ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - TCDC จับมือคณะ กก.เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ และ มช.ลงนามร่วมพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ ผอ.TCDC ระบุเชียงใหม่มีศักยภาพแต่ต้องดึงทุกฝ่ายร่วมกันหาแนวทางพัฒนาเมือง ชี้อนาคตผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเหตุ ศก.เชิงสร้างสรรค์เป็นโอกาส ด้านปธ.เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์เผย คณะ กก.เดินหน้าทำงานต่อเนื่อง เผยหวั่นใจเปลี่ยน รบ.นโยบายเปลี่ยน
วันนี้ (1 ก.ย.) ที่โรงแรมแคนทารี่ ฮิลล์ จ.เชียงใหม่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ คณะกรรมการเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้งสามหน่วยงาน ในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ของ จ.เชียงใหม่
นายอภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ศูนย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นว่า จ.เชียงใหม่ มีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์
การที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จำเป็นจะต้องร่วมกันแสวงหาแนวทางเพื่อกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ในการผลักดันให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ได้ทราบถึงความสำคัญของการนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เข้ามาสร้างโอกาสในทางธุรกิจ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทิศทางของเศรษฐกิจโลกหันมาสู่การผลิตสินค้าและบริการที่ใช้เรื่องของการออกแบบและงานสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน หรือแม้แต่ภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายจะต้องให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในระยะยาวการผลิตสินค้า โดยใช้จุดแข็งจากต้นทุนการผลิตหรือค่าแรงงานที่ต่ำจะไม่ใช่ข้อได้เปรียบของภาคอุตสาหกรรมไทยอีกต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเรื่องของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มา เพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าหรือบริการได้
อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบระบุว่า การจะพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ หรือการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ผู้ประกอบการถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อน เนื่องจากหน่วยงานอย่างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือคณะกรรมการเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ เป็นเพียงผู้ที่ช่วยแนะนำให้ผู้ประกอบการมองเห็นทิศทางความเป็นไปของโลกในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางด้านข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จะมีส่วนในการเสริมสร้างประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการยังขาดความเข้าใจ หรือไม่ปรับตัวให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว จะส่งผลให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และส่งผลต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในภาพรวมอีกด้วย
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐ วรยศ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ กล่าวว่า การดำเนินการของคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่ามีความคืบหน้าในด้านต่างๆ ตามลำดับ ยกตัวอย่างผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การที่จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมสมัครเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำใบสมัคร ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2554 นี้ และจะทราบผลในช่วงเดือน มี.ค. 2555 หรือการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในประเทศไทย ที่ได้รับการคัดเลือกจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินการที่น่าจะถือว่าสำคัญที่สุดคงจะเป็นในเรื่องของการจุดประกายและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการนำแนวความคิดสร้างสรรค์และเอกลักษณ์ต่างๆ ที่มีอยู่มาปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและความน่าดึงดูดใจให้กับสินค้าและบริการของเชียงใหม่ ซึ่งในเวลานี้อาจจะยังไม่สามารถเห็นผลดีที่เกิดขึ้นตามมากนัก แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในระยะยาว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของคณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ณัฐ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงบ้างเล็กน้อยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของนโยบายหรืองบประมาณสนับสนุนบางอย่าง
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ด้วยการรวมตัวเป็นเครือข่ายที่มีความเข้มแข็งและเป็นการรวมตัวกันในลักษณะของจิตอาสาอยู่แล้ว จะไม่เป็นปัญหาในการขับเคลื่อนการทำงานแต่อย่างใด