xs
xsm
sm
md
lg

พรรณไม้ในเมืองก็ดูดซับ “คาร์บอน” ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้นไม้ในเมืองก็มีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนได้ งานวิจัยอังกฤษระบุ (ภาพประกอบจากเอพี)
นักวิจัยอังกฤษเผยผลการศึกษาพบพรรณไม้ในเมืองก็ช่วยกักเก็บ “คาร์บอน” ได้ ไม่ว่าจะเป็นพืชในสวน สนามกอล์ฟ เขตปลอดอุตสาหกรรม ริมถนน และกักเก็บได้มากขึ้นอีกถ้าปลูกต้นไม้เพิ่ม สวนทางความเข้าใจเดิมว่าพื้นที่เมืองไม่มีแหล่งชีวภาพดูดซับคาร์บอน

งานวิจัยที่ดูเหมือนจะเพิ่มความหวังให้คนเมืองว่ายังพอต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อนได้บ้างนี้ เป็นผลงานของนักวิจัยอังกฤษ ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า พวกเขาได้สำรวจเมืองเลสเตอร์ (Leicester) ใจกลางของอังกฤษ ที่มีประชากรอยู่ราว 300,000 คนอาศัยอยู่ในพืนที่ 73 ตารางกิโลเมตร แล้วประเมินการดูดซับคาร์บอนจากสวนสาธารณะ สวนหย่อม พื้นที่ปลอดอุตสาหกรรม สนามกอล์ฟ สนามเด็กเล่นในโรงเรียน ริมถนนและริมแม่น้ำ

จากการศึกษาพวกเขาพบว่าพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นของเมืองกักเก็บคาร์บอนไว้ถึง 231,000 ตัน หรือมากกว่า 10 เท่าของที่เคยคาดกันไว้ ซึ่งปริมาณดังกล่าวมากพอๆ กับคาร์บอนที่รถยนต์ขนาดใหญ่กว่า 150,000 คันปล่อยออกมาตลอดทั้งปี ส่วน PhysOrg ระบุว่า ปริมาณคาร์บอนที่พื้นที่สีเขียวของเมืองกักเก็บไว้นั้นคิดได้เป็น 3.16 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ นักวิจัยได้ข้อมูลจากดาวเทียมและข้อมูลจากการสำรวจ

ดร.โซ เดวีส์ (Dr.Zoe Davies) จากมหาวิทยาลัยเคนท์ (University of Kent) ในอังกฤษ ซึ่งเป็นหัวหน้าในการศึกษาครั้งนี้ระบุว่า ต้นไม้ใหญ่นั้นมีความพิเศษต่อการกักเก็บคาร์บอน แต่คนส่วนใหญ่ในเลสเตอร์เป็นเจ้าของหรือจัดการพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นหญ้า หาก 10% ของพื้นที่เหล่านั้นปลูกต้นไม้แทนแล้ว แหล่งดูดซับคาร์บอนของเมืองน่าเพิ่มขึ้นเป็น 12%

“ต้นไม้ขนาดใหญ่ควรได้รับการดูแลและปกป้อง และหากจะปลูกต้นไม้ในพื้นที่เมืองเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนแล้ว จะต้องปลูกพืชที่ถูกชนิดในสถานที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ต้นไม้อยู่ได้ยืนนาน และเมื่อต้นไม้เหล่านั้นตายลงก็ควรจะหาใหม่มาปลูกทดแทน” ดร.เดวีส์กล่าว

ดร.เดวีส์ยังบอกอีกว่าพื้นที่ของอังกฤษที่ระบุว่าเป็นพื้นที่เมืองได้รับการประเมินว่าไม่มีแหล่งชีวภาพดูดซับคาร์บอน แต่การศึกษาของเธอและคณะชี้ให้เห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเธอได้เผยแพร่ผลงานลงวารสารเจอร์นัลออฟแอพพลายด์อีโคโลจี (Journal of Applied Ecology) ของสมาคมนิเวศวิทยาอังกฤษ (British Ecological Society)

ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 80% จากปี 1990-2050 ซึ่งข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นอาจช่วยเหลือรัฐบาลอังกฤษให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
มลพิษและคาร์บอนที่ถูกปลดปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ()
นักอนุรักษ์แต่งชุดเป็นโมเลกุลคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อรณรงค์ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเบอร์ลิน เยอรมนีเมื่อปี 2009 (เอเอฟพี )
กำลังโหลดความคิดเห็น