เลย-ผู้ว่าฯเลย เรียกประชุมผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหารและธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยวในอำเภอเชียงคานรวมถึงหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งตั้งชมรมผู้ประกอบการเชียงคาน เพื่อแก้ปัญหาและจัดระเบียบการให้บริการนักท่องเที่ยว หลังถูกยำเละบนสื่อออนไลน์คุณภาพบริการแย่ เอาเปรียบนักท่องเที่ยว
กระแส “เชียงคานฟีเวอร์”ในห้วง2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่พิสมัยบรรยากาศเมืองริมฝั่งโขงที่เงียบสงบ เรียบง่าย บ้านพัก อาคารไม้เก่าแก่หาดูได้ยากต่างหลั่งไหลมาเที่ยวแต่ละเดือนหลายหมื่นคน จนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเล็กๆที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตาม ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ติติงข้อบกพร่องของเมืองท่องเที่ยวน้องใหม่แห่งนี้ว่า ยังมีการบริหารจัดการไม่น่าประทับใจ ทั้งเรื่องความพร้อมการให้บริการนักท่องเที่ยว และราคาสินค้า-อาหารค่อนข้างสูงเกินไป
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ที่ ณ หอประชุมอำเภอเชียงคาน จ.เลย นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานจัดเสวนาโครงการ”สร้างอนาคตใหม่ เมืองเชียงคานจะสดใส” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการองค์กรเอกชนและพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการในเขตเทศบาลตำบลเชียงคานและ ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นนับร้อยคน
นายพรศักดิ์ เจียรณัย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ใน ปี 2553 จังหวัดเลย มี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวประมาณ 1,500,000 คน มีเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ราว 1,600 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนหน้านั้นร้อยละ 50 ในจำนวนนี้ อ.เชียงคาน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากกว่าสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องมีการหารือกับเจ้าของพื้นที่และผู้ประกอบการเพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจและการบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ อ.เชียงคาน เป็นแห่งแรกของ จ.เลย ที่ต้องนัดหารือถกประเด็นปัญหาต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาแม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากแต่ก็มีปัญหามากเช่นกัน โดยเฉพาะข่าวจากสื่อมวลชน จากกระทู้ในอินเทอร์เน็ตที่ติติงสภาพการจราจรที่แออัดไม่สะดวก จอดและใช้รถเขตห้ามจอด ราคาสินค้าสูงมากปกติหลายเท่าตัว ค่าบริการรถรับจ่าง จักรยานราคาแพง ร้านอาหารที่พักไม่เพียงพอ ไม่มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ราคาค่าห้องก็แพงมาก ห้องน้ำเหม็นไม่สะอาด รวมถึงปัญหาคนขายตั๋วรถโดยสารประจำทาง เชียงคาน-กรุงเทพฯ บริษัท บขส.999 บริการไม่ซื่อสัตย์เอาเปรียบลูกค้า ดังนั้น ต้องมีการจัดตั้ง”ชมรมผู้ประกอบการเชียงคาน” ขึ้นและต้องจัดให้มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นด้วยในเร็ววันนี้
“ ที่พัก สินค้าและราคาอาหารต้องมีป้ายแสดงราคาที่ใหญ่และชัดเจน ป้องกันการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว โดยสรุปก็คือให้ผู้ประกอบการที่พัก จัดตั้งชมรมผู้ประกอบการ และชมรมสามล้อและรถสองแถวรับจ้าง ซึ่งพาณิชย์จังหวัดจะรับผิดชอบดูแลประสานงาน”นายพรศักดิ์กล่าวและว่า
ในส่วนของชมรมร้านอาหาร มีสำนักงานการค้าภายในดูแลด้านป้ายแสดงราคา ขณะที่กลุ่มผู้ขายผู้ผลิตมะพร้าวแก้ว สินค้าที่ระลึกขึ้นชื่อของอำเภอเชียงคาน ก็มีพัฒนาการอำเภอเชียงคานดูแลด้านคุณภาพทางโภชนาการ
ด้านนายนาวา คงปิ่น นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคาน กล่าวยอมรับว่า การท่องเที่ยวเมืองเชียงคานมีปัญหาในด้านการจราจร เพราะแม้ มีป้ายห้ามเลี้ยวห้ามเข้าถนนชายโขงหรือถนนคนเดิน นักท่องเที่ยวหรือผู้ใช้ยวดยานพาหนะก็ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร เกิดปัญหาเป็นประจำ ผู้ประกอบการไม่สร้างความเข้าใจต่อนักท่องเที่ยว ถนนย่านชุมชนก็คับแคบ ตรอกซอยซอยเยอะหากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาเชื่อว่าจะเกิดปัญหามาก
ดังนั้น ต่อไปนี้ต้องจัดที่จอดรถให้เหมาะสม โดยจะจัดระเบียบการจอดยวดยานพาหนะใหม่ให้จอดตาม ลานหรือสนามของเทศบาลเชียงคาน ขณะนี้ได้เตรียมการไว้แล้ว ในเขตเทศบาลเชียงคานต้องจัดการจราจรทางเดียวและห้ามฝ่าฝืนเครื่องหมายการจราจรเด็ดขาดเพื่อความสะดวกและปลอดภัย และในช่วงเทศกาลที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวมากๆนั้นก็จะประสานกับทางวัดและโรงเรียนเป็นสถานที่จอดรถได้ด้วย
“สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กระทรวงสาธารณสุขมีโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัย ห้ามดื่มเหล้าและ เบียร์ ที่บริเวณถนนเลียบชายโขง ทั้งนี้เราต้องการให้ถนนเลียบชายโขงเป็นต้นแบบถนนเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์โดยเฉพาะ ตลอดแนวแม่น้ำโขงถนนมีระยะทาง ยาว 1. 7 กิโลเมตร”นายนาวากล่าว
สำหรับด้านที่พัก ตัวแทนของผู้ประกอบการให้ข้อมูลว่า ที่เชียงคานมีบริการทั้ง รีสอร์ต โฮมสเตย์ เกสเฮาส์ โรงแรม ก็ต้องให้ความสำคัญคุณภาพการบริการที่สะดวกสบาย อัธยาศัยที่ดี ส่วนราคานั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและระยะเวลาจำนวนวันที่เข้าพัก
ทั้งนี้ความต้องการของลูกค้าผู้ใช้บริการที่พักไม่เหมือนกัน ผู้ที่มาเที่ยวมาพักผ่อน มาทำบุญวัดเก่าจริง ๆ ก็ ต้องการซึมซับบรรยากาศบ้านไม้เก่าอายุนับร้อยปี เพื่อได้สัมผัสกับเครื่องเรือนไม้โบราณ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆที่ไม่เหมือนกัน เจ้าของที่พักต้องเข้าใจลูกค้าผู้ใช้บริการในประเด็นนี้ด้วย