xs
xsm
sm
md
lg

ทม.-ตัวแทนชุมชนน่าน ยกสถิติ 48 ปี ยัน “เขื่อนธงน้อย” ทำน้ำท่วมน่านนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชุมพล ฐิตยารักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะ ร่วมประชุมกับนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน และตัวแทนชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่าน เกี่ยวกับสภาพปัญหาจากเขื่อนฝายธงน้อย ในลำน้ำน่าน ที่ภาคประชาชนเห็นว่า เป็นต้นเหตุทำให้น้ำน่านตัวเมืองน่านนานกว่าปกติ
น่าน - ตัวแทนเทศบาล-ชุมชนน่าน ยันเขื่อนฝายธงน้อย ทำน้ำท่วมเมืองน่านนานกว่าปกติ พร้อมยกสถิติย้อนหลัง 48 ปียันกลางวงประชุมร่วมผู้ตรวจฯกระทรวงพลังงาน เตรียมศึกษาทั้งระบบแก้ปัญหาน้ำท่วม ก่อนชงเรื่องถึงรัฐบาลแก้ไขเร่งด่วน

วันนี้ (8 ก.ย.) นายชุมพล ฐิตยารักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะซึ่งประกอบด้วย ฝ่ายสำนักวิชาการพลังงานภาค 9, นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ, นายช่างเทคนิคชำนาญงานและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพลังงานจังหวัดน่าน และ นายสัมฤทธิ์ เหมะ หน.โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำลุ่มน้ำน่านตอนบน ได้ประชุมร่วมกับ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วยตัวแทนจากชุมชนหน้าเขื่อนและท้ายเขื่อนฝายธงน้อย ซึ่งตั้งขวางอยู่กลางแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านคอวัง ต.กองควาย อ.เมืองน่าน และได้รับผลกระทบภัยน้ำท่วม ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองน่าน

ทั้งนี้ เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและปัญหาผลกระทบที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเขื่อนธงน้อย มีส่วนทำให้น้ำลดระดับลงช้า และท่วมขังนานกว่าปกติในเขตพื้นที่อำเภอเมืองน่าน-ชุมชนเขตเทศบาลเมืองน่าน

การประชุมต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียด ซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยกหลักวิชาการ ทั้งทางด้านหลักวิศวกรรม อุทกศาสตร์ สถิติปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน ย้อนหลังไปถึง 48 ปี คือตั้งแต่ปี 2506-2554 รวมถึงสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปจากการบุกรุกทำลายป่า และการเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดน่าน เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาที่แท้จริง

ท้ายที่สุด ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ได้รับว่า จะนำข้อปัญหาและข้อสังเกตทั้งหมดทุกด้านทุกประเด็นจากชาวจังหวัดน่านที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนธงน้อย นำมาศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วนที่สุด

นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาบริเวณตัวเขื่อนธงน้อย ซึ่งสร้างขวางทางน้ำในแม่น้ำน่านไว้ และมีประตูระบายน้ำเพียง 5 ประตู ทำให้เกิดลักษณะเหมือนคอขวด น้ำจึงระบายลงสู่ทางทิศใต้ได้ช้า ประกอบกับปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำในแม่น้ำน่าน มีปริมาณมากในช่วงหน้าน้ำ จะยิ่งส่งผลต่อการไหลระบายของน้ำ จำเป็นจะต้องหาทางขยายเส้นทางน้ำ โดยเสนอว่าอาจมีการทำ Spill Way หรือรางน้ำสายรอง คู่กับแม่น้ำน่านซึ่งเป็นทางระบายน้ำสายหลัก ในช่วงจุดที่แคบและน้ำเอ่อท่วมพื้นที่ของชุมชน เพื่อให้การไหลระบายของน้ำได้ดียิ่งขึ้น

ด้าน นายชุมพล ฐิตยารักษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จะเร่งนำข้อเท็จจริงทั้งหมดที่มีการหารือกัน ไปศึกษาทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงแต่ตัวเขื่อนฝายธงน้อยเท่านั้น จะต้องมีการศึกษาในส่วนของสะพาน และการไหลระบายของน้ำในแม่น้ำน่าน เช่น จุดใดชะลอน้ำ จุดใดขวางทางน้ำ ควบคู่ไปด้วย แต่การทำงานต้องร่วมกันหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ โดยจะต้องทำงานคู่ขนานกับทางจังหวัดน่าน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและงบประมาณ จึงจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล เพื่อเตรียมด้านงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมของจังหวัดน่านต่อไป

จากนั้นคณะได้เดินทางไปตรวจสภาพน้ำ และเขื่อนธงน้อย เพื่อดูสภาพปัญหาที่แท้จริง และจะได้นำข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำไปศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน หยิบยกข้อมูลสถิติปริมาณน้ำน่านย้อนหลัง 48 ปี ขึ้นยืนยันต่อผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน และคณะ

กำลังโหลดความคิดเห็น