xs
xsm
sm
md
lg

"เหลิม"อ้างUNเข้าใจผิด"ฆ่าตัดตอน" ไฟเขียวยึดทรัพย์นักค้ายา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความเป็นห่วงนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าจะซ้ำรอยยุครัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า กรณีนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยืนยันแล้วว่า จะไม่ใช้วิธีการนอกกฏหมาย หรือแม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า อาจจะมีความผิดพลาดในการดำเนินการ และทำเกินเลยไป จึงเห็นว่าทุกคนควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในอดีต และคงหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อยู่ที่ฝ่ายนโยบายที่ต้องส่งสัญญาณให้ชัด เพราะครั้งที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการขึ้นดูข้อเท็จจริง และพูดถึงการส่งสัญญาณของผู้นำรัฐบาลหลายครั้ง ซึ่งเป็นที่มาของปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลได้ออกมายืนยันว่า จะไม่มีการใช้เรื่องนอกกฏหมาย แต่มีการกำหนดกรอบเวลาจะกวาดล้างให้เสร็จสิ้นอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในเวลา 1 ปี นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ต้องส่งสัญญาณให้ผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องติดตามต่อไป
ส่วนความกังวลของต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่รับรู้กันในต่างประเทศว่า มีปัญหา และเขาตั้งข้อสังเกตในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะต้องระมัดระวังอย่าให้ซ้ำรอย
ต่อข้อถามที่ว่าในอดีตที่ผ่านมา เมื่อยูเอ็นออกมากล่าวเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมากล่าวว่า ยูเอ็น ไม่ใช่พ่อ จะทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เห็นครั้งสุดท้ายที่ให้สัมภาษณ์ ก็ยอมรับว่ามีความผิดพลาด จึงคิดว่ารัฐบาลนี้ควรที่จะรับบทเรียนนี้ไปด้วย

**"เหลิม"ยันไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี ยูเอ็นแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการแก้ไขยาเสพติด โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฆ่าตัดตอน ว่า เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งอันที่จริงแล้วรัฐในสมัยนั้นไม่ได้มีการฆ่าตัดตอน และได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว คือ ชุดแรกที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และชุดสอง มี พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ อดีต รองผบ.ตร. เป็นประธาน ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมการทั้งสองได้ข้อสรุปว่า ไม่ได้มีการตัดตอนจากฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเพียงคดีเดียวคือ คดีที่ตำรวจ 3 นาย ซึ่งเป็นสายสืบสน.บางชัน ติดตามคนร้ายหลังจากจับยาบ้าจำนวน 6 พันเม็ด ซึ่งตำรวจได้ยิงสกัดรถคนร้าย จนไปถูกน้องฟลุค ซึ่งเป็นลูกของผู้ต้องหาจนเสียชีวิต โดยเรื่องนี้ก็ได้ดำเนินคดีในชั้นศาล และศาลก็ได้ตัดสินว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 2 ปี รอลงอาญา 1 ปี ปรับ 1 หมื่นบาท ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันว่า จะระมัดระวัง และกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระมัดระวังในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งข้อกังวลที่ยูเอ็นเป็นห่วง ทางรัฐบาลก็ต้องพึงระมัดระวัง
เมื่อถามว่าบทสรุปของคณะกรรมการชุดนายคณิต มีการระบุในเรื่องการส่งสัญญาณเชิงนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น อาจจะส่งผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ดำเนินการในทางที่ผิด ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่าไม่ถึงขนาดนั้น เพราะบางครั้งคำพูดที่ระบุว่า จะต้องเสร็จภายในกี่วันนั้นเป็นนโยบาย อย่างครั้งนี้ได้ระบุว่าจะต้องลดภายใน 1 ปี ซึ่งจะสามารถลดได้มากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่การดำเนินการ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ต้องหาในคดียาเสพติดมากกว่าจำนวนห้องขัง จึงจะส่งผู้ติดยาเสพติดไปบำบัดรักษา ซึ่งผู้ต้องขังชายจะส่งไปบำบัดรักษาที่โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง แต่ถ้าเป็นผู้ต้องขังหญิง จะส่งไปบำบัดรักษา ที่พลร่มหญิง โดยผู้ต้องขังทั้งหมด จะให้ฝ่ายทหารเป็นผู้ดูแล ซึ่งใช้วิธีบำบัดรักษาด้วยวิธี
1. บังคับบำบัด 2. สมัครใจบำบัด 3. กึ่งบังคับบำบัดกึ่งสมัครใจบำบัด ทั้งหมดนี้ต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาด เฉียบขาด ยึดนิติรัฐ นิติธรรม และ อยู่ภายใต้กฎหมาย

