อุบลราชธานี
ช่วงนี้ ข่าวการจับกุมการลักลอบตัด “ ไม้พะยูง” ในพื้นที่ภาคอีสาน พบเห็นได้บ่อยครั้งและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ...ลำพังชาวบ้านตาสีตาสา ลักลอบตัดไม้เพราะมีราคาดี ไม่น่าจะมีมากอย่างที่เป็นข่าวคราวเกิดขึ้น แต่น่าจะเป็นขบวนการค้าที่วางระบบไว้เป็นอย่างดี มีนายทุนใหญ่หนุนหลัง และมีเจ้าหน้าที่รัฐพัวพันด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินคดี แถมยังมีอีกหลายรายที่โดนโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ จากการเข้าไปพัวพัน
หลังจากเกิดขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูงส่งขายประเทศจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง โดยปลายทางต้องการนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มเครื่องสักการะ เพราะถือเป็นไม้ชั้นสูงมีค่า ทำให้ราคาไม้ที่ถูกตัดและชักลากออกจากป่าสงวนแห่งชาติในประเทศไทย มีมูลค่าสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
เหตุที่กลุ่มค้าไม้พุ่งเป้าตัดทำลายไม้พะยูงในประเทศไทย เพราะไทยเป็นผืนป่าสุดท้ายที่มีไม้พะยูงขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเมินว่ามีไม้พะยูงเหลืออยู่ในประเทศไทยราว 80,000-100,000 ต้น โดยมีหนาแน่นบริเวณพรมแดนไทย-กัมพูชา และลาว ตามจังหวัดอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี
ปัจจุบันจากความต้องการของตลาดไม้พะยูงที่สูงอย่างมาก ทำให้การซื้อขายไม้พะยูงขณะนี้ ซื้อขายกันแบบชั่งเป็นกิโลกรัม กิโลกรัม ละ 50-200 บาท ตามแต่ขนาดความกว้างของหน้าไม้ รวมทั้งตามขนาดความยาวของไม้เฉลี่ยตั้งแต่ 1-2 เมตร
สำหรับขบวนการตัดไม้พะยูงที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้ อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจอง-นายอย และป่ายอดโดม ซึ่งตั้งอยู่ตามแนวเทือกเขาพนมดงรักในเขต 3 อำเภอ คือ อ.บุณฑริก อ.นาจะหลวย และ อ.น้ำยืน มีเนื้อที่พื้นป่ากว้างกว่า 4.2 แสนไร่
ขั้นตอนการตัดไม้พะยูงเริ่มจากการชี้เป้า โดยผู้ชี้เป้ามีทั้งเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าและชาวบ้าน โดยได้รับเงินค่านำชี้ต้นละ 5,000 บาท ต่อจากนั้น ก็จะมีคนนำทางพากลุ่มลักลอบราว 20-30 คน เข้าไปทำการตัดและแปรรูปไม้เป็นแบบท่อนเหลี่ยม โดยจะใช้ช่วงเวลากลางคืนและเสร็จสิ้นก่อนรุ่งสางภายในวันเดียว
หลังการตัดไม้พะยูงและทำการแปรรูปแล้ว ไม้จะถูกลำเลียงไปทิ้งไว้ตามจุดนัดแนะ โดยมีการทำเครื่องหมายเป็นที่รู้กัน เพื่อรอการลำเลียงออกจากป่ามาขึ้นรถส่งออกไปต่างประเทศ โดยกลุ่มผู้ตัดจะได้รับเงินรวมทั้งยาเสพติดจากนายทุนทำไม้ครั้งละ 100,000-150,000 บาท ตามแต่ความยากง่ายของภูมิประเทศ
สำหรับเส้นทางลำเลียงไม้ออกไปต่างประเทศ ปัจจุบันมี 3 เส้นทางคือ ลำเลียงไม้ผ่านชายแดนไทยไปยังกัมพูชา เพื่อส่งออกไปประเทศที่สาม เส้นทางที่สองคือ ไปตามถนนยุทธศาสตร์เลียบแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านอีสานใต้ไปลงเรือที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และเส้นทางสุดท้ายลำเลียงไปตามถนนยุทธศาสตร์ไทย-ลาว ตามพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ไปผ่านกระบวนการศุลกากรที่ จ.มุกดาหาร โดยสำแดงเท็จเป็นไม้ที่ไม่หวงห้ามแล้วส่งเข้าประเทศลาว
