xs
xsm
sm
md
lg

โมเดลฟีเวอร์ พะเยาเสนอ “ดอกคำใต้โมเดล” ต้นแบบกันน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเมธ  แสงนิ่มนวล  ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเขตตรวจราชการที่ 2 และ 12
พะเยา - จังหวัดพะเยาเสนอ “ดอกคำใต้โมเดล” ต้นแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองพะเยา หลังจากเปิดเวทีรับฟังปัญหาจากประชาชนพบว่า อ.ดอกคำใต้ เป็นอำเภอที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเป็นพื้นที่ ที่รับน้ำจากหลายทาง การแก้ไขต้องแก้ไขในภาพรวม ขณะที่ชลประทานพะเยา เผยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำในจังหวัดล่าสุดเริ่มวิกฤต แทบทุกอ่างมีปริมาณน้ำเกินกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยกว๊านพะเยามีปริมาณน้ำถึง 145 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำที่จุได้

วันนี้ (21 ก.ย.) ที่ห้องประชุมศูนย์บัญชาการ ศาลากลางจังหวัดพะเยา นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 2 และ 12 ได้ประชุมร่วมกับนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยนายชนะ แพ่งพิบูลย์ ปลัดจังหวัดฯ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพะเยา เพื่อติดตามการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย รวมถึงการติดตามการให้ความช่วยเหลือ ผู้ปะสบอุทกภัย 5,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ จ.พะเยา

โดยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เขตตรวจราชการที่ 2 และ 12 กล่าวว่า จังหวัดพะเยา ไม่เข้าเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล เนื่องจากจังหวัดพะเยา ไม่มีพื้นที่ใดประสบอุทกภัยที่เข้าเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือดังกล่าว จึงขอให้จังหวัดเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดพะเยา ก่อนหน้านี้ ได้ใช้งบทดรองราชการ 50 ล้านบาทในอำนาจผู้ว่าฯ และขอสนับสนุนจากส่วนราชการต้นสังกัดไปไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาทไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติจากต้นสังกัด

ทั้งนี้ จังหวัดพะเยาได้เสนอพื้นที่ต้นแบบการป้องกัน และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดพะเยา โดยใช้พื้นที่ อ.ดอกคำใต้ เป็นพื้นที่ต้นแบบ หรือ “ดอกคำใต้โมเดล” โดยสภาพพื้นที่ อ.ดอกคำใต้เป็นพื้นที่ลุ่ม มีแม่น้ำหลายสายไหลเข้าสู่ตัวอำเภอ รวมถึงน้ำจากกว๊านพะเยา และ จ.เชียงราย ส่งผลให้ทุกปีที่ผ่านมาอ.ดอกคำใต้ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง

นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ นายช่างชลประทานอาวุโสหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นชอบกำหนดให้ อ.ดอกคำใต้เป็นพื้นที่ต้นแบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามนโยบายรัฐบาล

โดยล่าสุดได้มีการลงพื้นที่ไปรับฟังความคิดเห็น รวมถึงรับทราบปัญหา และร่วมวางแผนกับประชาชนในพื้นที่ และพบว่า อ.ดอกคำใต้ มักประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และจากการศึกษาทิศทางการเดินทางของน้ำพบว่า มีแม่น้ำหลายสายไหลเข้าสู่ตัวอำเภอ รวมถึงน้ำจากกว๊านพะเยา และจาก จ.เชียงรายด้วย

ส่วนปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมประกอบด้วย ฝนตกหนัก, ลักษณะการตกของฝน ที่มีลักษณะขนานกับลำน้ำ, การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ, การเกิดใหม่ของชุมชน, สิ่งก่อสร้างขวางทางเดินน้ำ , การบุกรุกทางน้ำ และการบริหารจัดการ ส่งผลให้ อ.ดอกคำใต้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะโซนลุ่มน้ำอิง ที่กินพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200,000 ไร่

นายเจนศักดิ์กล่าวอีกว่า “ดอกคำใต้โมเดล” ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากรับน้ำจากหลายพื้นที่ การแก้ไขต้องแก้ไขในภาพรวมทั้งหมด หลายหน่วยงานต้องบูรณาการทำงาน จึงจะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ จังหวัดพะเยาได้สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามแนวทางแก้ไขปัญหาของ “ดอกคำใต้โมเดล” ประกอบด้วย การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ, การปลูกป่า, ทำแก้มลิง, การเพิ่มจำนวนแหล่งน้ำ, การบริหารจัดการ, การระบายน้ำ และการเฝ้าระวังและเตือนภัย

ล่าสุด โครงการชลประทานพะเยาเปิดเผยว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในจังหวัดพะเยา มีปริมาณน้ำสูงมาก คือสูงจนเกินกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เช่น กว๊านพะเยาปริมาณน้ำถึง 145 เปอร์เซ็นต์, อ่างเก็บน้ำแม่ปืม 102 เปอร์เซ็นต์, อ่างเก็บน้ำแม่ต๋ำ 101 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงอ่างเก็บน้ำอีกกว่า 23 แห่งทั่วจังหวัด เกินร้อยเปอร์เซ็นต์แทบทั้งหมด และหากระยะนี้มีฝนตกลงมามาก ก็อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดพะเยา เป็นบริเวณกว้างได้ โดยเรื่องนี้ทางจังหวัด ยืนยันว่าจังหวัดรวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง มีความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่

สำหรับการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ทางจังหวัดพะเยาเสนอมานั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยจะได้นำเสนอรัฐบาลต่อไป
นายสุเมธ  แสงนิ่มนวล  ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเขตตรวจราชการที่ 2 และ 12
กำลังโหลดความคิดเห็น