**ไฟเขียวปปง.ยึดทรัพย์นักค้ายาฯ

เมื่อเวลา 09.00 น วันเดียวกันนี้ ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ( ปปง. ) ให้สัมภาษณ์ กับผู้สื่อข่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ ได้เชิญตำรวจภูธรภาค 1 ได้มาร่วมกันบูรณาการในโครงการปราบปรามยาเสพติด ร่วมกับการนำเอามาตรการปราบปรามการฟอกเงิน มาใช้ในการปราบปรามยาเสพติด โดยมีข้าราชการตำรวจภูธรภาค 1 มาร่วมประชุม 300 คน
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการนำร่อง เป็นโครงการแรก ที่จะเน้นในเรื่องการยึดทรัพย์ เพราะเนื่องจากมาตราตามกฎหมายยาเสพติด ผูกติดกับกฎหมายคดีอาญา ส่วนมาตรการฟอกเงิน จะไม่ไปยึดติดกับกฎหมายอาญา แต่จะนำแนวทางต่างๆ ของกฎหมายการฟอกเงิน มายึดทรัพย์
สำหรับโครงการนี้ จะเป็นโครงการนำร่อง และต่อไปจะเชิญตำรวจทุกกองบัญชาการ และกองบังคับการมาร่วมในการประชุมครั้งที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ 2-3 ครั้ง และเดือนต่อไป
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญคือ การนำเอามาตรการการฟอกเงินมาใช้ โดยกำหนดไว้ในนโยบายของรัฐบาล และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้ (ปปง.) ผลักดันในเรื่องการฟอกเงินมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นมาตราการแก้ไข หรืออุดช่องว่างในกรณีที่เอากฎหมาย หรือเรื่องป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดมาใช้ และบางทีจุดหนึ่งอาจไปไม่ถึงกลุ่มนายทุน หรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังยาเสพติด แต่มาตราปราบปรามการฟอกเงินสามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่
ขณะนี้ทาง สำนักงาน ปปง. ก็มีความพร้อม อีกไม่กี่สัปดาห์จะมีการประชุมคณะกรรมการ ปปง. เพื่อตั้งคณะกรรมการธุรกรรม อีกหนึ่งท่าน ถ้าตั้งคณะกรรมการครบถ้วนแล้ว จะสามารถนำมาตรการยึดทรัพย์มาใช้ได้อย่างจริงจัง เพราะคณะกรรมการธุรกรรม จะทำหน้าที่ยึดอายัดทรัพย์สิน
" สถานการณ์การฟอกเงินในขณะนี้ ทางสำนักงาน ปปง. ยังไม่ได้นำเอามาตรการยึดทรัพย์มาใช้อย่างเต็มที่ แต่ทางสำนักงาน ปปง. ก็เตรียมความพร้อมในเรื่องของการฟอกเงิน แต่ตอนนี้ยังมีการขยายตัวอย่างมุมกว้าง เพราะเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเราไม่มีคณะกรรมการธุรกรรม จึงไม่สามารถเอามาตรการยึดทรัพย์มาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะเขายังสามารถใช้สถาบันการเงินเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด และเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถจะไปเปิดบัญชี และหลอกประชาชนให้โอนเงิน ก็แสดงว่ายังมีการแพร่ระบาด และยังมีการเกิดขึ้นอยู่ ตอนนี้ยังมีความรุนแรงในระดับหนึ่ง" พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
พ.ต.อ. สีหนาท กล่าวว่า การนำกฎหมายใหม่มาใช้ หรือกฎกระทรวงตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 3 ในเรื่องของการรายงานธุรกรรม การจัดให้ลูกค้าแสดงตน และกลุ่ม ให้ลูกค้าประกอบ 9 อาชีพ นั่นแสดงธุรกรรม แต่ขณะนี้มีคดีการฟอกเงิน 140 กว่าคดี เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรม มีทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมแล้ว ขณะนี้ได้ประสานงานกับประธานกรรมการ หรือรองประธาน เพื่อขอวาระในการจัดประชุมคณะกรรมการปปง. แต่งตั้งคณะกรรมการธุรการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกำหนดการเดิม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นประธานการเปิดงาน สัมมนาและบรรยาย เรื่อง "นโยบายและแนวทางในการบูรณาการการปฏิบัติตามกฎหมายฟอกเงิน" แต่ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ได้เดินทางมาตามกำหนดการ โดยทีมงานของ ปปง. แจ้งว่า ร.ต.อ.เฉลิม ติดประชุมอยู่ที่รัฐสภา เพื่อไปตอบกระทู้ของฝ่ายค้านจึงไม่สามารถเดินทางมาได้