หรือบางครั้งใช้วิธีสวมไม้คือ นำไม้พะยูงปะปนไปกับไม้อื่นๆที่นำเข้าจากประเทศลาว เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของศุลกากร จะนำขึ้นรถคอนเทนเนอร์ส่งออกไปประเทศที่สามต่อไป
ล่าสุดมีการพบไม้พะยูงมูลค่ากว่า 50 ล้านบาท ถูกนำมาพักไว้หลังโกดังนำเข้า-ส่งออกไม้ที่ด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี โดยทั้งหมดเป็นไม้ที่ตัดใหม่มีแหล่งที่มาจากอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ที่กำลังประสบปัญหาถูกลักลอบตัดอย่างรุนแรงในขณะนี้นั่นเอง
นอกจากการลักลอบตัดไม้พะยูงที่ทำโดยชาวบ้านตามแนวชายแดน ยังมีขบวนการตัดไม้พะยูงที่เป็นกองกำลังจากประเทศกัมพูชา ซึ่งมีนายทุนใหญ่เป็นถึงหลานสาวของรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของกัมพูชา พฤติกรรมของกลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงจากนอกประเทศ จะมีกองกำลังคอยคุ้มกันกลุ่มลักลอบตัดไม้ที่เข้ามาตัดไม้ตามเทือกเขาพนมดงรัก
อดีตการลักลอบเข้ามาตัดของขบวนการตัดไม้จากประเทศกัมพูชา จะอยู่ตามตะเข็บแนวชายแดนไม่เข้ามาลึกมาก
แต่ปัจจุบันพบว่า ขบวนการลักลอบตัดไม้จากเขมร รุกเข้ามาตัดไม้ในเขตประเทศไทยลึกมากราว 8 กิโลเมตร แสดงว่าไม้พะยูงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาที่เคยมีมาก ได้ลดปริมาณลง จนทำให้ขบวนการลักลอบตัดไม้จากเขมร ต้องเสี่ยงเข้ามาตัดไม้ในเขตแดนไทย จนเกิดการปะทะกับทหาร ตชด.และชุดรักษาป่าของไทยอยู่บ่อยครั้ง
สำหรับไม้ที่ขบวนการตัดไม้จากกัมพูชาที่ตัดแล้ว จะนำใส่รถเข็นลำเลียงเข้าเขตชายแดนเขมรต ตามช่องออกตามธรรมชาติ แล้วนำไปพักไว้ในโรงไม้ที่มีกระจายอยู่ตามแนวชายแดน ก่อนส่งไปยังประเทศที่สาม
การลักลอบตัดไม้พะยูงทั้งที่ทำโดยขบวนตัดไม้ภายในและจากนอกประเทศ จะทำไม่ได้เด็ดขาด หากไม่มีบุคคลเหล่านี้ร่วมรู้เห็น คือ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าไม้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่า ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สมาชิก อบต. ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ตชด. และทหาร โดยขบวนตัดไม้ได้จ่ายเงินเป็นไปเบิกทางให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำตัวเป็นแกะดำมากน้อยตามความสำคัญ เฉลี่ยตั้งแต่มูลค่าหลักพันบาทถึงหลักหมื่นและหลักล้าน
จากบัญชีดำของขบวนการค้าไม้พะยูงรายหนึ่ง ระบุรายจ่ายที่มอบให้เจ้าหน้าที่ระดับต่างๆเมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา โดยให้หน่วยเฉพาะกิจตำรวจภูธรจังหวัดชื่อ “น้อง” 30,000 บาท ตชด. “เบี้ยว” 70,000 บาท หน่วยอนุรักษ์ อบ.10 50,000 บาท ตำรวจห้วยข่า 50,000 บาท ป้อมห้วยข่า 20,000 บาท ทหารห้วยข่า 20,000 บาท ชุดอนุรักษ์ห้วยข่า 2 ชุดๆละ 10,000 บาท กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหนองเม็ก โป่งยอ 10,000 บาท และฝ่ายปกครองบุณฑริก 40,000 บาท
นอกจากบัญชีดำที่ว่าแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ที่รู้เห็นเป็นใจให้มีการลักลอบตัดไม้ที่ยังไม่ถูกพาดพิงอีกจำนวนมาก แต่ส่วนหนึ่งได้รับการลงโทษไปแล้วคือ นายวิวัฒน์ นาคช่วย หน.อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งย้ายออกจากพื้นที่เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบตัดไม้พะยูง
หลังจากนั้น ก็มีคำสั่งย้ายลูกจ้างของหน่วยอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติดังกล่าวอีก 5 นาย ไปประจำที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จ.อุบลราชธานี เพื่อสอบสวนขยายหาตัวผู้ร่วมในขบวนการกินไม้พะยูง
