นครปฐม - เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูนครปฐม รายเล็กจอดป้าย หลังสู้กระแสต้นทุนการผลิตไม่ไหว ปิดฟาร์มร้างหลายราย วอนรัฐอย่ากดดันราคาจำหน่ายแต่ต้องควบคุมต้นราคาสินค้าต้นทุนการผลิตด้วย ด้านผู้แปรรูปครวญไม่ต่างกันโดนซ้ำกระแสแปรรูปไก่หยุดนิ่งหลังเจอพิษไก่เน่าโคราช
วันนี้ (4 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวได้ติดตามสถานการณ์ราคาเนื้อสุกรที่มีราคาแพง โดยในพื้นที่ จ.นครปฐม ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งหลังจากมีผลกระทบในเรื่องของเนื้อสุกรมีราคาแพงทำให้ประชาในพื้นที่ จ.นครปฐม ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประชาชนทั่วประเทศไม่ต่างกัน
นายสุภาพ เฉลิมธำรงค์ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 ม.5 ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าวว่า ในฟาร์มของตนเองเป็นผู้ผลิตลูกสุกร ออกจำหน่ายให้กับฟาร์มต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยพบว่าหลังเนื้อสุกรมีราคาแพง ทำให้ผู้เลี้ยงรายย่อยนั้นถึงกับต้องปิดฟาร์มไปแล้วหลายเจ้าและเป็นปัญหาต่อเนื่องที่เกิดขึ้นมานานหลายปี กระทั่งมาถึงช่วงนี้ทำให้ทานแรงราคาต้นทุนที่สูงไม่ไหว ตอนนี้ผู้ที่อยู่ได้ คือ ผู้เลี้ยงขนาดกลางและขนาดใหญ่เท่านั้น
ส่วนรายเล็กลูกค้าไม่มีมาซื้อลูกหมูไปเลี้ยงมาระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนของตนเองเคยมีแม่หมู พอสมควรประมาณ 1 พันกว่าตัว วันนี้ก็ลดปริมาณลงไปมาก เพราะไม่มีลูกค้ารายย่อยมาหาซื้อลูกสุกรเพราะไม่มีทุนจะเลี้ยง
นายสุภาพ บอกว่า วันนี้ที่ราคาเนื้อสุกรแพงขึ้นก็เพราะมาจาก 2 สาเหตุ คือ เรื่องโรคระบาด ที่มาอย่างรุนแรง ทำให้ลูกสุกรและแม่สุกร ตายไปไม่น้อย บางรายตายยกฟาร์มก็มีและหากจะรักษาตัวหมูเอาไว้ก็ต้องใช้วัคซีนที่มีราคาแพงมารักษา แน่นอนทำให้ต้นทุนขยับแน่นอน ประกอบกับต้นทุนเช่นข้าว รำ มีราคาแพงขึ้น เรื่องนี้หลีกหนีไม่พ้นที่เป็นปัจจัยหลักของราคาหมูแพง
“แต่ถ้าหากอยากจะให้ราคาเนื้อสุกรลดลงจำเป็นต้องมีการควบคุมต้นทุนทั้งยาและอาหาร รวมถึงการดูแลเรื่องค่าแรงอีกด้วย เพราะพวกหนี้เป็นปัจจัยทั้งหมด โดยจากการพูดคุยกับผู้เลี้ยงในจังหวัดนครปฐมนั้น มีปริมาณมากก็จริงแต่วันนี้ไปดูได้ มีแต่ฟาร์มล้างเยอะมากเพราะผู้เลี้ยงรับสภาพการเป็นหนี้ไม่ไหว และแต่ก่อนรัฐบาลจะควบคุมแต่ราคาสุกร แต่ไม่มีการให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ ทุกวันนี้คนจึงแห่ไปที่จังหวัดราชบุรีกันมากขึ้น”
นายสุภาพ กล่าวต่อว่า วันนี้ราคาลูกสุกรที่อายุ 2 เดือน น้ำหนัก 16 กิโลกรัม ก็จะขายออกอยู่ที่ตัวละ 2.2 ถึง 2.4 พันบาท สิ่งที่ฟาร์มของตนเองทำได้ คือ ลดต้นทุนทั้งปริมาณการเลี้ยงที่ลดลง ลดคนงาน เพื่อให้เหมาะกับสภาพความเป็นจริง และเชื่อว่า ราคาจะสูงอยู่ในระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาผู้เลี้ยงจะโดนกำหนดราคาจำหน่ายเนื้อสุกรที่เหมือนโดนกดดันราคาให้ไม่สูงเกินไป แต่ไม่ได้มีการมาช่วยเหลือในการควบคุมต้นทุนการผลิตแต่อย่างใด
