xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกฟ้อง “ส.ต.อ.” ผู้ต้องหาคดีฆ่า “ส.จ.สุภกิจ แป้นเขียว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ต.อ.มงคล ทองยิ้ม
กาญจนบุรี - ศาลฎีกายกฟ้อง “ส.ต.อ.มงคล ทองยิ้ม” ผู้ต้องหาคดีฆ่า “ส.จ.สุภกิจ แป้นเขียว” ส.อบจ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

จากกรณีเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2546 นายสุภกิจ แป้นเขียว ส.อบจ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ได้ถูกกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธยิงเสียชีวิต เหตุเกิดที่บนถนนสายเลาขวัญ-กาญจนบุรี อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามจับกุมคนร้ายได้และส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ซึ่ง ส.ต.อ.มงคล ทองยิ้ม จำเลยที่ 2 ได้ยื่นขอต่อสู้ในชั้นศาลฎีกา

จนวันนี้ (7 ก.ย.) ศาลฎีกาได้นัดอ่านคำพิพากษา และเมื่อเวลา 09.30 น.ศาลฎีกาได้นัด คู่ความคดีหมายเลขดำ ที่ 4691/2546 หมายเลขแดง ที่ 3005/2549 ที่นางมยุรี แป้นเขียว เป็นโจทก์ฟ้อง ส.ต.อ.มงคล ทองยิ้ม อายุ 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1 ม.4 ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี จำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้เดินทางฟังคำพิพากษา

โดยผู้พิพากษาได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ว่า จากการที่จำเลยที่ 2 ได้ยื่นฎีกาว่า ที่ให้การเช่นนั้น เกิดจากการชี้นำของเจ้าพนักงานตำรวจ โดยบอกว่าจะกันจำเลยที่ 2 ไว้เป็นพยานอันเป็นการนำสืบว่าโจทก์และโจทก์ร่วมได้พยานหลักฐานชิ้นนี้ด้วยการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ไม่เป็นการให้การด้วยความสมัครใจรับฟังไม่ได้ แต่แม้จะรับฟังได้หรือไม่บันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.31 ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า มีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อยเช่นกัน

ส่วนที่ ร้อยตำรวจเอก เพทาย จันทรไพร พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความถึงการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อนและในวันเกิดเหตุเป็นจำนวนหลายครั้ง ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.3 (ศาลจังหวัดนครปฐม) นั้น ร้อยตำรวจเอก เพทาย ได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยที่ 2 และที่ 4 ว่า คงทราบแต่เพียงว่ามีการใช้เครื่องโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวติดต่อกัน แต่จะติดต่อกันเรื่องอะไรบ้างไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการไม่แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้โทรศัพท์และติดต่อเรื่องการกระทำผิดคดีนี้หรือไม่

ฉะนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยงข้องเชื่อมโยงอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะเป็นข้อเท็จจริงแวดล้อมที่ทำให้น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดด้วยแล้ว พยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมเท่าที่นำสืบมาจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่เพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง กรณีนับว่ายังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาอย่างไรก็ดี

เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์ และโจทก์ร่วมแล้ว เห็นว่า ยังมีข้อสงสัยตามสมควร ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย เพราะเป็นข้อจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2


กำลังโหลดความคิดเห็น