กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรห้วยทราย อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอแฮนด์เมดจาก “เส้นใยกัญชง” (Hemp Fiber) โดยพัฒนาทั้งด้านวัตถุดิบเส้นใยให้มีคุณสมบัติสวมใส่แล้วไม่คัน พร้อมปรับปรุงดีไซน์ให้ทันสมัย หลากหลายรูปแบบ สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมาะสม จนกลายเป็นอีกสินค้าเด่นของจังหวัด
นวลศรี พร้อมใจ ประธานกลุ่ม เล่าว่า เดิมแม่บ้านในท้องถิ่นรวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมยามว่างหารายได้เสริม หลังอาชีพหลักทำนา ตั้งแต่ พ.ศ.2527 โดยถักนิตติ้งและโครเชต์จากฝ้ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น หมวก กระเป๋า เสื้อ ฯลฯ ขายในงานหมู่บ้าน อำเภอ และจังหวัด รวมถึง รับจ้างทำตามคำสั่งซื้อ
อย่างไรก็ตาม งานฝ้ายมีผู้ผลิตอยู่จำนวนมาก การแข่งขันสูง ทางกลุ่มจึงคิดสร้างความต่าง หาวัตถุดิบอื่นทดแทน โดยจับความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากเส้นใยกัญชง ซึ่งเดิมชาวไทยภูเขาจะนิยมถักทอเป็นรองเท้า และเครื่องใช้ในบ้าน จึงเริ่มศึกษาและทดลองนำเส้นใยกัญชงมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
ประธานกลุ่ม อธิบายว่า ข้อดีของเส้นใยกัญชง คือ เหนียว คงทน แข็งแรง ระบายอากาศได้ดี ให้ทั้งความอบอุ่นและเย็นสบาย ทว่า ในอดีตใส่แล้วจะรู้สึกคันผิว ดังนั้น ทางกลุ่มได้พัฒนาเส้นใยกัญชงเพื่อแก้ข้อด้อยดังกล่าว อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน ประกอบกับคำแนะนำของหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งเคล็ดลับสำคัญอยู่ที่นำเส้นใยกัญชงไปต้มกับน้ำขี้เถ้า และคลุกขี้ดินเพื่อปรับสภาพเส้นใยให้มีความนุ่มเนียนยิ่งขึ้น
“กลุ่มของเราเป็นรายแรกในประเทศที่ผลิตงานถักจากเส้นใยกัญชง เริ่มทำปี พ.ศ.2544 ช่วงแรกลูกค้าจะไม่ค่อยรู้จัก ส่วนใหญ่คิดว่าเป็นผ้ากระสอบ กังวลว่าใส่แล้วจะคัน ทำให้ต้องอธิบายลูกค้าตลอดเวลา แต่เมื่อลองซื้อไปแล้ว ก็จะติดใจ เพราะใส่สบาย และอายุการใช้งานยาวนาน จนกลับมาซื้อซ้ำ เกิดการบอกต่อ ประกอบกับได้โอทอป 4 ดาว และได้รับเลือกเป็นสินค้า “เชียงใหม่แบรนด์” ทำให้ยอดขายดีขึ้นตามลำดับ รายได้มากกว่าตอนขายงานฝ้ายกว่าสิบเท่าตัว” นวลศรี เผย
ด้านการออกแบบพัฒนาต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งประธานกลุ่มเป็นหัวแรงสำคัญในการสร้างสรรค์ โดยศึกษาจากทั้งด้วยตัวเอง อาศัยดูนิตยสารต่างประเทศ และดูเทรนด์แฟชั่นในตลาด อีกทั้ง ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ที่นอกจากสนับสนุนเงินทุนแล้ว ยังส่งไปเรียนรู้การดีไซน์กับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นที่มาของการนำวัสดุอื่นๆ เช่น ไม้ หนังสัตว์ ฯลฯ มาผสมผสานกับงานถักเส้นใยกัญชง อีกทั้ง ย้อมสีธรรมชาติ เพิ่มความทันสมัยให้ผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น
นวลศรี เผยด้วยว่า อายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์เส้นใยกัญชงมากกว่า 5 ปีขึ้นไป การทำความสะอาดควรซักด้วยมือ ปัจจุบัน มีสินค้านับร้อยรายการ เช่น เสื้อ หมวก กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมอนสุขภาพ ฯลฯ ถักทอด้วยมือล้วนๆ ราคาเริ่มต้นที่ชิ้นละสิบกว่าบาท ถึงสูงสุดประมาณ 8,000 บาท
กลุ่มลูกค้าเป็นตลาดกลางบนขึ้นไป ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ ผ่านช่องทางตลาด ขายปลีกที่ถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ ทุกวันอาทิตย์ และออกบูทงานโอทอปประจำปี ควบคู่กับขายส่ง โดยลูกค้าต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และยุโรป จะเข้ามาซื้อถึงแหล่งผลิต ขณะนี้ ทางกลุ่มมีสมาชิก ประมาณ 70 คนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน
ด้านปัญหานั้น ประธานกลุ่มชี้ไปที่การตลาดยังไม่เชี่ยวชาญมากนัก ทำให้การรับรู้จากลูกค้าอยู่ในวงจำกัด อีกทั้ง วัตถุดิบเส้นใยกัญชงหายาก เนื่องจากเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา ไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกเสรี จำเป็นต้องนำเข้าเส้นใยจากประเทศจีนผ่านมาทางชายแดนประเทศลาว ในราคาประมาณ 200-300 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นต้นทุนที่สูง และคุณภาพเส้นใยไม่ดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการหลวง เพื่อทดลองปลูกและผลิตเส้นใยกัญชงคุณภาพขึ้น เพื่อจะให้กลุ่มเป็นแหล่งผลิตและเรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชงครบวงจรในอนาคต
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
โทร.053-301-251 , 08-1289-4744
รู้จักกัญชงให้มากขึ้น |
กัญชงเป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา แต่มีลำต้นที่สูงกว่า และมีใบ 7 แฉก เส้นใยกัญชงมีคุณสมบัติระบายอากาศ ไม่มีกลิ่นอับ ให้ทั้งความอบอุ่นและเย็นระบายอากาศได้ดี ไม่ยับ เหนียวกว่าเส้นใยอื่นๆ อายุการปลูกประมาณ 3 เดือน สามารถนำมาปั่นเป็นเส้นใยได้ ตามข้อมูลในอดีตชาวญี่ปุ่นถักทอเป็นผ้าที่สวมใส่โดยเชื้อพระวงศ์เท่านั้น และยังมีการค้นพบว่าผ้าที่ใช้พันพระศพพระนางคลีโอพัตราซึ่งขุดพบในปิรามิด เป็นผ้าใยกัญชงเช่นกัน |