xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเลยนับพันฮือต้านเวทีพิจารณ์เหมืองทองแดง-หวั่นซ้ำชะตากรรมชาววังสะพุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ชาวบ้านห้วยม่วง และ หมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลนาดินดำ อำเภอเมืองเลย ในนามกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ จำนวนกว่า 1,000 คน เดินทางมาชุมนุมคัดค้านการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯโครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ
เลย-ชาวบ้านในตำบลนาดินดำ กว่า 1,000 คน ฮือปิดโรงแรม ต้านเวทีประชาพิจารณ์โครงการเหมืองแร่ทองแดงแห่งแรกในเมืองเลย หวั่นสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเสื่อมซ้ำรอยชาวบ้านในต.เขาหลวง อ.วังสะพุง เหยื่อเหมืองแร่ทองคำ พร้อมไล่ให้กลับไปรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในต.แม่ตาว แม่กุ และพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด ที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมกว่า 884 รายจากเหมืองแร่สังกะสี

วันนี้( 7 เม.ย.)ที่โรงแรมเลยพาเลซ อ.เมืองเลย ชาวบ้านห้วยม่วง และ หมู่บ้านใกล้เคียงในต.นาดินดำ อ.เมือง จ.เลย ในนามกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ จำนวนกว่า 1,000 คน เดินทางมาชุมนุมคัดค้านการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ จ.เลย ซึ่งจัดโดย วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กลุ่มผู้ชุมนุมได้นำป้ายข้อความคัดค้านการเปิดเหมืองแร่ทองแดง และผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยต่อต้านเหมืองแร่ทองแดงพร้อมทั้งนั่งปิดทางเข้า-ออกของโรงแรม เพื่อไม่ให้ผู้จัดงานดำเนินการประชุมได้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยกว่า 350 นาย โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด

นายชาลิน กันแพงศรี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ กล่าวว่า การที่กลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟจำเป็นต้องออกมาเป็นจำนวนมากขนาดนี้ เพราะว่าบริษัทภูเทพได้ว่าจ้างวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อหวังจะสร้างเหมืองแร่ทองแดงทับที่ดินทำกินและทำลายภูหินเหล็กไฟของพวกชาวบ้านให้พังพินาศย่อยยับให้จงได้ ซึ่งจะทำให้ก่อเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน

นายชาลินกล่าวอีกว่า พวกตนได้เห็นบทเรียนการทำเหมืองแร่ทองคำที่ภูทับฟ้าและภูซำป่าบอนที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย มาแล้ว ทุกวันนี้มีชาวบ้านรอบเขตเหมืองแร่ทองคำตรวจพบสารไซยาไนด์ ปรอท และโลหะหนักอื่น ๆ อีกหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ในกระแสเลือดในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายสิบราย ทำให้ต้องมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ร้อน กินไม่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวลต่อชีวิตที่ไม่ปกติสุขของตัวเอง

ดังนั้น พวกตนจึงไม่อยากมีชีวิตเหมือนชาวบ้านที่ตำบลเขาหลวง เมืองเลยมีเหมืองแร่มากมายแต่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตเหมืองแร่กลับเสื่อมโทรมลง ไม่เห็นมั่งมีศรีสุข อุดมสมบูรณ์ร่ำรวยเหมือนเจ้าของเหมืองแร่ที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรแร่ใต้ผืนดินทำกินของพวกตนเลย

พวกตนเห็นว่าการจัดเวทีวันนี้ไม่ชอบธรรม เพราะว่าบริษัทภูเทพหลอกลวงคนเมืองเลยว่าจะจัดเวทีในพื้นที่คำขอประทานบัตร 8 แปลง ประมาณ 2,000 กว่าไร่ แต่แท้ที่จริงแล้วบริษัทผาแดงภูเทพ ขอประทานบัตรพื้นที่ทั้งหมด 15,600 ไร่ ในเขตคาบเกี่ยวของ ต.นาดินดำ นาอานและนาโป่ง อ.เมือง และต.ท่าสะอาด อ.นาด้วง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ตรงไปตรงมา หลอกลวงปกปิดข้อเท็จจริงแก่คนเมืองเลย

ทั้งนี้ เพราะเกรงว่าถ้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น แล้วบอกความจริงว่าขอประทานบัตรบนพื้นที่ 15,600 ไร่ จะทำให้คนเมืองเลยตื่นตระหนกตกใจแล้วจะไม่ได้รับการสนับสนุน เนื่องจากเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจะรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้

ประธานกลุ่มอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟกล่าวอีกว่า ก่อนที่บริษัทภูเทพ จะเข้ามาทำเหมืองแร่ทองแดงหรือแร่ชนิดอื่นในเมืองเลย พวกตนก็ขอให้กลับไปดูแลรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในเขตต.แม่ตาว แม่กุและพระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมกว่า 884 ราย ในจำนวนนี้มี 40 รายที่เกิดอาการไตวาย และอีกกว่า 60 ราย ที่กำลังมีอาการไตวาย จากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่นั่น

“ เราขอถามว่าตลอด 30 ปี ที่มีบริษัทเอกชนทำเหมืองสังกะสีที่อ.แม่สอด มีชาวบ้านที่ล้มตายจากการมีสารพิษแคดเมียมปนเปื้อนในร่างกายกี่รายแล้ว แล้วยังจะมาทำเหมืองทองแดงและเหมืองแร่ชนิดอื่นที่เมืองเลย โดยขาดความรับผิดชอบเหมือนกับการทำเหมืองสังกะสีที่อ.แม่สอดอีกหรือ”

ด้านนายเกษม จันทร์แก้ว หัวหน้าโครงการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองแร่ทองแดงภูเทพ จ.เลย กล่าวว่า การจัดประชุมวันนี้เพียงเพื่อจะมารับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทผาแดง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทภูเทพ เพื่อรับทราบข้อมูล ปัญหาข้อกังวลต่างๆ ไปประมวลทำกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเอง

แต่ห้องประชุมรองรับประชาชนได้จำนวนน้อยกว่าที่เดินทางมา และมีทีท่าว่าจะเกิดความวุ่นวาย หากจัดประชุมวันนี้ไม่ได้ การดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายก็จะเริ่มต้นไม่ได้ ตนก็จะนั่งอยู่ตรงนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึง 5 โมงเย็นตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมานายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เดินทางมาที่ชุมนุม เพื่อเข้าหารือกับคณะผู้จัดงาน และตัวแทนบริษัทภูเทพ หลังการหารือ นายพรศักดิ์กล่าวว่า ได้เตรียมที่ประชุมสำรองไว้ให้แล้ว แต่ผู้จัดต้องให้ชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังและแสดงความเห็นด้วย โดยจังหวัดจะดูแลความปลอดภัยให้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการจัดเวทีดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพราะกลุ่มชาวบ้านประกาศว่า ไม่ว่าจะจัดเวทีที่ไหนก็จะตามไปคัดค้าน



กำลังโหลดความคิดเห็น