xs
xsm
sm
md
lg

เสนอทางออกระดมความเห็นสร้างกระเช้าภูกระดึง-หัวหน้าอุทยานฯแนะต้องศึกษาข้อมูลใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวที “คิดอย่างไรกับกระเช้าฯ ทำไมต้องภูกระดึง” ณ หอประชุมชั้น 2 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
เลย -เสวนา “คิดอย่างไรกับกระเช้าฯ ทำไมต้องภูกระดึง” ภาคเอกชนสนับสนุนเต็มที่ มั่นใจเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เปิดตลาดท่องเที่ยวกลุ่มใหม่เข้าถึงภูกระดึงได้สะดวก ขณะที่รองพ่อเมืองเลย ย้ำมองประโยชน์คนในชาติเป็นหลัก ชูระดมความคิดเห็นทั้งฝ่ายหนุน/ต้าน ด้านเอ็นจีโอ หวั่นกระเช้าไฟฟ้าฯ ทำลายเสน่ห์ภูกระดึง ขณะที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เสนอทางออกศึกษาข้อมูลในทุกมิติ ก่อนตัดสินใจจะสร้างหรือไม่

วันนี้ (2 ก.ย.) กลุ่มสื่อเสรีเลย จัดเสวนาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงในหัวข้อ “คิดอย่างไรกับกระเช้าฯ ทำไมต้องภูกระดึง” มีนายชัยภัทร หิรัณยเลขา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ร่วมเสวนาในประเด็นดังกล่าว ณ หอประชุมชั้น 2 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย

การเสวนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายสนับสนุนสร้างกระเข้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง และฝ่ายคัดค้าน เข้ามาร่วมรับฟังเสวนาในห้องประชุมดังกล่าวจำนวนมาก จนล้นห้องประชุม

ผู้เข้าฟังการเสวนาต่างเขียนป้ายข้อความทั้งสนับสนุนการสร้างกระเช้าไฟฟ้า และข้อความคัดค้านการสร้างกระเช้า แสดงในห้องประชุม ซึ่งเนื้อหาสาระที่ได้จากเวทีเสวนาครั้งนี้ จะถูกสรุป นำเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดทิศทางของโครงการฯในอนาคตต่อไป

นายชัยภัทร หิรัณยเลขา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จะสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงหรือไม่นั้น อยากให้มองประโยชน์ของคนในชาติเป็นหลัก นำวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ให้โอกาสกับคนทุกกลุ่มได้แสดงความคิดเห็น ไม่เอาประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสินใจ ซึ่งมีโครงการสำคัญที่เกิดความขัดแย้งมาก เช่น การสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล ที่จ.ปราจีนบุรี แต่เมื่อสร้างแล้ว สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และเกษตรกรทำนาได้ถึงปีละ 4 ครั้ง

การสร้างกระเช้าไฟฟ้าจะให้ความสำคัญกับการระดมความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มาแยกแยะว่า มีผู้เห็นด้วยสร้างกระเช้าไฟฟ้าเท่าใด มีผู้คัดค้านเท่าใด ซึ่งกลุ่มคนชรา เด็ก กลุ่มคนป่วย มีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงภูกระดึง คาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรต่อกระบวนการระดมความคิดเห็น

นายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการค้ากลุ่ม 4 จังหวัดอีสานตอนบน (เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี) แสดงความคิดเห็นว่า หอการค้า 4 จังหวัดอีสานตอนบนสนับสนุนการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง โดยได้ผลักดันให้หอการค้าไทยสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้บริหารจัดการ จะเกิดประโยชน์สร้างโอกาสให้กลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ทั้งคนชรา ผู้ป่วย เด็ก มีโอกาสสัมผัสอากาศธรรมชาติบริสุทธิ์บนภูกระดึง ไม่จำกัดแค่นักท่องเที่ยวกลุ่มคนหนุ่ม-สาว และนักศึกษา

ผลต่อเนื่องจากกระเช้าไฟฟ้า จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่จำนวนมาก เชื่อว่าภูกระดึงจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาสัมผัส และจะกลายเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่อีสานตอนบนในการจัดแพกเกจทัวร์

ด้านรศ.สุวัฒน์ จิตต์ปราณีชัย นักวิชาการในฐานะนักท่องเที่ยวที่ขึ้นภูกระดึงมากกว่า 40 ครั้ง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สุดยอดด้านธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของโลก มีคุณค่าทางด้านธรรมชาติที่หลากหลายและแง่มุมด้านประวัติศาสตร์ จากการขึ้นไปสัมผัสบนยอดภูกระดึงทำให้ทราบว่าภูกระดึงเคยจมอยู่ใต้ท้องทะเลมาก่อน โดยมีก้อนหินที่บริเวณซำแฮก มีร่องรอยถูกคลื่นน้ำกัดเซาะ และมีพันธุ์ไม้ที่หายาก

ทั้งนี้ หากมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จึงไม่แน่ใจว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวหลักที่เป็นนักศึกษา คนหนุ่ม-สาว จะขึ้นภูกระดึงด้วยกระเช้าไฟฟ้าหรือไม่

ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ ตันกิจเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย กล่าวสนับสนุนสร้างกระเช้าไฟฟ้าในเวทีว่า แหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก ล้วนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ถึงสถานที่ท่องเที่ยว ภายใต้ระบบบริหารจัดการที่ดี ไม่สร้างความเสียหาย ซึ่งภูกระดึงหากมีกระเช้าไฟฟ้าจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงสะดวก ในอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในประชาคมอาเซียน และระดับโลก

