xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สหกรณ์สุกรนครปฐมยันโรคระบาดทำราคาหมูแพง คาดยาว 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายตฤณภัท ธนิตประภากุล อายุ 30 ปี ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรนครปฐม
นครปฐม - ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดนครปฐม แจงโรคระบาดทำหมูขาดตลาดบวกราคาต้นทุนการผลิตสูงทำให้ราคาหน้าฟาร์มสูง พร้อมรับกรมการค้าอั้นราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 81 บาท ต้องรอดูสถานการณ์วันต่อวันในการกำหนดราคา เชื่อราคาหมูแพงยืนระยะไม่น้อยกว่า 6 เดือน

วันนี้ (5 ส.ค.) นายตฤณภัท ธนิตประภากุล อายุ 30 ปี ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรนครปฐม เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาเนื้อสุกรมีราคาสูงในช่วงนี้นับเป็นประวัติการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนและมีปัจจัยหลักคือในเรื่องของโรคระบาดที่ทำให้สุกรมีน้อย รวมถึงราคาต้นทุนเช่นอาหารและยา รวมถึงแรงงานที่หายากเป็นปัจจัยที่ให้ราคาเนื้อสุกรแพงเป็นประวัติการณ์

โดยขณะนี้กรมการค้าภายในได้แจ้งมายังสหกรณ์ฯเพื่อพูดคุยกันแล้ว โดยมีการแจ้งมาว่า สุกรกหน้าฟาร์มต้องมีราคาระหว่าง 79-81 บาท ซึ่งทางสหกรณ์ก็ได้รับทราบและพร้อมรับนโยบายนี้ โดยจะตรึงราคาไปจนถึงช่วงสารทจีนที่จะถึงนี้จากนั้นจะมีการพิจารณากันอีกครั้งว่าจะมีข้อกำหนดใดและรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ด้วย โดยทางผู้เลี้ยงอยากให้มีการเจรจาตกลงและหลายก็ไม่พอใจหากจะมีการนำกฎหมายมาบีบให้กำหนดราคาโดยภาครัฐจนเกินไป

นายตฤณภัท กล่าวว่า เรื่องของราคาเนื้อสุกรมีราคาแพงนั้น ที่ผ่านมานานหลายสิบปีไม่เคยมีภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจังและไม่ได้มองว่าผู้เลี้ยงสุกรคือเกษตรกรและมองเป็นเหมือนผู้ลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มผู้เลี้ยงไม่เคยได้รับการดูแลที่ชัดเจนเลยหลังจากมีราคาตกต่ำมานาน แต่วันนี้ราคาที่แพลงขึ้นเพราะมีปัจจัยหลักคือโรคที่มาระบาดทำให้มีการสูญเสีย ประกอบกับการพับกิจการของผู้เลี้ยงรายย่อยที่ทานกระแสราคาเนื้อสุกรตกต่ำมานานจนรับสภาพไม่ไหว ทำให้ไม่มีสุกรออกมาเพียงพอต่อความต้องการ ตอนนี้สิ่งที่น่ากลัวคือการหวนมาระบาดซ้ำของโรคที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้ากลุ่มสหกรณ์ฯ ได้มีการผลักดันให้มีการตั้งกองทุน ในเรื่องภาษีกากถั่งเหลือง 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผลในการเลี้ยง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 1 ปี จะมีเงินทุนตรงนี้ราว 150-200 ล้านบาท ถ้าเก็บไว้ 4-5 ปีจะมีเงินสะสมกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งตรงนี้จะสามารถนำมาจัดการในเรื่องของกรณีเกิดโรคระบาด ปัญหาสุกรล้นตลาด และสามารถเก็บเนื้อสุกรแช่แข็งเพื่อพยุงราคาได้ และป้องกันการผันผวน แต่ก็ไม่ได้รับการนำมาจัดการแต่อย่างไร วันเราจึงมาเจอปัญหา 2 แรงบวกทั้งโรคระบาดและผู้เลี้ยงเลิกกิจการไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้ผู้เลี้ยงเจอคือเรื่องของราคาที่ลงตัวไม่ได้คือ การประกาศนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการประกันราคาข้าว 1.5 หมื่นบาท และค่าแรง 300 บาท เพราะเป็นต้นทุนทางด้านอาหารที่จะนำมาผลิตอาหารสุกรโดยวันนี้แรงงานที่เป็นการเกษตรยิ่งหายากอยู่แล้ว ยังมาเจอคนงานต่างด้าวบางคนบางกลุ่มจะเรียกร้องเงินค่าแรง 300 บาท มาเป็นแรงบวก

