xs
xsm
sm
md
lg

คิดอย่างไรกับกระเช้าฯ… ทำไมต้องภูกระดึง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความสายงามทางธรรมชาติของภูกระดึง เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่ใครพลาดโอกาสขึ้นไปเที่ยวชมน่าเสียดายอย่างยิ่ง
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“กระเช้าขึ้นภูกระดึง”ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งหลัง รมต.กระทรวงทรัพย์ชาวเลยประกาศรื้อฟื้นโครงการฯตั้งแต่วันแรกที่เหยียบบันไดขึ้นตึก อ้างคนเลยรอความหวังมานาน ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนและนักธุรกิจจ.เลยนัดถกหยั่งกระแสหนุน-ต้านวันนี้(2 ก.ย.)

เข้ากระทรวงวันแรกเมื่อวันที่ 12 ส.ค. นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะ ส.ส.จ.เลยก็รีบประกาศจะปัดฝุ่นรื้อโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงขึ้นมาพิจารณาดำเนินการใหม่ อ้างชาวเมืองเลยต้องการให้มีกระเช้าอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมความงามธรรมชาติบนภูกระดึง

“กระเช้าขึ้นภูกระดึง” เป็นเพียงหนึ่งในโครงการใหญ่ๆที่บรรดาเจ้ากระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทยวาดฝันที่จะดำเนินการหลังมีอำนาจ เพราะหากทำได้จริงนั่นหมายถึงงบประมาณก้อนมหึมาจะอยู่ในมือทันที

ทันทีที่นายปรีชาหลุดปากจะรื้อฟื้นโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงออกมา ในพื้นที่ก็เคลื่อนไหวรับลูกเพื่อขยายผลให้โครงการฯอยู่ในกระแส ล่าสุดวันนี้(2 ก.ย.)กลุ่มสื่อเสรีเลยร่วมกับ โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ ท้องถิ่นน่าอยู่จังหวัดเลยนัดถกในประเด็น“ คิดอย่างไรกับกระเช้าฯ ทำไมต้องภูกระดึง? ” ณ หอประชุมชั้น 2 อาคาร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนที่ยากขึ้นไปสัมผัสความงามและต้องการความสะดวกสบาย เลยเล็งเห็นว่า น่าจะมีกระเช้าขึ้นไปสู่ยอดภู โดยมีนักการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการค้ากลุ่ม 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นางสาวนีรชา วงศ์มาศา นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดเลย นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)และนายสุธรรม ธรรมชาติ ตัวแทนผู้ประกอบการค้า-บริการ ในอุทยานแห่งชาติ ภูกระดึง

ขณะที่ รมต.กระทรวงทรัพย์ นายปรีชาได้ปฏิเสธเข้าร่วมเสวนา ให้เหตุผลว่าต้องการให้เวทีดังกล่าวเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนและตัวแทนภาครัฐได้ถกเถียงพูดคุยกันอย่างเต็มที่ ในฐานะเจ้ากระทรวงยังไม่อยากเข้าไปก้าวก่าย จะรอฟังรายงานผลสรุปจากการเสวนา

โครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง หลายภาคส่วนในจังหวัดเลยรวมถึงนักการเมืองได้พยายามผลักดันมานานร่วม 3 ทศวรรษ แต่ไม่บรรลุผล เนื่องจากนักอนุรักษ์ฯและชาวบ้านที่ยึดอาชีพลูกหาบซึ่งมีรายได้จากการรับจ้างแบกสัมภาระให้นักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงได้ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย นอกจากจะทำลายวิถีชีวิตท้องถิ่นที่ชาวบ้านยึดอาชีพรับจ้างนักท่องเที่ยวมาหลายชั่วอายุคนแล้วยังจะทำให้ระบบนิเวศบนภู ที่สมบูรณ์ถูกทำลายเร็วขึ้น ที่สำคัญ “เสน่ห์การท่องเที่ยวแบบ EcoTourism”ซึ่งเป็นจุดขายหลักของภูกระดึงเสื่อมหายไป