ด้านนายสุธรรม ธรรมชาติ ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าบนภูกระดึง กล่าวว่า กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเป็นสิ่งที่ชาวภูกระดึงใฝ่ฝันมานาน ภูกระดึงที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจำกัดแค่นักศึกษา คนหนุ่มสาว ที่มักเดินทางมาเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว หรือเทศกาลต่างๆเท่านั้น หลังจากนั้นภูกระดึงจะเงียบเหงา บางวันไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นไปเลย ที่สำคัญกลุ่มอาชีพลูกหาบลดลงเรื่อยๆ จากเดิมที่เคยมีถึง 1,000 คน ล่าสุดปีนี้เหลือแค่ 300 กว่าคนเท่านั้น และอีก 10 ปีจะมีอาชีพลูกหาบเหลือหรือไม่

การสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะเปิดตลาดแหล่งเที่ยวให้คนทุกกลุ่ม มีโอกาสเข้ามาสัมผัส จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวจะเกิดการกระจายตัว ไม่กระจุกตัวเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น

หวั่นกระเช้าไฟฟ้า ลบเสน่ห์ภูกระดึง
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จุดเด่นของภูกระดึงคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความลำบากในการเข้าถึงยอดภูกระดึง ซึ่งการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อาจทำลายจุดเด่นดังกล่าวลดคุณค่าทางธรรมชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงง่าย กลายเป็นการเที่ยวแบบชะโงกดูแล้วกลับ

เช่นเดียวกันกรณีที่เกิดขึ้นกับภูเก็ต และเกาะสมุย นักท่องเที่ยวไม่ได้มองคุณค่าในแง่ความสวยงามธรรมชาติ เพราะมีถนนเข้าไปสัมผัสชายหาดต่างๆ ได้สะดวก ซึ่งการก่อสร้างอาจทำลายเสน่ห์ธรรมชาติลดลงจนนักท่องเที่ยวไม่อยากเข้าไปสัมผัส โดยการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเสียหาย ทางออกจะต้องทำข้อมูลให้ชัดเจน อย่าให้การสร้างกระเช้าไฟฟ้า กลายเป็นประเด็นขัดแย้งในสังคม

ขณะที่นายรณภพ คัชมาตย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ให้สัมภาษณ์ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงว่า การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ทางอุทยานแห่งชาติภูกระดึงไม่สนับสนุน หรือคัดค้าน ขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรีจะเห็นควรดำเนินการอย่างไร แต่หากจะก่อสร้างจริง ควรมีการศึกษาถึงผลดี-ผลเสีย จากการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าในทุกมิติทั้งด้านผลกระทบต่อระบบนิเวศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว ด้านสังคม มาใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจ ไม่ควรนำข้อมูลที่เคยมีการศึกษาสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงไว้แล้วมาอ้างอิง เพราะเป็นข้อมูลเก่า สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไปมาก

เบื้องต้นในแง่ของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อยากให้ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการ ไม่ควรให้เอกชนดำเนินการก่อสร้าง โดยวัตถุประสงค์ของกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงไม่ควรมองในแง่ผลกำไรทางธุรกิจ แต่รัฐควรมองว่าเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน ที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสภูกระดึง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย

ที่สำคัญ เมื่อก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ควรมีแผนบริหารจัดการรองรับที่ดี ไม่ให้เกิดผลกระทบกับการระบบนิเวศน์บนภูกระดึง กำหนดปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ให้มากจนเกิน มีแผนจัดการขยะอย่างรัดกุม สร้างงานรองรับกลุ่มลูกหาบเดิมไม่ให้เกิดผลกระทบ ซึ่งอาจให้กระเช้าขนเฉพาะนักท่องเที่ยว ส่วนข้าวของให้กลุ่มลูกหาบขนขึ้นภูกระดึงเช่นเดิม

นายเสถียร คำแก่ อายุ 45 ปี ชาวบ้านศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย ประกอบอาชีพลูกหาบ กล่าวว่า ประกอบอาชีพลูกหาบมากว่า 25 ปี มีรายได้เฉลี่ยวันละ 600 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 3-4 หมื่นบาท/ปี ซึ่งหากจะมีการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้น ข้อดีจะทำให้อ.ภูกระดึงเจริญขึ้น แต่ก็เกรงว่าจะทำลายธรรมชาติ และทำให้ลูกหาบที่ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 300 กว่ารายตกงานได้ ซึ่งหากจะมีการสร้างจริงควรหางานรองรับให้กลุ่มลูกหาบที่เหลืออยู่ด้วย

ทั้งนี้ ลูกหาบที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายกรมป่าไม้ที่จำกัด ปริมาณนักท่องเที่ยวพักบนภูกระดึงไม่เกินวันละ 5 พันคน อีกทั้งลูกหาบเดิมที่ประกอบอาชีพมานานเริ่มแก่ตัวลง ไม่มีเรี่ยวแรง ต้องถอนตัวจากอาชีพลูกหาบ อีกส่วนหนึ่งไปประกอบอาชีพในเมืองใหญ่ ที่สำคัญกลุ่มคนรุ่นใหม่ ลูก-หลาน ไม่ยอมมาทำงานลูกหาบ เพราะต้องใช้แรงมาก

ฝ่ายสนับสนุนให้สร้างกระเช้า ชูป้ายแสดงจุดยืน
อีกฟากฝ่ายต้าน

นายชัยภัทร หิรัณยเลขา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
นายหาญณรงค์  เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)
กลุ่มอาชีพลูกหาบปัจจุบันลดลงเรื่อยๆ
การสร้างกระเช้าไฟฟ้าฯ จะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ เข้าถึงภูกระดึงง่ายขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ คนชรา เด็ก และผู้ป่วย
อีกแง่มุม เกรงว่ากระเช้าจะลดทอนเสน่ห์ภูกระดึง
นายเสถียร คำแก่ ลูกหาบขึ้นภูกระดึง
นายรณภพ คัชมาตย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
กำลังโหลดความคิดเห็น