xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงชาว “วังน้ำเขียว” เป็นเครื่องมือนายทุน - “ทับลาน” ลุยสั่งรื้อรีสอร์ตอีก 20 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รีสอร์ตบ้านไร่กฤษวรรณ จำนวน 17 หลัง บนพื้นที่ 18 ไร่  ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา1 ใน 15 รายใหญ่  ที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ติดป้ายประกาศสั่งรื้อถอน
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “อุทยานฯ ทับลาน” ลุยติดป้ายสั่งรื้อถอนรีสอร์ต บ้านพักหรูบุกรุกป่า วังน้ำเขียว-นาดี เพิ่มอีก 20 แห่งพรุ่งนี้ คาดดำเนินการเสร็จทั้งหมด 105 รายกลางเดือนนี้ จี้ผู้บุกรุกต้องรื้อถอนใน ต.ค. เผยห่วงชาวบ้านตกเป็นเครื่องมือนายทุนถูกปลุกระดมออกมาม็อบต่อต้าน ล่าสุดส่ง จนท.ลงทำความเข้าใจทุกหมู่บ้านแล้ว ย้ำ ปชช.ถือครองพื้นที่อยู่เดิมไม่กระทบและอุทยานฯไม่เคยแจ้งจับชาวบ้านแม้แต่รายเดียว ระบุพิสูจน์สิทธิแก้ปัญหาตามมติ ครม. มิ.ย.41 ให้ชาวบ้านแล้วกว่า 2 พันราย

วันนี้ (2 ส.ค.) นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการกับกลุ่มนายทุนบุกรุกพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ตาม “โครงการคืนผืนป่าให้แผ่นดิน” ว่า ล่าสุดเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารและทำหนังสือแจ้งไปยังผู้บุกรุก หลังลงสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติมแล้ว โดยในวันพรุ่งนี้ (3 ส.ค.) เจ้าหน้าที่จะลงไปติดป้ายประกาศอุทยานฯ สั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามอำนาจในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพิ่มเติมอีกประมาณ 20 แห่ง

โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดของเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา ซึ่งรับผิดชอบในโซนพื้นที่ จ.นครราชสีมา ไปดำเนินการติดป้ายประกาศอุทยานฯ ในเขต อ.วังน้ำเขียว 10 แห่ง และชุดของเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี ซึ่งรับผิดชอบโซนพื้นที่ป่า จ.ปราจีนบุรี ดำเนินการติดป้ายประกาศอุทยานฯ ในเขต อ.นาดี อีก 10 แห่ง ซึ่งคาดว่าส่วนที่เหลืออีกประมาณ 70 แห่ง จะเร่งดำเนินการติดป้ายประกาศอุทยานฯ ให้ครบทั้งหมดไม่เกินกลางเดือนนี้แน่นอน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางอุทยานฯ ได้ดำเนินการติดป้ายสั่งรื้อถอนไปแล้วทั้ง 2 อำเภอ 15 ราย จากผู้บุกรุกทั้งหมดที่มีดารแจ้งความดำเนินคดี ส่งฟ้องศาลและศาลมีคำพิพากษา นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน 105 ราย แบ่งเป็นมีสิ่งก่อสร้าง 50 ราย ไม่มีสิ่งก่อสร้าง 55 ราย รวมเนื้อที่บุกรุก 4,274 ไร่

“ส่วนการดำเนินการกับผู้บุกรุกรายใหม่นั้นอยู่ระหว่างการสำรวจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหากพบการบุกรุกก็จะแจ้งความเพิ่มเติม แต่ในเบื้องต้นจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บุกรุกรายใหม่แต่อย่างใด โดยหลังจากมีข่าวออกไปมาก ทำให้การบุกรุกป่าอุทยานฯมีน้อยลง และยังทำให้ผู้ที่กำลังอยู่ระหว่างการบุกรุก รีบถอนตัวออกนอกพื้นที่ไปเพราะเกรงจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” นายเทวินทร์กล่าว

นายเทวินทร์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีกระแสการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือถูกปลุกระดมจากบางกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์จากการบุกรุกป่า ซึ่งทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนฟื้นฟู ลงพื้นที่พบปะทำความเข้าใจกับประชาชนวันละ 1-2 หมู่บ้านเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบข้อเท็จจริงว่า ทางอุทยานฯ ไม่ได้ดำเนินการกับประชาชนที่เคยถือครองพื้นที่อยู่เดิม ทุกคนยังคงใช้ชีวิตและประกอบอาชีพรวมถึงใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่เคยถือครองได้ตามปกติ และอย่าตกเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่มที่พยายามไปปลุกระดมให้ชาวบ้านออกมาเพียงเพื่อหวังผลประโยชน์ของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง

