ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ป.ป.ท.” บุกตรวจ จนท.รัฐปล่อยนายทุน-ผู้มีอิทธิพลฮุบป่าสาธารณะ อ.สูงเนิน โคราช ร่วม 4,000 ไร่ เผยพบ ส.ค.1-ภ.บ.ท.5 บินข้ามเขตแถมออก ส.ป.ก.4-01 ทับที่สาธารณประโยชน์ ระบุ รายใหญ่ยึดครองถึงคนละ 1,000-2,000 ไร่ ล่าสุด หน่วยงานท้องถิ่นตื่นแจ้งความจับนายทุนแล้วกว่า 10 ราย ด้าน เลขาฯ ป.ป.ท.ย้ำกัดไม่ปล่อย เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐสุมหัวนายทุนบุกรุกที่ป่าของประเทศ
ช่วงบ่ายวันนี้ (9 ส.ค.) นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม พร้อม นายเพิ่มพูน พึ่งประสิทธิ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ท.และ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนจากราษฎรหมู่ 6 บ.หนองพะยอม ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา มีกลุ่มนายทุน ผู้มีอิทธิพลบุกรุกเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของและเรียกเก็บเงินค่าเช่า ในที่ป่าสาธารณประโยชน์ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองแก้ว หนองกรุง ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ร่วม 4,000 ไร่ โดยมี นายประภาส รักษาทรัพย์ นายอำเภอสูงเนิน พร้อมชาวบ้าน ได้นำคณะเข้าตรวจสอบพื้นที่
นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการ ป.ป.ท.เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า ที่ป่าสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกหนองแก้ว หนองกรุง มีเนื้อที่กว่า 3,995 ไร่ ได้มีการออกเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) อย่างชัดเจนแล้วจำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 3,558 ไร่ ส่วนที่เหลืออีก 400 ไร่ นั้น ในขณะที่มีการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มีการคัดค้านโดยผู้คัดค้านอ้างว่า ตนเองมี ส.ค.1 แต่จากการตรวจสอบของสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสูงเนิน พบว่า ส.ค.1 ทั้งหมดนำมาจาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา แล้วมาสวมเพื่อออกโฉนดที่ดิน และสำนักงานที่ดินฯ สาขาสูงเนิน ได้ปฏิเสธที่จะออกโฉนดที่ดินให้ ผู้ขอออกโฉนดที่ดินจึงได้ยื่นอุทธรณ์ และจังหวัดมีคำสั่งยืนตาม สำนักงานที่ดินฯ สาขาสูงเนิน และไม่มีการยื่นฟ้องศาลปกครองเรื่องจึงสิ้นสุด มีเพียงแปลงเดียว คือ เลขที่ดิน 3 ที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในขณะนี้
จากการลงดูสภาพพื้นที่จริงวันนี้ พบว่า พื้นที่ป่าสาธารณประโยชน์ดังกล่าว มีการบุกรุกเข้าไปปลูกอ้อย ต้นสัก ยางพารา มันสำปะหลัง เต็มพื้นที่ และพบว่า บุคคลที่บุกรุกเป็นเครือญาติของกำนันคนหนึ่งร่วมกับนายทุน ผู้มีอิทธิพล ซึ่งอยู่ในพื้นที่ อ.ปักธงชัย อ้างเป็นเจ้าของที่ดินรวมกว่า 1,083 ไร่ และได้ให้ชาวบ้านเช่าปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ในราคาไร่ละ 500-600 บาท/ปี ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ท.ได้มอบหมายให้ทางอำเภอสูงเนิน และ อบต.ในพื้นที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายทุนและผู้บุกรุกแล้วรวมกว่า 10 ราย ในจำนวนนี้มีรายใหญ่ 2 ราย บุกรุกยึดครองที่ดินรายละ 1,000 ไร่ และ 2,000 ไร่ พร้อมให้เร่งดำเนินการในการนำพื้นที่ที่เหลืออีก 400 ไร่ ออกเป็น น.ส.ล.ให้ครบทั้งหมด
นายอำพล กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ดังกล่าว ยังพบว่า ได้มีการออกใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) ในที่สาธารณประโยชน์ซึ่งไม่สามารถทำได้ และมีการออกใบ ภบท.5 ข้ามเขต คือ โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตะคุ อ.ปักธงชัย ได้ออกใบ ภบท.5 ข้ามเขตรับผิดชอบของตนเองโดยมาออกในพื้นที่ อ.สูงเนิน ในที่สาธารณประโยชน์โคกหนองแก้ว หนองกรุง ดังกล่าว ซึ่ง ป.ป.ท.จะได้ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ อบต.ที่ออก ภ.บ.ท.5 ดังกล่าว และที่สำคัญเอกสารดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นหลักสำคัญในการครอบครองที่ดิน
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า มีการออก ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่สาธารณประโยชน์แปลงนี้ด้วยเบื้องต้นมีประมาณ 22 ไร่ ซึ่งไม่ทราบว่า ออก ส.ป.ก.ทับที่สาธารณประโยชน์มาได้อย่างไร เรื่องต้องตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.
นายอำพล กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ กลุ่มนายทุนที่เข้ามาบุกรุกป่าได้แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่นำสัตว์เข้าเลี้ยงใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่สาธารณประโยชน์แห่งนี้ โดยอ้างว่าบุกรุกพื้นที่ส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้จะได้ตรวจสอบว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ตำรวจเข้าไปดำเนินคดีกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านมีสิทธิ์ที่จะนำสัตว์มาเลี้ยงหรือมาทำประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์ได้อยู่แล้ว ที่สำคัญทราบว่า ชาวบ้านถูกจับกุมและจำคุกถึง 3 เดือน ประเด็นนี้สำคัญมาก ไม่ทราบว่า ตำรวจใช้กฎหมายข้อไหน หรือมีอำนาจอะไรไปจับกุมชาวบ้านเหล่านั้น เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดเพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐต่อไป
“ขอยืนยันว่า ป.ป.ท.จะดำเนินการเรื่องนี้แบบติดตามต่อเนื่อง หรือเรียกว่า กัดไม่ปล่อย โดยจะประเมินผลกันทุก 3 เดือน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมต่อไป” นายอำพล กล่าว
ด้าน นายหวาน เลิศสระน้อย อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 103 ม. 6 บ.หนองพะยอม ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ประชาชนพยายามต่อสู้เพื่อนำผืนที่สาธารณประโยชน์กลับคืนมาเป็นของส่วนรวมนานกว่า 10 ปี ทั้งเดินทางไปร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดนครราชสีมา และ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แต่ก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแล และร้องเรียนไปทางอำเภอสูงเนิน เรื่องก็เงียบหายไป
“พื้นที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย จะนำสัตว์เลี้ยงเข้าไปก็ไม่ได้ ตนเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และดีใจที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ลงมาตรวจสอบ หากได้พื้นที่กลับคืนมาชาวบ้านจะช่วยกันปลูกป่าโดยขอกล้าไม้จากกระทรวงเกษตรฯ ถวายในหลวง เพื่อให้เป็นพื้นที่ป่าชุมชนที่ทุกคนในตำบลในหมู่บ้านสามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้” นายหวาน กล่าว