แม้จะเกิดกระแสต่อต้านอย่างหนักแต่ภาคส่วนธุรกิจทั้งนักธุรกิจ พ่อค้าในพื้นที่ จ.เลยและภาคอีสานรวมถึงนักธุรกิจการเมืองเองก็พยายามออกมาสนับสนุนโครงการอย่างเต็มที่เช่นกัน อ้างตัวเลขรายได้ที่จะมาจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศจะไหลมาเทมาเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวขึ้นชื่อในหลายประเทศ ซึ่งก็ใช้กระเช้าไฟฟ้าเป็นตัวดึงดูด ผลดีของการมีกระเช้าฯมากกว่าและเชื่อว่าผลกระทบด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นนั้นรัฐบาลมีมาตรการป้องกันดูแลที่ดี
แผนที่แสดงจุดท่องเที่ยวต่างๆบนภูกระดึง
อย่างไรก็ตามความหวังในโครงการสร้างกระเช้าฯได้ถูกจุดประกายอีกครั้งและทำท่าว่าจะไม่มีใครขวางได้ เมื่อ วันที่ 21 เม.ย.47 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเดินทางตรวจราชการราชการพื้นที่จังหวัดเลย ได้สั่งให้ทำการศึกษาโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเพิ่มเติม

ถัดมาวันที่ 5 ส.ค. 47 คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 3/2547 ให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน หลังจากนั้น 19 ส.ค. 47 คณะทำงานมีมติมอบหมายให้ อพท. เป็นผู้ทบทวนและรวบรวมข้อมูลสรุปเสนอคณะทำงานฯพิจารณาเพื่อนำไปสู่การนำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณา

ขณะนั้นกรมป่าไม้ ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นอธิบดีกรม ได้ว่าจ้างบริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเมนท์ จำกัด ทำการศึกษาวิจัยและได้บทสรุปข้อเสนอให้สร้างกระเช้าไฟฟ้า โดยอ้างเหตุผลว่านักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา มีรายได้ต่ำ กระจุกตัวในช่วงวันหยุดยาว มีการว่าจ้างลูกหาบ และใช้บริการร้านค้า เงินบำรุงเข้าอุทยานฯ อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ไม่เพียงต่องบประมาณสำหรับการพัฒนาและอนุรักษ์อุทยานฯ

หากมีการก่อสร้างกระเช้า จะทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวหลากหลายขึ้น ทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีกำลังซื้อสูงกว่า จะมีการจ้างงานซื้อสินค้าและบริการในอุทยานฯมากขึ้น ทำให้อุทยานฯมีรายได้ในการพัฒนาและอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง
นักท่องเที่ยวบริเวณสถานีศรีฐานกำลังจะเดินขึ้นไปชมความงามธรรมชาติบนภูกระดึง ซึ่งหากต้องการใกล้ชิดธรรมชาติและไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ต้องใช้วิธีนี้
แต่แผนเดินหน้าโครงการฯไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกระแสต่อต้านจากสังคมค่อนข้างแรงโดยเฉพาะกลุ่ม NGOsและชาวบ้านที่ยึดอาชีพลูกหาบได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จนในที่สุดปี 2548 อดีตนายกฯพ.ต.ท.ทักษิณ จึงสั่งให้ชะลอโครงการไว้ก่อน เพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจให้รอบด้าน และโครงการฯก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชักหลังจากอดีตนายกฯถูกรัฐประหาร คดีอาญาแผ่นดินรุมเร้าจนต้องระเห็จหนีออกนอกประเทศ

และการปลุกผีโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงรอบใหม่นี้ ก็ไม่ใช่ของหมูๆเหมือนกับที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงชาวเลยวาดฝัน..ต่างจากการเล่นเกมขายของปลุกระดมชาวเสื้อแดง อุทยานแห่งชาติภูกระดึงเป็นสมบัติของชาติที่มีชาวไทยทุกคนเป็นเจ้าของ จะสร้างได้หรือไม่ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางและศึกษาผลกระทบรอบด้าน**

ไม่เฉพาะแต่ชาวเลยเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสิน ที่สำคัญกระบวนการทำประชาพิจารณ์ ต้องไม่มีอำนาจทางการเมืองเข้าไปชี้นำ!!
กำลังโหลดความคิดเห็น