“ขอย้ำว่าการดำเนินการของอุทยานฯ ทับลาน ขณะนี้เป็นคดีเก่าทั้งหมด และคดีอยู่ในชั้นศาล ไม่ใช่เพิ่งจะมาแจ้งความดำเนินคดี และไม่มีชาวบ้านในพื้นที่คนใดที่ถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความดำเนินคดีเลย ทั้งหมดเป็นกลุ่มนายทุนที่เข้ามาก่อสร้างบ้านพัก รีสอร์ต และปลูกยางพาราหรือพืชอื่นๆ ในเขตอุทยานฯ ฉะนั้นชาวบ้านไม่ต้องตกใจหรือกังวล ทุกคนยังสามารถอยู่ในพื้นที่เดิมต่อไปได้ตามปกติ ซึ่งมีมติ ครม.2541 รองรับอยู่แล้ว” นายเทวินทร์กล่าว

นายเทวินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับประชาชน ในการตรวจสอบการถือครองที่ดิน ตามมติ ครม.30 มิ.ย. 2541 นั้น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เขตจังหวัดปราจีนบุรี มี 2,533 ราย พื้นที่ 3,482 แปลง รวมกว่า 3.5 หมื่นไร่ ได้มีการพิสูจน์การถือครองไปแล้ว 1,802 ราย พื้นที่ 2,204 แปลง รวมกว่า 1.8 หมื่นไร่ ผลปรากฏว่าเข้ามาอยู่ก่อน 1,581 ราย พื้นที่ 2,075 แปลง รวมกว่า 1.6 หมื่นไร่ และอยู่หลัง 199 ราย พื้นที่ 266 แปลง รวมพื้นที่กว่า 1.9 พันไร่

ส่วนการตรวจสอบการถือครองตามมติ ครม.ปี 2541 ในพื้นที่อุทยานฯ เขต จ.นครราชสีมา ได้มีการพิสูจน์การถือครองไปแล้ว 603 รายพื้นที่ 779 แปลง รวม 8,434 ไร่ ผลปรากฏว่าเข้ามาอยู่ก่อน 94 ราย พื้นที่ 141 แปลง รวม 1,429 ไร่ อยู่หลัง 510 ราย พื้นที่ 638 แปลง รวม 7,005 ไร่

ต่อข้อถามที่ว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ทำการติดป้ายประกาศให้ผู้บุกรุกเขตอุทยานฯ ดำเนินการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างไปในกลุ่มแรก 15 รายนั้น จนถึงขณะนี้ได้มีการดำเนินการรื้อถอนออกไปอย่างไรหรือไม่ นายเทวินทร์กล่าวว่า ในกลุ่มแรกที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปติดป้ายประกาศและแจ้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปนั้นเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล มีเพียง 1 รายที่แจ้งความจำนงในการขอเจรจากับเจ้าหน้าที่ซึ่งคาดว่าอีก 1-2 วันนี้น่าจะเข้ามาพบกับตนที่อุทยานฯ

“หากยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ผู้บุกรุกทั้ง 105 ราย ต้องทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากเขตอุทยานฯ ให้หมด หากไม่รื้อถอนเจ้าหน้าที่จะเข้าไปทำการรื้อถอนเองเพราะให้เวลาค่อนข้างนานแล้ว” นายเทวินทร์กล่าว


บ้านกุลละวณิชย์ ม.1 ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จำนวน 19 หลังบนพื้นที่ 79 ไร่ ถูกติดป้ายสั่งรื้อถอนเช่นกัน
ภายในบริเวณ บ้านกุลละวณิชย์

บ้านพักซุกป่า
บ้านกลบดิน เจ้าหน้าที่บุกจับล่าสุดเมื่อ มิ.ย.ที่ผ่านมา
บ้านกลบดิน สร้างบ้านพักตาอากาศหรูแบบฝังดินริมหน้าผา เขตอุทยานฯ ม.2 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว
นายเทวินทร์  มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน
รีสอร์ต ส.ส. ชื่อดัง อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ในที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 500-600 ไร่ จัดสรรปี 2538 ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเดิมจาก “โพธิ์คำดรากอนฮิลล์”  เป็น “โกลด์เมาท์เท่น วังน้ำเขียวรีสอร์ท”

กำลังโหลดความคิดเห็น