ด้าน นายทวี กุลคำธรกิตติ์ ผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป เจ้าของร้าน ร้านบ้านเทศ เลขที่ 1391 ม.3 ต.ธรรมศาลา อ.เมือง จ.นครปฐม กล่าวว่า ช่วงนี้จำนวนผู้รับประทานเนื้อสุกรแปรรูปนั้นลดลงบ้าง เนื่องจากร้านของตนเองจะมีลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่เลือกรับประทานสินค้าที่ได้คุณภาพ แม้จะมีราคาที่สูงกว่านิดหน่อย แต่เชื่อมั่นในกระบวนการผลิต จึงมีผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มหน้าเขียง ที่จำหน่ายเนื้อสุกร
ปัญหาราคาสุกรมีราคาสูงนั้นตนเองไม่เคยพบมาก่อน เราเคยแต่มีปัญหาราคาเนื้อสุกรตกต่ำ จากที่เคยเจอราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้เราต้องซื้อเนื้อสุกรถึงราคา 140-150 บาทต่อกิโลกรัม เรียกว่า เกือบเท่าตัว แต่เราก็ไม่สามารถไปขยับราคาสินค้า เช่น กุนเชียง หมูหยอง หมูแผ่น ได้มากนัก เพราะเราต้องเจอกับผู้บริโภคโดยตรง และต้นทุน เช่น น้ำมันหมู จากเดิมราคา 20-30 บาท วันนี้ทะลุมา 50 บาทแล้ว
จากการสอบถามก็พบว่า ผู้ผลิตน้ำมันหมูได้เพิ่มราคาน้ำมันเพียง 1 บาทต่อ 1 กิโลกรัม แต่ต้นทุน หนังหมู ไปที่ 4-5 บาทแล้ว ซึ่งมันแตกต่างกัน คือ ทุกอย่างแพงหมด วิธีที่เราแก้ได้ คือ ปรับสูตรให้เหมาะกับผู้บริโภค และเชื่อว่า ปัญหาราคาแพงน่าจะอยู่ในราว 1 ปี โดยผู้บริโภคจะเจอสภาวะนี้ เนื่องจากต้นทุนทุกอย่างแพงหมด ทางผู้ผลิตแปรรูปก็ต้องเพิ่มราคา ตรงนี้ถ้าจะช่วย คือ รัฐบาลต้องมาควบคุมราคาสุกรจากฟาร์มอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้ระบบนายทุนขนาดใหญ่มาเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ลูกสุกรไปถึงการผลิตออกมาเป็นข้าวกล่อง ซึ่งไม่มีประเทศไหนเค้าทำกัน และกระบวนการนี้ผุ้ผลิตรายใหญ่ก็จะมีแต่กำหนดราคาได้ด้วยตัวเองผู้เลี้ยงผู้แปรรูปอื่นๆ ที่เป็นขนาดกลางและเล็กอยู่ไม่ได้
นายทวี กล่าวอีกว่า วันนี้กลุ่มผู้เลี้ยงสุกรในจังหวัดนครปฐม ได้เปลี่ยนตัวเองมาเป็นผู้ทำการแปรรูปมากขึ้น เพราะมีทิศทางดีกว่าการเลี้ยง เพราะจะอย่างไร ราคาจะเป็นแบบใดผู้เลี้ยงจะโดนกดดันก่อน แล้วจะมาถึงผู้ผลิตแปรรูป ซึ่งวันนี้เราได้มีการรวมตัวกันและหารือ คือ ลดปริมาณการผลิตให้น้อยลง เพราะผลิตมากสินค้าก็ขายไม่ได้ และรอดูสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไร เพราะเราต้องตรวจสอบราคาเนื้อสุกร แบบวันต่อวันเพื่อนมาคำนวณการผลิตให้เหมาะสมและเราอยู่ได้ด้วย
นายทวี บอกอีกว่า สำหรับร้านตนเองผลกระทบอาจจะน้อย เพราะเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่ม แต่ที่น่าตกใจ คือ ผู้บริโภคลดการรับประทานเนื้อไก่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากมีกระแสข่าว ไก่เน่าที่โคราช โดยไก่หยองที่ร้านตนเองขายดีเป็นอันดับต้นๆ กลับไม่มีลูกค้าเลือกซื้อ เพราะบอกว่ากลัวจะเจอเนื้อไก่ที่เป็นข่าว และยอมรับว่า ที่ร้านเคยที่พ่อค้าเร่มาจำหน่ายให้ แต่ได้ปฏิเสธไปเพราะเราเน้นสินค้าคุณภาพ วันนี้ลูกค้าเลือกจะมารับประทานอาหารประเภทปลา เช่นปลาหยองแทน เรียกว่า ตอนนี้ต้องจับตาดูสถานการณ์ต่างๆ อย่างเกาะติดสถานการณ์ เพราะจะมีความเสี่ยงกับสภาวะขาดทุนได้โดยเป็นไปทั้งระบบหมดแล้วตอนนี้