ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ประธานหอการค้าเชียงใหม่ แนะต้องเร่งสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจ Long Stay ชี้ ช่วยสร้างรายได้มหาศาล พบปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นเข้ามาพำนักระยะยาวในเชียงใหม่ราว 3,000 คน ใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 3 แสน/ปี หากผลักดันจนเพิ่มเป็น 1 หมื่นคน จะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเท่าผลิตลำไยทั้งปี ด้านที่ปรึกษากลุ่มชาวญี่ปุ่น ระบุ เชียงใหม่เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมสูง เพราะตอบสนองความต้องการได้ค่อนข้างครบถ้วน แต่แนะควรมีการขยายอายุวีซ่าให้มากกว่าปัจจุบันที่อนุญาตเพียง 1 ปี
วันนี้ (14 ก.ย.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ที่ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดการสัมมนาเรื่อง “การพัฒนาสร้างศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจ Long Stay” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพ Long Stay กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ประจำปีงบประมาณ 2554 มีผู้ประกอบการ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เข้าร่วม ที่โรงแรมแคทารีฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่
การจัดการสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฐานข้อมูล Long Stay ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณากำหนดแนวนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการใช้เป็นปัจจัยในการพิจารณาการลงทุน การตลาด การวางแผนระยะยาวของนักลงทุนภาคเอกชนและผู้สนใจทั่วไป เพื่อพัฒนาบุคลากรภาคการท่องเที่ยวให้มีความเข้าใจและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว
นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ธุรกิจ Long Stay เป็นธุรกิจสำคัญที่สามารถสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล โดยจังหวัดเชียงใหม่นับเป็นจังหวัดลำดับต้นๆ ของประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาตินิยมเลือกที่จะเข้ามาพำนัก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หรือ Long Stay โดยที่ธุรกิจ Long Stay ถือเป็นจุดแข็งของภาคเหนือตอนบน เพราะเป็นเมืองน่าอยู่ มีความปลอดภัย ไม่แออัด อากาศดี ค่าครองชีพไม่สูง ระบบการแพทย์ดีมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่าเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีกลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาวอยู่จำนวนประมาณ 3,000 คน มีค่าใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยปีละ 3 แสนบาท โดยที่ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองจนกระทบกับการท่องเที่ยว แต่ปรากฏว่าตลาดผู้พำนักระยะยาวกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบเลย
ดังนั้น จึงเชื่อว่า หากมีการผลักดันอย่างจริงจังจนมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นคน จะทำให้จังหวัดเชียงใหม่มีรายได้เฉพาะจากตลาดกลุ่มนี้สูงถึงปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ที่ได้จากการผลิตลำไยทั้งปี และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการพึ่งพาตลาดการท่องเที่ยวปกติแต่เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ยังมีอุปสรรคและจุดอ่อนในการทำตลาด Long Stay อยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาษาและการสื่อสาร การขอวีซ่าที่มีอายุเพียง 1 ปี ระบบการขนส่งสาธารณะ ข้อจำกัดในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่เคยมีสินค้าที่ตลอดสนองตลาดนี้อย่างจริงจัง ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเร่งจัดทำแผนแม่บทด้าน Long Stay ขึ้นมารองรับและแก้ไขปัญหาอุปสรรคดังกล่าว
ด้านนายยาซูโอะ โตมิทานิ ที่ปรึกษาชมรมเชียงใหม่ลองสเตย์ ไลฟ์ (Chiang Mai Long Stay Life Club หรือ CLL) ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่เกษียณแล้วนิยมที่จะเข้ามาพำนักระยะยาวอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่มาก เพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองความต้องการได้ค่อนข้างครบ ทั้งทางด้านการแพทย์ ที่พัก แหล่งจับจ่ายซื้อสินค้า และอาหาร รวมมีค่าครองชีพไม่สูงนัก และมีความปลอดภัยดีเมื่อเปรียบเทียบในอีกหลายประเทศที่ชาวญี่ปุ่นนิยมไปพำนักระยะยาวเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หากจะมีการปรับปรุงบ้างน่าจะเป็นในเรื่องของอาหารการกินที่ปลอดภัย หรือระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ รวมทั้งการต่ออายุวีซ่าสำหรับชาวญี่ปุ่นที่น่าจะมีการขยายเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ปี เพื่อความสะดวกที่จะได้ไม่ต้องไปติดต่อหน่วยงานเพื่อขอต่ออายุวีซ่าบ่อยๆ
สำหรับรูปแบบของที่พักของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาวในจังหวัดเชียงใหม่ หากเป็นผู้ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ในช่วงแรกมักจะพักอาศัยในคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ทเม้น แต่เมื่ออยู่ไปสักระยะหนึ่งจนมีความคุ้นเคยมากขึ้นก็จะหาบ้านพักแล้วย้ายเข้าไปอยู่มากกว่า โดยทำเลที่ตั้งของบ้านพักจะอยู่ไม่ไกลตัวเมืองมากนัก เพื่อให้สามารถเข้าสู่บริการต่างๆ ได้สะดวก
ส่วนแนวความคิดให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านสำหรับชาวญี่ปุ่น ที่เข้ามาพำนักระยะยาวโดยเฉพาะนั้น นายยาซูโอะ เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นและไม่น่าจะตรงกับกับความต้องการของชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาพำนักระยะยาว เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องการความสันโดษและความเป็นส่วนตัวสูง ซึ่งการนัดพบปะหรือทำกิจกรรมร่วมกันเป็นครั้งคราวก็เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาชมรมเชียงใหม่ลองสเตย์ ไลฟ์ กล่าวด้วยว่า แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาทางด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวญี่ปุ่นที่ต้องการจะเข้ามาพำนักระยาวในจังหวัดเชียงใหม่หรือประเทศไทยแต่อย่างใด ตราบใดที่ทุกภาคส่วนยังคงทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่ เพราะมองว่าตราบใดที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนไทยก็ย่อมจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนญี่ปุ่นด้วยเช่นเดียวกัน