น่าน - จังหวัดน่านทำเรื่องเร่งด่วนของบช่วยเหลือน้ำท่วมเพิ่มหลังวงเงิน 50 ล้านบาทหมดเกลี้ยงแล้ว ขณะที่กรรมาธิการงบประมาณวุฒิสภา ตรวจสภาพฝายธงน้อย ทำน้ำท่วมเมืองน่าน 2 ครั้งใหญ่
พ.ต.อ.สนธยา แสงเภา รองประธานคณะกรรมาธิการบริหารงบประมาณวุฒิสภา นำคณะอนุกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบและติดตามการบริหารงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ลงพื้นที่ตรวจความเสียหายจากน้ำท่วมจังหวัดน่าน ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือประชาชนขาดงบประมาณ เนื่องจากงบ 50 ล้านบาทที่สำรองไว้มีไม่เพียงพอ และได้ใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือน้ำท่วมหมดลงแล้วจึงได้นำหนังสือจากทางจังหวัดที่ร้องขอไปยังรัฐบาลให้ช่วยเหลือ เพื่อกระตุ้นนำเงินลงมาช่วยเหลือโดยเร็ว
พร้อมกันนั้นคณะ พ.ต.อ.สนธยา ยังได้ลงตรวจสภาพฝายธงน้อย บ้านคอวัง ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน หลังได้รับการร้องเรียนจากชาวจังหวัดน่านและชาวบ้านใกล้ตัวฝายว่าอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่จังหวัดน่านทั้ง 2 ครั้ง คือปี 2549 และที่ผ่านมาล่าสุด 26 มิ.ย.54
โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า ฝายธงน้อยที่บ้านคอวัง ต.ดู่ใต้ มีส่วนทำให้น้ำลดลงช้าและท่วมขังนานกว่าปกติ ซึ่งที่ผ่านมาจังหวัดน่าน ไม่เคยเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่หรือเข้าท่วมเขตเทศบาลย่านถนนเศรษฐกิจ แต่หลังจากมีการเปิดใช้เขื่อนธงน้อยอย่างเป็นทางการในปี 2548 ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ในปี 2549 และเกิดในลักษณะเช่นนี้มาโดยตลอด
ชาวบ้านแจ้งว่า ฝายธงน้อยที่บ้านคอวัง ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน ได้ก่อสร้างขวางทางน้ำ ทำให้น้ำในแม่น้ำน่านระบายลงทิศใต้ได้ช้า เนื่องจากว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านมีจำนวนมากซึ่งรับน้ำมาจากอำเภอทางสายเหนือทั้งหมดและจะไหลลงสู่ทางทิศใต้ ไปทางอำเภอเวียงสา ซึ่งจะต้องผ่านฝายธงน้อย คล้ายกับรถที่วิ่งอยู่หลายสิบเลน แต่เมื่อถึงจุดฝาย ซึ่งเหมือนกำแพงขวางกั้นไว้ และมีเพียงประตูระบายน้ำ 5 ประตู ก็เป็นเหมือนการลดช่องจราจรของน้ำ ให้เหลือน้อยลง ลักษณะเหมือนเข้าคอขวด ทำให้น้ำระบายได้ช้า จึงเป็นไปได้ว่าฝายธงน้อย มีส่วนในการทำให้เกิดน้ำลดระดับได้ช้า และท่วมขังนานกว่าปกติ
ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่หน้าฝาย นายบันลือ อินต๊ะไชย กล่าวว่า ช่วงหน้าฝนทุกปีหลังจากสร้างฝายเสร็จแล้ว ชาวบ้านต้องหวาดผวาตลอดเวลา เกรงน้ำจะท่วมบ้านและตลิ่งใกล้หลังบ้านที่ติดกับแม่น้ำน่านก็พังลงตลอดจนใกล้จะถึงตัวบ้าน ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากฝายกั้นน้ำไว้จนน้ำเอ่อเซาะตลิ่งพัง จึงวอนหาทางแก้ไขโดยด่วน
พ.ต.อ.สนธยากล่าวว่า จากการตรวจสภาพตัวเขื่อนและใกล้เคียง มีลักษณะทางเดินของน้ำเหมือนคอขวด เมื่อมาถึงใกล้ตัวเขื่อนอาจจะเป็นสาเหตุทำให้น้ำไหลช้า จนเกิดน้ำท่วมก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตามจะได้นำข้อมูลและข้อร้องเรียนไปให้ประธานวุฒิสภา เพื่อปรึกษาและเสนอแนะรัฐบาล
ด้าน นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยในชั้นต้นอาจต้องเวนคืนที่ดิน ด้านข้างตัวฝายเพื่อสร้างสปริงเวย์ หรือทางระบายน้ำทั้งสองข้าง เนื่องจากขณะนี้ด้านข้างประตูระบายน้ำทั้ง 5 ประตูมีกำแพงคอนกรีตกั้นสูง ทำให้น้ำไม่สามารถระบายได้ แต่หากทำสปริงเวย์เพื่อให้ระดับน้ำที่สูง 7.20 เมตร ระบายได้ทัน ก็อาจจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะต้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมาศึกษาให้ละเอียดในหลายประเด็นต่อไป
สำหรับโครงการฝายธงน้อย ก่อสร้างเมื่อปี 2544 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี 2548 เป็นโครงการองค์ประกอบของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำลุ่มน้ำน่านตอนบน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 400 ล้านบาท โดยฝายธงน้อยได้สร้างขวางทางแม่น้ำน่าน บริเวณบ้านคอวัง ต.กองควาย อ.เมืองน่าน