บุรีรัมย์ - ผวาภัยสู้รบชายแดนเขมร ครูโรงเรียนบ้านโคกกะชาย อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ นำนักเรียนซักซ้อมเข้าหลุมหลบภัย เหตุไม่มั่นใจสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา หลังไทยถอนตัวจากภาคีมรดกโลก พร้อมเรียกร้องขอรัฐเร่งจัดสร้างหลุมหลภัยที่ได้มาตรฐาน
จากกรณีที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้เจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ที่ได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นกรรมการมรดกโลก และภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลก กรณีความขัดแย้งการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และแผนการบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เสนอโดยกัมพูชานั้น
วันนี้ (27 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนบ้านโคกกะชาย ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเสี่ยงภัยที่ตั้งอยู่ติดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพียง 3.50 กิโลเมตรเท่านั้น และเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะระหว่างทหารไทย กับฝ่ายกัมพูชา โดยเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีลูกระสุนปืนใหญ่ BM-21 ตกเข้ามาในหมู่บ้าน วัด และในโรงเรียนกว่า 30 ลูก และแรงอัดจากกระสุนปืนใหญ่ ทำให้กระจกโรงเรียนแตกเสียหาย ส่งผลให้ทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียนในโรงเรียนยังคงมีความหวาดผวากับเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยหวั่นจะเกิดการปะทะระหว่างกองกำลังทั้งสองฝ่ายซ้ำอีก ถึงแม้จะช่วงนี้เสียงปืนจะเงียบลงแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ตลอดแนวชายแดนมีความตึงเครียด
ขณะที่ทางโรงเรียนได้มีการซักซ้อมให้เด็กนักเรียนวิ่งลงหลุมหลบภัย ที่มีอยู่ภายในโรงเรียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม หากเกิดเหตุการณ์ปะทะขึ้นซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม หลุมหลบภัยที่มีอยู่ จำนวน 6 หลุม ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร และไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน จึงอยากเรียกร้องขอให้ทางภาครัฐเร่งจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการซ่อมแซมและก่อสร้างหลุมหลบภัย ภายในโรงเรียนให้ได้มาตรฐานและเพียงพอกับจำนวนนักเรียนด้วย เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากเหตุปะทะดังกล่าว
ด้าน นายพิทยา รัตนกาญจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกกะชาย ต.สายตะกู อ.บ้านกรวด กล่าวยอมรับว่า ทั้งครู ผู้ปกครอง และเด็กนักเรียน ยังมีความหวาดผวากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย เพราะทั้งสองฝ่ายยังมีการตรึงกำลังตามแนวชายแดน อีกทั้งโรงเรียนตั้งอยู่ห่างจากชายแดนไม่ถึง 4 กิโลเมตร ยังอยู่ในวิถีกระสุนหากมีการปะทะเกิดขึ้น ประกอบกับหลุมหลบภัยที่มีอยู่ภายในโรงเรียนจำนวน 6 หลุม ก็มีสภาพเก่า ชำรุด ไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์สู้รบ เมื่อปี 2528 ทางโรงเรียนก็เคยใช้หลุมดังกล่าวหลบภัย ต่อมาหลังจากนั้นไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ทางโรงเรียนจึงได้ปรับสภาพพื้นที่เป็นสวนหย่อม และสวนจัดประสบการณ์อนุบาล และยังไม่ได้มีการปรับปรุงใหม่
“หลุมหลบภัยที่มีอยู่ 6 หลุม ไม่เพียงพอกับจำนวนครู และนักเรียนที่มีมากกว่า 260 คน จึงอยากเรียกร้องให้ทางจังหวัด อำเภอ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการก่อสร้างหลุมหลบภัยที่ได้มาตรฐาน และให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน โดยจะต้องสร้างเพิ่มอีก 6 หลุม ส่วนกระจกที่แตกเสียหายจากแรงอัดของกระสุนปืนใหญ่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดงบซ่อมแซม”นายพิทยา กล่าว