xs
xsm
sm
md
lg

ชาวระยองหลายตำบลค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตฯ แปรรูปยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้ายแกนนำชาวบ้าน รวมตัวคัดค้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ริมถนนทางเข้า ต.กะเฉด ต.สำนักทองอ.เมืองระยอง
ระยอง - ชาวระยองหลายตำบลรวมตัวคัดค้านโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปยาง เตรียมพร้อมยกระดับการเคลื่อนไหวที่รุนแรง

จากกรณีที่มีโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง (โรงงานแปรรูปยางพารา) ตั้งอยู่ หมู่ 2 บ้านยายจั่น ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง พื้นที่จำนวน 2,441 ไร่ เงินลงทุน 3,240 ล้านบาท โดย บริษัท ไทรเบคก้า เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด เป็นเจ้าของ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลายตำบลที่อยู่ในรัศมี 5 กม.

ทั้งนี้ ได้มีการจัดกลุ่มสนทนาย่อยไปตามจุดต่างๆ โดยมีบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด (UAE) เป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ มีนางศุภรัตน์ โชติสกุลรัตน์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดให้กับประชาชนได้รับรู้ข้อมูล ว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง เป็นนิคมอุตสาหกรรมสำหรับผลิตยางขั้นปลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ และเป็นการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมยางอย่างเป็นระบบและทันสมัย และจัดทำเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตภัณฑ์ยางของไทยให้มีความหลากหลายและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

นางศุภรัตน์กล่าวว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มีกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายรวม 5 กลุ่ม จะคัดเลือกอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางสดและน้ำยางข้นในพื้นที่โครงการฯ กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในโครงการคือ 1.ผลิตภัณฑ์ยางล้อยานยนต์ 2.ผลิตภัณฑ์ยางชิ้นส่วนยานยนต์ 3.ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในการก่อสร้าง 4.ผลิตภัณฑ์สายพานชาวบ้าน 5.ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆเช่นลูกกลิ้งยาง ยางรัดของ ยางพื้นรองเท้าและผลิตภัณฑ์กีฬา โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต คือยางแท่ง ยางรมควันและยางเครพ ส่วนวัตถุดิบรองคือยางสังเคราะห์ สารเติมแต่งที่ใช้คือสารที่ทำให้ยางคงรูป หรือสารวัลคาไนซิ่ง เช่น กำมะถัน สารกัวนีดิน ไธอาโซล

ส่วนพื้นที่ประกอบการเขตอุตสาหกรรมโรงงาน คลังสินค้า บรรจุภัณฑ์ เขตพาณิชย กรรม บ้านพักอาศัยผู้บริหารและพนักงาน สำนักงานโครงการฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อที่ประมาณ 1,729 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค ถนน ประปา ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบบำบัดน้ำเสีย สถานีไฟฟ้าย่อย สถานีก๊าซ ชุมสายโทรศัพท์และอ่างเก็บน้ำ เนื้อที่ประมาณ 459 ไร่ พื้นที่สีเขียวและปลูกต้นไม้เป็นแนวป้องกันมลพิษเนื้อที่ประมาณ 253 ไร่ แผนการก่อสร้างโครงการระยะเวลา 2 ปี

นางศุภรัตน์กล่าวต่อว่า บริษัทที่ปรึกษาต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่รอบพื้นที่โครงการฯในรัศมี 5 กม. ซึ่งมีทั้งหมด 8 ตำบล คือ 1. ต.กะเฉด 2.ต.สำนักทอง 3.ต.แกลง 4.ต.นาตาขวัญ 5.ต.บ้านแลง 6.ต.สองสลึง 7.ต.ชากพง และ 8.ต.ตะพง

ด้าน นายธีระพล ลายประดิษฐ์ อายุ 34 ปีเลขที่ 10/2 หมู่ 1 ต.กะเฉด อ.เมืองระยอง แกนนำคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง กล่าวว่า พื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมกว่า 2 พันไร่เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมานาน การที่จะมาตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใจกลางชาวบ้านรวม 8 ตำบล ย่อมได้รับผลกระทบอันดับแรกเรื่องกลิ่น น้ำเสีย สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รวมทั้งเรื่องสารพิษที่ใช้ในขบวนการแปรรูปยาง น้ำเสียจากโรงงานที่ปล่อยลงคลองสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ในการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ทุกวันนี้ในพื้นที่ตำบลสำนักทอง ติดพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ถูกบุกรุกแผ้วถางปลูกยางพาราจำนวนมาก มีโรงงานยางพาราในพื้นที่หลายโรงงาน ชาวบ้านได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นและน้ำเสียมานานจนทุกวันนี้ ยังไม่มีการแก้ไขให้ชาวบ้านได้รับความพึงพอใจได้เลย แล้วจะมาตั้งโรงงานแปรรูปยางในพื้นที่ขึ้นมาอีก ชาวบ้านจึงต้องออกมาร่วมกันคัดค้าน โดยการติดป้ายคัดค้านบริเวณริมถนนทางเข้าโครงการฯตลอดเส้นทาง

นายธีระพลกล่าวว่า ชาวบ้านได้ช่วยกันติดตั้งป้ายคัดค้านบริเวณริมถนน แต่ถูกเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สำนักทอง ไม่พอใจทำการเก็บป้ายหมดโดยอ้างว่าไม่ได้ขออนุญาตติดป้ายก่อน เป็นการผิดกฎหมาย นอกจากนี้ป้ายคัดค้านถูกมือมืดลอบทำลายและเผาจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน และพร้อมที่จะออกมาคัดค้านจนถึงที่สุด

นายวินัย ตรงชื่น อดีตรองนายก อบต.กะเฉด กล่าวว่า ผลกระทบชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนแน่นอนโดยเฉพาะเรื่องน้ำเสียจากโรงงาน เพราะโรงงานมักจะไปตั้งใกล้คลองสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ในการเกษตร เรื่องกลิ่นเหม็น มันเหม็นแน่ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับกลิ่นเหม็นจากโรงงานยาง และโรงงานปลากระป๋อง หากมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางแปรรูปขึ้นมาอีกชาวบ้านจะไปสูดอากาศหายใจที่บริสุทธิ์ในพื้นที่ได้ที่ไหนอีก

ด้าน นายวิสูตร ปาระเวก เลขที่ 111/10 หมู่ 5 ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง กล่าวว่านิคมอุตสาหกรรมฯดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และเด็กนักเรียน รวมทั้งพระภิกษุ เมื่อมีนิคมอุตสาหกรรม ย่อมมีแรงงานต่างด้าว ประชากรแฝงตามมาอีกจำนวนมาก ปัญหายาบ้าระบาดหนักกว่าเดิม จึงต้องออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่
พื้นที่ตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง หมู่ 2 บ้านยายจั่น ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง พื้นที่ 2,441 ไร่ มีชาวบ้านที่อาศัยรอบนิคมอุตสาหกรรมฯในรัศมี 5 กม.รวม 8 ตำบล
เป็นบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ  เข้ามาชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ถึงรายละเอียดของโรงงานดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น