xs
xsm
sm
md
lg

อีสานโพลเผยลูกจ้างอีสานยอมให้ทยอยปรับขึ้นค่าแรงหากไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพลเผยผลสำรวจเรื่อง “ค่าแรง 300 บาท กับ ลูกจ้างอีสาน” พบหากนโยบายนี้ไม่ได้ดำเนินการทันที ลูกจ้างส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 40 จะได้รับผลกระทบปานกลาง ร้อยละ21 ไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามกว่าร้อยละ 54 เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงเพื่อแลกกับผลกระทบที่ไม่เกิดกับตัวแรงงานเอง

อาจารย์ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยผลสำรวจในประเด็น “ค่าแรง 300 บาทกับลูกจ้างอีสาน” จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างลูกจ้างรายวันจำนวน 400 รายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นระหว่างวันที่ 20-23 ก.ย.ที่ผ่านมาพบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ร้อยละ 39.7 ตอบว่าจะได้รับผลกระทบระดับปานกลางจากนโยบายดังกล่าวหากรัฐบาลไม่ดำเนินการในทันที รองลงมาร้อยละ 21.2 บอกว่าไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนร้อยละ 20 ระบุว่าจะได้รับผลกระทบมาก และร้อยละ 13 บอกว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 6 ได้รับผลกระทบน้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความเห็นว่าหากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน มีการดำเนินการในทันทีแล้วเกิดผลกระทบในด้านต่างๆ ลูกจ้างจะเห็นด้วยหรือไม่ พบว่า 1.หากส่งผลกระทบต่อสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับ ร้อยละ 65.5 ไม่เห็นด้วย 2.หากส่งผลให้นายจ้างลดจำนวนแรงงาน ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 ไม่เห็นด้วย 3.หากส่งผลให้ชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.9 ไม่เห็นด้วย และ 4.หากค่าแรงเพิ่มแล้วส่งผลให้ราคาสินค้าทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตาม ร้อยละ 40.9 ไม่เห็นด้วย

สำหรับอัตราค่าแรงที่ลูกจ้างรายวันได้รับในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 180 บาท/วัน ร้อยละ 37.7 รองลงมาได้ค่าแรง 180-199 บาท/วัน ร้อยละ 28.1 ได้ค่าแรง 250 บาทขึ้นไป/วัน ร้อยละ 20.0 และได้แรง 200-249 บาท/วัน ร้อยละ 14.2

เมื่อสำรวจความคิดเห็นในส่วนของรูปแบบและระยะเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ร้อยละ 54.8 เห็นด้วยกับวิธีการทยอยขึ้นค่าแรง หากการทยอยขึ้นค่าแรงจะไม่ส่งกระทบกับตัวแรงงาน และอีกร้อยละ 45.2 ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีทยอยปรับขึ้น
ทั้งนี้

ในส่วนของลูกจ้างที่เห็นด้วยกับการทยอยปรับขึ้นค่าแรงนั้น ได้เสนอความเห็นในเรื่องรูปแบบและระยะเวลาในการปรับขึ้นว่า อัตราที่ควรปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือระหว่าง 50-99 บาท มากที่สุด ร้อยละ 42.3 รองลงมาควรปรับขึ้นในอัตราไม่เกิน 50 บาท ร้อยละ 38.9 และปรับขึ้นในอัตรา 100 บาทขึ้นไป ร้อยละ 18.8

ระยะเวลาในการปรับขึ้น ลูกจ้างเห็นว่าควรดำเนินการภายในระยะเวลา 1-3 เดือน มากที่สุดร้อยละ 87.1 รองลงมาควรดำเนินการภายใน 4-6 เดือน ร้อยละ 12.5 และภายใน 10-12 เดือน ร้อยละ 0.4 หากนายจ้างมีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ลูกจ้างร้อยละ 26.1 มองว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้จ่ายเป็นค่าอาหารได้เพิ่มขึ้น

รองลงมาร้อยละ 23.8 จะใช้เก็บเป็นเงินออม ร้อยละ 20.3 จะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรหลาน อีกร้อยละ 17.0 จะนำไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคทั่วไป และเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ร้อยละ 12.8

ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ลูกจ้างรายวันต้องการเป็นลำดับแรก ได้แก่ มาตรการเรื่องค่าแรง มากที่สุด ร้อยละ 37.0 รองลงมา การควบคุมราคาสินค้าร้อยละ 35.0 การปราบยาเสพติด ร้อยละ 12.8 การป้องกันน้ำท่วมและจัดการน้ำ และอื่นๆ ตามลำดับ

อาจารย์ประเสริฐกล่าวว่านโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน เป็นมาตรการที่ละเอียดอ่อนทั้งในแง่เศรษฐกิจและความรู้สึกของทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและลูกจ้าง ทั้งสองฝ่ายควรมีการหารือเรื่องนี้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และมีทางออกที่น่าพึงพอใจทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงเริ่มปรับตัวก่อนการใช้นโยบายจริง

นอกจากนั้น ในส่วนของรัฐบาลเองก็ควรศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปอย่างรอบคอบ กล้าตัดสินใจดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม และเตรียมมาตรการช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดอีกด้วย

ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจทั้งหมด 400 ราย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในโรงงาน จำนวน 232 ราย (ร้อยละ 60.7) ลูกจ้างทั่วไป จำนวน 124 ราย (ร้อยละ 32.5) โดยแบ่งเป็นลูกจ้างภาคการค้าร้อยละ 59.3 และภาคบริการร้อยละ 40.7 รับเหมาก่อสร้างจำนวน 24 ราย (ร้อยละ 6.3) และอื่นๆ จำนวน 2 ราย (ร้อยละ 0.5)

ส่วนสวัสดิการที่เคยได้รับจากนายจ้าง ส่วนใหญ่เป็นประกันสังคม ร้อยละ 31.8 รองลงมาได้แก่ เสื้อผ้า ร้อยละ 21.0 รถรับ-ส่ง ร้อยละ 15.3 ค่าล่วงเวลา ร้อยละ 15.0 อาหาร 7.8 และอื่นๆ ร้อยละ 9.0
กำลังโหลดความคิดเห็น