สำหรับจุดสูงสุดของราคาเนื้อสุกร ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นไร เพราะหากมีการระบาดโรคที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะโรค PRRS ซึ่งมีผลให้แม่สุกรแท้งลูกยิ่งจะทำให้มีเนื้อสุกรลดลงไปอีก นั่นก็จะเป็นปัจจัยทำให้ราคาเพิ่มขึ้น โดยวันนี้ยอมรับว่า ราคาลูกสุกร ขนาดน้ำหนัก 16 กิโลกรัม ได้เพิ่มจาก 2,000 บาทเป็น 2,400 บาทแล้ว ซึ่งเดิมผู้เลี้ยงจะจำหน่ายเนื้อสุกร ขนาด 100 -110 กิโลกรัม ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วมีการบีบให้มีการจำน่ายสุกรหน้าฟาร์ม 70 บาท ต่อกิโลกรัม ต้องถือว่าเป็นวิกฤติแล้ว เหมือนเราเลี้ยงไปรอวันขาดทุนข้างหน้า

แต่สำหรับวันนี้ ขนาด 90 กิโลกรัมก็ต้องขายแล้วเพราะเขียงหมูต้องการกันมาก และเชื่อว่าสถานการณ์ ราคาเนื้อสุกร มีราคาแพงนั้นจะมีไม่น้อยกว่า 6 เดือนหรือ 1 รอบการเลี้ยง ซึ่งผู้เลี้ยงก็ไม่ได้พอใจมากนักเพราะดูจากต้นทุน ในการจำหน่ายสุกรเป็น หน้าฟาร์ม 81 บาท ต้องมีต้นทุนแล้ว อย่างน้อย 66-68 บาท ผู้เลี้ยงเองคาดหวังว่า ได้กำไรจากสุกรที่เลี้ยง ตัวละ 500 บาทในระยะ 6 เดือนก็ดีใจแล้ว แต่ถ้ามาเจอโรคระบาดก็ถือว่าโชคร้าย นี่คือปัญหาที่ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ในจังหวัดนครปฐม กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ปิดกิจการไปก่อนหน้า

นายตฤณภัท กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้เลี้ยงเองก็ไม่อยากเอาเปรียบประชาชน แต่ในเมื่อภาครัฐไม่มีวาระในการจัดการที่เป็นระบบก็ยากจะแก้ปัญหา วันนี้คนที่อยู่ได้จึงเป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ที่มีทุนหนา หรือ สิ่งหนึ่งคือการผูกขาดของนายทุนรายใหญ่ที่จะเป็นผู้กำหนดราคาลูกสุกร โดยกลุ่มผู้เลี้ยงที่เป็นอิสระต้องคอยตั้งรับการราคาที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยภาครัฐแทบไม่มีส่วน เรื่องสุกรจึงเป็นเรื่องที่เรื้อรังมานาน

ส่วนกรณีที่ภาคใต้มีราคาเนื้อสุกรแพงจนมีการปิดเขียงหมูเพื่อประท้วงนั้น ยอมรับว่า ต้นทุนทางภาคใต้นั้นสูงกว่าภาคกลางเพราะต้องนำวัตถุดิบลงไปทั้งหมด ซึ่งวิธีแก้เบื้องต้น น่าจะมีการชดเชยให้กับผู้เลี้ยงไปสักระยะเพื่อไม่ให้มีการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค เรื่องเหล่านี้ต้องแก้กันทั้งระบบ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงการคลัง

และวันนี้เรื่องโรคระบาด เรื่องเงินทุน เรื่องการตลาดและการประกันราคาไม่มีการวางระบบที่ชัดเจน และเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขหากไม่มีการพัฒนาองค์กรสหกรณ์ สมาคม หรือชมรมที่ชัดเจนและแข้งแกร่งเพื่อจะไปเสนอข้อมูลทีมีแต่ภาครัฐ วันนี้นครปฐมแม้จะมีผู้เลี้ยงในจังหวัดนครปฐมเป็นอันดับหนึ่งแต่ราชบุรีมีจำนวนสุกรมากเป็นอันดับหนึ่ง และการจัดโซนพื้นที่สีเขียวในการเกษตรก็ยังไม่ชัดเจน

"หากเป็นเช่นนี้ผู้ลี้ยงในจังหวัดนครปฐมจะมีแต่ลดลงไปทุกวันเพราะทนสภาพการขาดทุนและแบกรับหนี้ไว้ไม่ไหว โดยรัฐบาลชุดใหม่ควรจะทบทวนเรื่องนี้และทำอย่างจริงจังเสียที"
กำลังโหลดความคิดเห็น