xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนฟื้นฟูฯสาขา ชร.อบรมเกษตรกร “ปรับวิธีคิดพิชิตความยากจน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนฟื้นฟูฯสาขาชร.อบรมเกษตรกร “ปรับวิธีคิดพิชิตความยากจน”
เชียงราย - สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย นำเกษตรกรสมาชิกองทุนฯเข้ารับการฝึกอบรม “ปรับวิธีคิดพิชิตความยากจน” เผยมีเกษตรกรเข้ารับการอบรมแล้วกว่า 3 พันรายและมีการปรับวิถีชีวิตใช้วิถีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน

นายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขา จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ให้เกษตรกรปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร กับ 4 สถาบันการเงินของรัฐ คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยพักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดไว้ก่อน โดยให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้เงินต้นที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามงวดและระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี เงินต้นและดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการลดหนี้ให้ทั้งหมดนั้น

โดยเมื่อเกษตรกรลูกหนี้ได้ชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้วได้มอบหมายให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ประสานงานระหว่างสถาบันเจ้าหนี้ กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ และให้ดำเนินการนำเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อปรับความคิดและพฤติกรรมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ฯตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น

ในส่วนของ จ.เชียงราย ได้ดำเนินการนำเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เข้ารับการฝึกอบรมตามหลักสูตร "ปรับวิธีคิดพิชิตความยากจน" ในหน่วยฝึกอบรมของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 8 หน่วยฝึกอบรม ประกอบไปด้วย 1.ศูนย์เรียนรู้ครูเกษตรกรบ้านสันทราย 2.ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงตามแนวพระราชดำริ 3.ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนเชียงราย 4.ศูนย์ฝึกอบรมเกษตรกรเครือข่ายสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 5.ศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง อ.เวียงชัย 6.ศูนย์ฝึกอบรมสหกรณ์การเกษตรแม่จัน จำกัด 7.ศูนย์ธรรมชาติม่อนแสงดาว สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อม (เอเสด) 8.ศูนย์ฝึกอบรมวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย

"ที่ผ่านมามีเกษตรกรที่สำเร็จการอบรมแล้วจำนวน 3,475 ราย ใช้ระยะเวลาในการอบรม 2 คืน 3 วัน ซึ่งเกษตรกรที่สำเร็จการฝึกอบรมแล้วสามารถเสนอโครงการฟื้นฟูอาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม เพื่อพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”นายนิยมกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่าที่ผ่ามาพื้นที่ จ.เชียงราย ถือเป็นพื้นที่หลักในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เพราะได้กู้เงินมาประกอบการโดยหลายโครงการนำไปดำเนินการตามโครงการของรัฐแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงไม่สามารถชำระหนี้ได้กว่า 180,000-200,000 คน โดยมีหนี้สินรวมกันไม่ต่ำกว่า 120 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสหกรณ์ต่างๆ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยมีเกษตรกรจำนวนมากที่เป็นหนี้มากถึงประมาณ 300,000-400,000 บาท จนทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องมานานกว่า 10 ปีกระทั่งเกิดกองทุนฟื้นฟูฯ และมีมาตรการช่วยเหลือจนถึงปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น