สสว.เผยรายงานผลกระทบของธุรกิจเอสเอ็มอีจากน้ำท่วม ชี้กว่า 60,000 รายได้รับภัย กลุ่มอาหาร และเกษตรแปรรูปสูญเสียมากที่สุด ตามด้วยธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง รวมถึงธุรกิจขนส่งและค้าปลีก แนะภาครัฐตรึงราคาสินค้าเกษตรช่วยแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการ พร้อมหามาตรฐานกระตุ้นบรรยากาศจับจ่ายหลังน้ำลด
รายงานจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คาดผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จะมีผลลบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว กว่า 60,000 ราย โดย SMEs ในอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งในเรื่องของเครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมจนเสียหายจนไม่สามารถทำการผลิตสินค้าได้ รวมถึงเรื่องวัตถุดิบที่ใช้ในการ การผลิตขาดแคลน และราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบทั้งหมดเป็นผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ดูจากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินความเสียหายในเบื้องต้นของเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ว่ามีแนวโน้มละขยายวงกว้างกว่าในปี 2553 โดยเฉพาะภาคการเกษตรกรรม และคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องถึงครึ่งแรกของปีหน้า
นอกจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปแล้วอีกอุตสาหกรรมที่คาดว่า SMEs จะได้รับผลกระทบ คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จากการประเมินสถานการณ์ของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่าสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้แม้ธุรกิจท่องเที่ยวจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไกลจากตัวเมือง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ในตัวเมืองยังเที่ยวได้ปกติ (ยกเว้นจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในตัวเมืองค่อนข้าง รุนแรงพอสมควรโดยเฉพาะการประเมินความเสียหายของโรงแรม ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นคิดเป็น มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยเฉพาะโรงแรมย่านไนท์บาซาร์ แต่เชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น) แต่จะกระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวกังวลกับสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้งหากสถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลายจะกระทบต่อช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่ใกล้จะถึงโดยเฉพาะภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบ 15% ของแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมด ซึ่ง SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวจะขาดรายได้อย่างแน่นอน
นอกจาก SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมข้างต้นแล้ว SMEs ในธุรกิจบริการขนส่งและธุรกิจค้าปลีกก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมด้วยเช่นกัน เนื่องจากรถขนส่งสินค้าของ SMEs ส่วนใหญ่เป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก และเส้นทางการขนส่งสินค้าเสียหายมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าไปส่งและกระจายสินค้าในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ ส่งผลถึงธุรกิจค้าปลีกในพื้นที่ไม่มีสินค้าขายให้ผู้บริโภค รวมทั้งคำสั่งซื้อสินค้าลดลงเพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคหายไป ทำให้ยอดส่งสินค้าในพื้นที่ดังกล่าวลดลงด้วย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียรายได้จากการประกอบการ อย่างมาก
ทั้งนี้ สสว. เสนอควรพิจารณาถึงมาตรการตรึงราคาสินค้าทางการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของผู้ประกอบการเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs หรือมีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นตลาดให้แก่ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น จัดกิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยวหลังน้ำลด การจัดมหกรรมขายสินค้าในท้องถิ่น เป็นต้น
ในส่วนของ สสว. ในระยะเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือ SMEs นั้น สสว. อาจจะมีโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและ/หรือช่วยเหลือด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการหลังน้ำลด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้และมีเงินกลับเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ และเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้ประกอบการ SMEs อีกทางหนึ่ง