว่า 1 พันล้านเยน ซึ่งในประเทศไทยก็มีร้านสาขาของ Pagong อยู่ที่ห้างอิเซตันในกรุงเทพฯด้วย
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ผู้ประกอบการร่มญี่ปุ่นโบราณ Kyoto Hiyoshiya ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ผลิตและขายร่มกระดาษสาของญี่ปุ่นที่เป็นงานฝีมือที่ปราณีต มีความสวยงามของโครงการไม้ไผ่และกระดาษสามากว่า 150 ปี ซึ่งในอดีตเป็นที่นิยมแพร่หลายอีกทั้งเป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้ถือ และเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ประสบภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลให้ได้รับความนิยมลดลงเพราะประชาชนหันมาใช้ร่มพลาสติกแทน ทำให้ผู้ประกอบการร่มรายอื่นๆ ต่างปิดกิจการลงหมด เหลือเพียงแต่ Hiyoshiya จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของผลิตภัณฑ์ร่มญี่ปุ่นดั้งเดิม โดยเริ่มจากการค้นหาจุดแข็งที่มีคือความชำนาญในการทำร่มไม้ไผ่แบบดั้งเดิม ที่มีความสวยงามของโครงไม้ไผ่ ความโปร่งแสงของกระดาษสาและความสามารถในการพับเก็บแบบร่ม จึงได้มีการทดลองประดิษฐ์โคมไฟโดยใช้โครงสร้างของร่มมาออกแบบซึ่งจากการทดลองจนได้โคมไฟที่นำเอาโครงสร้างของร่มเป็นโครงหลักที่มีความสวยงาม ซึ่งได้รับรางวัล Good Design Award ปี 2007 ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดยุโรปและอเมริกา
จากทั้ง 2 ตัวอย่างที่นำมาเป็นตัวอย่างจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนพื้นฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่เชื่อมโยงกับความคิดและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนจำนวนมหาศาลกับเทคโนโลยีหรือแข่งกันตัดราคาเพื่อรักษาฐานลูกค้า หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเอาดีใกล้ตัวมาพัฒนาด้วยแนวคิดที่แตกต่าง ก็จะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าและบริการได้ นับได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยน่าจะใช้เป็นต้นแบบของการหันมามองตัวเองเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ใช้ภูมิปัญญาแบบไทยไทย ซึ่งมีความหลากหลายและเรื่องราวที่สามารถนำมาใช้เป็นจุดขาย
อย่างไรก็ดี แต่ความสำเร็จในการผลักดันให้เกิด Creative SMEs นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในระดับรัฐบาลที่ต้องมีนโยบายในการกระตุ้นและสนับสนุนการสร้างแรงบันดาลใจและการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างมูลค่าด้วยวัฒนธรรมและภูปัญญากับ SMEs ซึ่งจะช่วยให้เกิดผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่มีความรู้ความเข้าใจในการแปลงวัฒนธรรมให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงต้องสนับสนุนและอุดหนุนพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญการคิดและออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเข้าไปช่วยเหลือ SMEs ในเชิงลึกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดเป็นต้นแบบในการสร้างกระแสการพัฒนาต่อเพื่อให้เกิดการนำแนวคิดการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ขยายไปยังกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาและพื้นที่ต่างๆต่อไป
นอกจากนี้ ยังควรมีกองทุนสำหรับการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสร้างสรรค์สินค้าและบริการตามแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ทั้งในรูปแบบเงินทุนเริ่มต้นธุรกิจและเงินทุนหมุนเวียน และในส่วนของผู้ประกอบการ SMEs ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดโดยยังอาจดำเนินธุรกิจตามเดิมแต่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้วยความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และต้องศึกษาข้อมูลการตลาดเชิงลึกเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการของตน รวมถึงหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@