**สกัดนำเข้า-ส่งออกสารตั้งต้น
วานนี้ (15ก.ย.) ที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการพัฒนายุทธศาสตร์งานสาธารณสุขระดับ อำเภอ ตำบล ประจำปี 2554 พร้อมมอบโล่รางวัลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสถานีอนามัยดีเด่น ระดับภาคและระดับเขต โดยมีสาธารณสุขอำเภอ นักวิชาการสาธารณสุข จากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมกว่า 5,000 คน
นายวิทยา กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่หลักบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และควบคุมสารตั้งต้นและ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ได้เร่งดำเนินการสนองนโยบายของนายกรัฐมนตรีให้เป็นรูปธรรม
ในส่วนของผู้ติดสารเสพติด มีสถาบันธัญญารักษ์ และโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟู ในปีที่ผ่านมามีผู้เสพสารเสพติดเข้ารับการบำบัด 114,074 ราย ร้อยละ 91 เป็นชาย โดยร้อยละ 74 เป็นผู้เสพรายใหม่ อาชีพรับจ้าง และว่างงาน
เมื่อแยกในกลุ่มผู้เสพยา พบว่าเป็นผู้เสพแต่ยังไม่ติด มีร้อยละ 61 เป็นผู้ติดร้อยละ 36 และเสพติดรุนแรงร้อยละ 3 ยาเสพติดที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ ยาบ้า รองลงมา กัญชา สารระเหย เฮโรอีน กระท่อม นอกจากนี้ในปี 2553 พบว่ามีคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากถึง 266,010 คดี โดยเยาวชนอายุ 20-24 ปี ถูกจับกุมมากที่สุด
นายวิทยา กล่าวว่า การควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ปฎิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้ง 3 ฉบับคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2504 , อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2514 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ายาเสพติดให้โทษ และวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย พ.ศ. 2531 เพื่อควบคุมปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด โดยเฉพาะยาที่มีสารที่เป็นสารตั้งต้นยาเสพติด เช่น อีเฟดรีน (ephedrine), ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine), อาเซติคแอนไฮไดรด์ (acetic anhydride) เป็นต้น ร้านขายยาห้ามจำหน่ายยาดังกล่าวโดยได้สั่งการให้ด่านอาหารและยา ที่มี 41 ด่านกระจายทั่วประเทศ เฝ้าระวัง สกัดกั้นการนำเข้า-ส่งออก ตามแนวชายแดนทุกด่านอย่างเข้มงวด
กำลังโหลดความคิดเห็น