xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊เกียว” ลั่นไม่ลดค่าโดยสารตามราคาน้ำมัน - อ้างใช้อัตราต่ำอยู่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสุจิดา เชิดชัย หรือ “เจ๊เกียว”
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “เจ๊เกียว” นายกสมาคมรถโดยสารไทย ยันรถร่วม บขส.ไม่ปรับค่าโดยสารลงตามรัฐบาลลดราคาน้ำมัน ชี้ ค่าโดยสารปัจจุบันใช้อัตราราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 23.50 -24.71 บาท ต่ำกว่าอัตราที่ปรับลงอยู่แล้ว เผย นัดประชุมสมาคมกำหนดท่าทีชัดเจน 2 ก.ย.นี้ วอนรัฐบาล-ปชช.เห็นใจผู้ประกอบการแบกรับภาระขาดทุนมานานเจ๊งไปกว่า 30-40% ระบุขอเอาเงินไปปรับปรุงรถโดยสารให้ปลอดภัยมากขึ้นดีกว่า


วันนี้ (27 ส.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่อู่เชิดชัย ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารแห่งประเทศไทย และเจ้าของสัมปทานรถโดยสารประจำทางรายใหญ่ของไทย เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลประกาศลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เตรียมปรับลดราคาค่าโดยสาร โดยใช้อัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.นี้ ว่า

ในส่วนของสมาคม ซึ่งมีสมาชิกเป็นรถร่วม บขส.จำนวนกว่า 4,000 ราย มีรถโดยสารรวมกว่า 10,000 คัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทาง บขส.ได้เชิญประชุมไปแล้ว เพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะมีการงดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และน้ำมันจะปรับลดราคาลง และทาง บขส.ขอให้ช่วยกันปรับลดราคาค่าโดยสารลงเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทางผู้ประกอบการ ไม่ได้รับปากที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพียงแต่รับทราบนโยบายเท่านั้น โดยได้นัดประชุมกันในวันที่ 2 ก.ย.นี้ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป และจะมีข้อสรุปร่วมกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะยังยืนยันตามราคาเดิมหรือจะปรับลดอย่างไร

อย่างไรก็ตาม จากการหารือกันเบื้องต้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าอยากให้ยืนราคาค่าโดยสารตามเดิม เนื่องจากอัตราค่าโดยสารตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คิดตามอัตราที่ 12 คือ ราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 23.50-24.71บาท แต่ปัจจุบันหลังการปรับลดราคาน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท มาอยู่ที่ลิตรละ 26.99 บาท หากยึดตามประกาศดังกล่าวจะต้องใช้อัตราที่ 14 คือ ราคาน้ำมันอยู่ที่ 25.94-27.15 บาท นั่นหมายถึงต้องเพิ่มราคาค่าโดยสารขึ้นจากอัตราปัจจุบันอีก กม.ละ 2 สตางค์ ฉะนั้นผู้ประกอบการจึงเห็นว่าไม่ควรปรับลดค่าโดยสารลงอีก

นางสุจินดา กล่าวว่า ในส่วนของรถ บขส.จะปรับลดอย่างไรก็สามารถปรับได้ เพราะไม่มีต้นทุนอะไร เนื่องจากเป็นเจ้าของสัมปทานซึ่งปัจจุบันมีรถ บขส.อยู่ประมาณ 10% ของรถร่วม บขส. ส่วนผู้ประกอบการรถร่วม บขส. นั้นเป็นผู้รับสัมปทาน มีค่าใช้จ่ายจิปาถะ หลายอย่าง เช่น ค่าต๋ง, ค่าสัญญา และค่าปรับโดยโต้แย้งไม่ได้ หากไม่จ่ายก็ไม่สามารถวิ่งรถได้ ฉะนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมายที่ไม่สามารถพูดในรายละเอียดได้หมด และปัจจุบันผู้ประกอบการรถโดยสารได้เลิกทำกิจการไปหลายรายแล้ว คิดเป็นประมาณ 30-40% ที่ล้มหายตายจากไป เนื่องจากสู้ไม่ไหวนับตั้งแต่รถตู้กว่า 3,000 คัน เข้ามาตีตลาดแย่งลูกค้าไป ส่วนที่ยังเหลือและดำเนินกิจการอยู่ได้ เพราะเป็นกิจการที่ทำมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ และใช้รถเก่ามาเรื่อย ๆ แต่ใช้วิธีการปรับปรุงให้รถวิ่งได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่า สมาคมไม่เห็นด้วยกับ บขส.แต่สิ่งที่ทำได้เราก็พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่สิ่งใดที่เราไม่สามารถดำเนินการตามได้ต้องยึดความถูกต้องตามกฎระเบียบที่มีอยู่แล้ว เพราะเป็นสัมปทานใหญ่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เหลวไปเหลวมา เละไปเละมา ต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ฐานที่ไม่เอาเปรียบผู้โดยสารและไม่ให้เอาเปรียบผู้ประกอบการด้วย ฉะนั้น จึงขอหารือกันก่อน

“ขณะนี้ ผู้ประกอบการรถร่วมฯ จะยังคงยืนราคาค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไปก่อนจนกว่าจะมีการประชุมหารือกันของคณะกรรมการ ในวันที่ 2 ก.ย.นี้ หากที่ประชุมมีมติอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตามนั้น” นางสุจินดา กล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า หากทางสมาคมยืนยันที่จะไม่ปรับลดอัตราค่าโดยสารลงจะเป็นการขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระประชาชนหรือไม่ นางสุจินดา กล่าวว่า รัฐบาลก็มีเอกสารฉบับเดียวกันกับที่สมาคมฯ ถือไว้อยู่แล้ว เมื่อดูอัตราการคิดค่าโดยสารคงจะมองออก และคงเห็นใจว่าผู้ประกอบการเดินรถอยู่กันไม่ไหวจริงๆ หาก บขส.ยืนยันที่จะปรับลดราคาค่าโดยสารก็เป็นเรื่องที่ดี ประชาชนจะได้มีทางเลือก หากอยากใช้ราคาค่าโดยสารที่ปรับลดลงก็ให้ไปใช้รถของ บขส. ส่วนประชาชนที่มีความเมตตาผู้ประกอบการ ก็มาใช้บริการรถร่วมฯ ของพวกเราได้

“เราอยากจะขอความเป็นธรรมจากสังคม ว่า การทำธุรกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอะไรหลายอย่างที่ผ่านมาให้เจอะเจอเยอะแยะ คนที่ทำธุรกิจนี้ต้องยอมโง่ถึงจะอยู่ได้ ถ้าฉลาดแล้วมาวิ่งรถไม่ได้ บางเรื่องไม่สามารถพูดได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงมากมาย เป็นเรื่องการสมยอมกันตั้งแต่แรก ๆ จึงต้องสมยอมกันมาตลอด ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกันอยู่ขณะนี้ ต้องทนอยู่ต่อไป เพราะไม่รู้จะไปทำอะไรกิน ในครั้งนี้ดิฉันก็ดีใจแทนประชาชนที่ได้ใช้น้ำมันราคาลดลงเป็นประวัติการณ์ ส่วนค่าโดยสารผู้ประกอบการก็ลดต้นทุนลงมานิดหน่อยและอยากวิ่งวอนขอจากพี่น้องประชาชน ว่า อย่าให้ดิฉันและผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต้องลดราคาค่าโดยสารลงอีกเลย ขอให้นำเงินส่วนที่ได้จากตรงนี้ไปปรับปรุงรถโดยสารให้ดี มีสมรรถนะวิ่งรถด้วยความปลอดภัยจะดีกว่า” นางสุจินดา กล่าว

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่ารถโดยสารส่วนใหญ่หันไปใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีราคาถูกอยู่แล้วข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นางสุจินดา กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการปลุกกระแสให้รถโดยสารไปติดตั้งแก๊ส ซึ่งมีบางส่วนที่หันไปใช้แก๊สแต่เป็นส่วนน้อยมาก เนื่องจากอายุการใช้งานของเครื่องยนต์สั้น และรถใช้น้ำมันมีมานานมากแล้ว การเปลี่ยนไปใช้แก๊สมีต้นทุนค่อนข้างสูงและที่ผ่านมาเคยสอบถามไปยังบริษัทแม่ที่ผลิตรถทัวร์ ได้คำตอบว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไม่ผลิตรถโดยสารใช้แก๊สออกมาเพราะทำมาแล้วไม่เป็นที่พอใจ และเขาไม่เสี่ยงต่อชื่อเสียงยี่ห้อของเขาอยู่แล้ว ซึ่งรถใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงเหมาะที่จะใช้วิ่งในระยะสั้นไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) แต่รถที่วิ่งระยะทางยาวใช้น้ำมันจะดีกว่า

ฉะนั้น รถโดยสารส่วนใหญ่จึงไม่นิยมไปใช้แก๊ส ที่สำคัญคือไม่เชื่อมั่นในฝีมือของช่างคนไทย ที่อาจติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน เช่น รถของ บริษัท ราชสีมาทัวร์ ทั้ง 95 ในที่วิ่งอยู่ในสายราชสีมา-กรุงเทพฯ ใช้น้ำมันดีเซลทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารมีความมั่นใจเมื่อมาใช้บริการ

ทางสมาคมอยากฝากอะไรถึงรัฐบาลใหม่หรือไม่ นางสุจินดา กล่าวว่า เราเพิ่งได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน ตอนนี้อยากให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายที่เคยพูดไว้กับประชาชนไปก่อน ส่วนของผู้ประกอบการเดินรถโดยสารนั้น ให้ไปดูแล บขส.ให้เขามีความเห็นใจผู้ประกอบการด้วย ทางผู้ประกอบการเสนอขออะไรไปควรตอบสนองกลับมาบ้าง เช่น ขณะนี้รถโดยสารขาดทุน วิ่งไม่ไหว เราอยากขอพักรถไว้ก่อน 2 ปี พร้อมพักทะเบียนด้วย แต่สิทธิ์การสัมปทานขอให้คงไว้ในช่วงที่มีการพักวิ่งรถ เรื่องนี้อยากให้ทาง บขส.ช่วยผู้ประกอบการด้วย
รถโดยสาร “ราชสีมาทัวร์” ของ เจ๊เกียว

กำลังโหลดความคิดเห็น