xs
xsm
sm
md
lg

นัดถกปัดฝุ่น“กระเช้าภูกระดึง”สนองรัฐมนตรีคนเมืองเลย2ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งามทางธรรมชาติบนภูกระดึงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาสัมผัสแต่ละปีเรือนหมื่น
เลย - นัดถกทุกภาคส่วนโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงที่ มรภ.เลย 2 ก.ย.หลัง รมว.ทรัพย์ ส.ส.เลยประกาศปัดฝุ่นโครงการใหม่หลังชะงักไปตั้งแต่ปี 48 องค์กรภาคธุรกิจในจังหวัดเลย ทั้งหอการค้า-สภาอุตฯออกโรงหนุนสุดลิ่ม หวังเห็นเม็ดเงินปลิวว่อนมาพร้อมกับนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศทุกเพศทุกวัย ดักคอเอ็นจีโอค้านโครงการเพราะมองไม่ไกลไม่กว้างพอ

ทันทีที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่ ส.ส.เลย ประกาศเตรียมนำโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงขึ้นมาพิจารณาใหม่ หลังจากสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2548 ให้ชะลอโครงการไว้ก่อนเพื่อศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจให้รอบด้าน ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรื้อฟื้นโครงการฯดังกล่าว

นายวีระพล เจริญธรรม ที่ปรึกษาองค์กรภาคประชาชนจังหวัดเลย เปิดเผยว่า โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงเป็นประเด็นละเอียดอ่อน มีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น สภาพสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชน ดังนั้น ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ กลุ่มสื่อเสรีเลย และองค์กรภาคประชาชนจังหวัดเลย จึงกำหนดจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย โดยจะเชิญนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรี และในฐานะผู้แทนชาวเลย มาร่วมแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอภูกระดึง กลุ่มลูกหาบ และประชาชนที่มีอาชีพค้าขายอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตัวแทนภาคเอกชน หอการค้า หรือสมาคมพ่อค้า นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเวทีเสวนาเพื่อหาข้อสรุปและทางออกร่วมกัน

สำหรับประเด็นข้อสรุปที่ได้จากการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ จะนำเสนอเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐบาลในการตัดสินใจ ว่าสมควรสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงหรือไม่อย่างรอบคอบ พร้อมกันนั้นจะมีการถ่ายทอดสดทั้งภาพและเสียงเผยแพร่ไปทั่วโลก ผ่านทางเว็บไซต์ www.linkloei.com จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนที่สนใจ เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ให้มากที่สุด เพราะภูกระดึง สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติเป็นสมบัติของคนไทยทุกคน

ด้านนายสมศักดิ์ ขจรเฉลิมศักดิ์ ประธานหอการค้ากลุ่ม 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวถึงโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง อำเภอภูกระดึงว่า ทุกภาคส่วนได้ร่วมส่งเสริมผลักดันมาเป็นเวลานานนับสิบปีแล้ว ทั้งการสำรวจความคิดเห็น การจัดทำประชาพิจารณ์ประชาคมจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว
หน้าหนาวทุกปี พื้นที่สำหรับกางเต็นท์บนภูกระดึงแทบไม่มีที่ว่าง
“เป็นโอกาสที่ดีที่รัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนเมืองเลยโดยแท้ได้มาบริหารงานกระทรวงทรัพย์ และเตรียมปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาอีก เราเชื่อว่าหากสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดเลยครั้งใหญ่ ถือเป็นการสนองความต้องการของประชาชนชาวเลย” นายสมศักดิ์ กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม คงต้องทำประชาพิจารณ์อีกครั้ง เพราะโครงการนี้เคยนำเสนอคณะรัฐมนตรีในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งนั้นได้เสนอเส้นทางสร้างกระเช้าตั้งแต่จุดที่ตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวศรีฐานและไปสิ้นสุดที่หลังแป ระยะทาง 3,675 เมตร เป็นแนวที่ใกล้เคียงกับแนวทางเดินเท้า จะมีเสารองรับกระเช้า 16 จุด พื้นที่ก่อสร่าง 50 ตารางเมตร ส่วนการขนอุปกรณ์การก่อสร้างก็ใช้เฮลิคอปเตอร์ เพื่อไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม

"โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ประโยชน์โดยภาพรวมด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ท้องถิ่นที่ชาวจังหวัดเลยจะได้แล้วยังมีจังหวัดในภาคอีสานตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ก็จะได้รับผลกระทบเชิงบวกไปด้วย หากมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงนักท่องเที่ยวจะไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาวเท่านั้น ผู้สูงอายุทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศก็จะเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนบนภูกระดึงมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กำลังซื้อสูง เฉลี่ยแล้วมีกำลังซื้ออย่างต่ำ 1,000 บาท/คน/วัน"

ทางด้านนายเกรียงศักดิ์ ตันกิจเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย แสดงความเห็นต่อว่ากรณีรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงขึ้นมาใหม่อีกครั้งว่า ต้องถามคนส่วนใหญ่ของประเทศว่าต้องการอะไร สำหรับการท่องเที่ยวที่ภูกระดึง แต่ในฐานะความเห็นส่วนตัว ตนขอสนับสนุนและเห็นชอบกับโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หากสามารถสร้างได้จริงต้องมีมาตรการรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดควบคู่กันไปด้วย พร้อมกับพัฒนาบุคลากรมัคคุเทศก์ ไกด์นำเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

สำหรับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกลุ่มนักพัฒนาองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอ ผู้ที่เคยคัดค้านโครงการสร้างกระเช้าภูกระดึง นายเกรียงศักดิ์ ระบุว่า พวกเขาคงคิดไม่ไกล ไม่กว้างพอ ไม่ดูข้อมูลที่ละเอียดรอบด้าน โดยทางเดินเท้าและลูกหาบก็ยังคงอนุรักษ์รักษาไว้เหมือนเดิม ไม่ใช่ปิดกั้นโอกาสของนักท่องเที่ยวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องเปิดให้แก่คนทุกวัย และสามารถบริหารอย่างมีระบบมีประสิทธิภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น