เลย-จังหวัดเลยเปิดเวทีเสวนาถกปัญหาการลักลอบขุดแร่และทำเหมืองแร่ ชาวบ้านเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ เผยหลังจังหวัดปล่อยให้นายทุนพาเหรดเข้ามาทำเหมืองแร่ทำสิ่งแวดล้อมชุมชนพัง พืชผักของป่า-น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะปนเปื้อนสารพิษ จี้ภาครัฐทำประเมินผลกระทบรอบด้าน ขณะที่ผู้ว่าฯยอมรับเหมืองแร่ที่ยื่นขออนุญาตมีแค่ 8 แห่ง ที่เหลือลักลอบขุดหมด
วันนี้ (25 ส.ค.) ณ ศาลาการเปรียญวัดอัมพวัน บ้านห้วยม่วง หมู่ 4 ต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยพร้อมด้วย พล.ต.สุเมธ อนวัชกุล รอง ผอ.กอ.รมน.จ.เลย, พ.ต.อ.สุรฤทธิ์ มิ่งแก้ว รอง บก.ภ.จว.เลย และ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนาหัวข้อ “การมีส่วนร่วมในการป้องกันการทำแร่ที่ผิดกฎหมาย และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ราษฎรในพื้นที่ได้รักหวงแหน และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ และ ราษฎรในพื้นที่ร่วมเสวนาแห่งละกว่า 300 คน
นายชาลิน กันแพงศรี ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ บ้านห้วยม่วง และนายจันทร์เพ็ง ยาบุษดี กรรมการเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ กล่าวว่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟในชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของอชุมชนมานับร้อยปี แต่เมื่อมีการสำรวจแร่มีนายทุนเหมืองแร่เข้ามาในพื้นที่มาทำลาย บุกรุกผืนป่าดังกล่าว แหล่งอาหารถูกทำลายกว่า 10,000 ไร่ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ทั้งน้ำพวน และแม่น้ำเลยอีกด้วย
หมู่บ้านห้วยม่วง นับว่าเป็นแหล่งอาหารป้อนตลาดทั่วไปในระดับต้นๆ ของ จ.เลย ที่น่าจะประสบปัญหาสารพิษปนเปื้อนอาหาร ตามแหล่งอาหารธรรมชาติและพืชผักที่ปลูกในไร่สวน ชาวบ้านต้องไปซื้ออาหารในตลาด ได้รับความเดือดร้อนทั้งต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และเสียเวลาเดินทาง ผืนป่าคืนสภาพเดิมไม่ได้
หลังจากประสบปัญหาแหล่งน้ำ แหล่งอาหารปนเปื้อนสารพิษชาวบ้านหวั่นวิตกและรวมตัวกันขึ้นเพื่อต่อต้านการทำเหมืองแร่ สิ่งที่กลุ่มอนุรักษ์และชาวบ้าน ต้องการทราบคือขั้นตอนการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ที่ชัดเจน ชาวบ้านต้องการให้มีการประเมินผลกระทบจากเหมืองแร่ และการขุดแร่จากป่าสงวนแห่งชาติยามวิกาลนั้นทำได้อย่างไร นอกจากนี้ ชาวบ้านยังต้องการขอขยายพื้นที่ ส.ป.ก.และสร้างป่าชุมชนเพิ่มอีก
นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวถึงโครงการทำเหมืองแร่ในพื้นที่จังหวัดเลยว่า ได้มีการปล่อยข่าวว่า ผู้ว่าฯและผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการกระทำผิดกฎหมายการทำแร่เถื่อนกันมาก ซึ่งเรื่องนี้ ตนเองได้รายงานให้นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่ากากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบแล้ว นายปรีชาก็เป็นห่วง พร้อมย้ำให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาดภายใต้กฎหมายและสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ จ.เลย มีเหมืองแร่ที่ถูกกฎหมายเพียง 8 แห่งเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาการทำเหมืองแร่เถื่อนในหลายพื้นที่จำนวนมาก โรงแต่งแร่มี 16 แห่ง ในจำนวนนี้เปิดดำเนินการแล้ว 13 แห่ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทางจังหวัดได้จัดตั้งชาวบ้านเป็นอาสาสมัครป้องกันปราบปรามแร่เถื่อนขึ้น ในปี 2554 ขึ้น โดยมีจุดเสี่ยงที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง ได้แก่ อ.เมืองเลย, วังสะพุง, เชียงคาน, นาด้วง และ อ.เชียงคาน
จากการตรวจสอบของ กอ.รมน.จ.เลย ก็ทราบถึงมูลเหตุของขบวนการแร่เถื่อนว่า ที่ผ่านมามีการลักลอบขุดกันมากเพราะว่าแร่เหล็กอยู่ผิวดินไม่ลึก กระจายทั่วไปหลายพื้นที่ จึงมีการลักลอบขุดขึ้นมาแต่งและขายกัน ปัญหาก็คือ ผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นขุดจากที่ดินของใคร ที่ดินประเภทไหน ต้องมีการควบคุมเด็ดขาดจากทุกฝ่าย
นายพรศักดิ์ยังกล่าวถึงขบวนการลักลอบขุดแร่เถื่อนในพื้นที่จังหวัดเลยนั้นมี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย อ้างว่าขุดบ่อปลา รับจ่างขุดหาผลประโยชน์ กลุ่ม 2 คือ กลุ่มผลประโยชน์ร่วมระหว่างท้องถิ่นกับผู้ประกอบการ และกลุ่ม 3 คือ ตัวของนายทุนเอง ฝ่ายตำรวจเองก็เข้ามาจับกุมทุกคดีที่สร้างความเดือดร้อนต่อราษฎร ต่อสังคม