ด้านกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.คมสันต์ สายโคกกลาง รอง ผกก.ป.สภ.น้ำยืน พ.ต.ท.วิพากษ์ ธงอาจ สว.สส. พ.ต.ต.วีระยุทธ แสนสมบัติ สวป. ร.ต.อ.พงษ์พิพัฒน์ ศรีชุม รอง สวป. และตำรวจชั้นประทวนยศดาบตำรวจ 3 นาย คือ ด.ต.ธีระรัชต์ บุญเจริญ ด.ต.สุดใจ ศรีดาเรียน และ ด.ต.อลงกฏ วิโรจน์กูลทอง ซึ่งถูกกลุ่มตัดไม้ซัดทอดรับสินบนอำนวยความสะดวกในการทำไม้ ให้ไปช่วยราชการตามพื้นที่ต่างๆของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3
ส่วนนายตำรวจอีก 2 คนคือ ผู้กำกับการสถานีตำรวจน้ำยืน และรองผู้กำกับการสืบสวน ซึ่งไม่มีส่วนรับสินบน แต่บกพร่องต่อหน้าที่ ถูกคำสั่งไปช่วยราชการที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ระหว่างมีการสอบสวนเอาผิดกับตำรวจที่รับสินบนทั้งหมดเป็นการชั่วคราว
สำหรับพื้นที่อำเภอน้ำยืน นอกจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกสอบสวนรับสินบนจากขบวนการตัดไม้แล้ว ยังมีรายชื่อของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อบ.10 และฝ่ายปกครอง อ.น้ำยืน รวมทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหนองแวง และสมาชิก อบต.โดมประดิษฐ์ มีส่วนร่วม ซึ่งทั้งหมดก็ถูกทางหน่วยงานต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
นอกจากเจ้าหน้าที่ตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งถูกพาดพิงมีส่วนพัวพันกับขบวนการตัดไม้พะยูงแล้ว ยังเป็นที่รับรู้ภายในแวดวงตำรวจว่า นอกจากเจ้าหน้าที่ที่กำลังถูกสอบสวนอยู่ขณะนี้ ก็ยังมีนายตำรวจระดับชั้นพันตำรวจเอกพิเศษและชั้นนายพล ทั้งกองบัญชาการภาค 3 และกองบัญชาการภาค 4 รู้เห็นและรับเงินจากขบวนตัดไม้อีกนับเดือนละ 1 ล้านบาท หากเอ๋ยชื่อออกมาเมื่อใด จะต้องร้องอ๋อกันทันที
โดยทุกครั้งที่มีการตรวจจับกลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงได้ ก็จะมีโทรศัพท์จากนายตำรวจยศสูงจากกองบัญชาการภาค 4 สั่งให้ปล่อยเป็นประจำ
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปราบปรามกระบวนการมอดไม้พะยูงสำเร็จ ไม้พะยูงจะยังคงถูกลอบตัดต่อไป ตราบใดที่นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ทั้งที่อยู่ในกองบัญชาการภาค 3และภาค 4 ยังอยู่ในตำแหน่ง…!!
กระแสการปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงอย่างจริงจังที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ นอกจากมีปัจจัยจากไม้พะยูงในป่าที่เริ่มมีจำนวนลดน้อยลงอย่างน่าใจหายแล้ว สำนักพระราชวังที่ได้รับการถวายฎีกาจากประชาชนที่มีความหวงแหนในทรัพยากรของชาติ ก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ขบวนการกินป่าเกิดอาการชะงักงัน เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามต้องแจ้งผลการปฏิบัติให้สำนักพระราชวังทราบเป็นระยะ
แต่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดที่สุดก็คือ ต้องจัดการกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายปราบปราม และฝ่ายสนับสนุนให้พ้นไปจากพื้นที่ เพราะไม้พะยูงเป็นสิ่งของชิ้นใหญ่ หากปราบปรามอย่างจริงจัง การชักลากไม้ออกจากป่าส่งไปขายต่างประเทศ ก็ทำไม่ได้แน่นอน และนั่นจะทำให้ทรัพยากรของชาติได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจังตลอดไป