ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สภาที่ปรึกษาฯร่วมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ถกปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินภาษีส่งออกยางที่พุ่งสูง จนเป็นเหตุให้เกิดการลักลอบหนีภาษีส่งออกยางผ่านชายแดนมาเลเซีย ขณะที่สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย มีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดลงจากกิโลฯ ละ 5 บาท เป็น 1.40 บาท คงเดิม
คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง และคณะทำงานการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจและสนับสนุนเครือข่าย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมยางแห่งประเทศไทย สมาคมยางพาราไทย สมาคมน้ำยางข้นไทย สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ได้จัดสัมมนาเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้า/ส่งออกสินค้าเกษตร กรณีศึกษา : การลักลอบส่งยางออกโดยไม่จ่าย CESS เมื่อวันที่ 29-30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องสงขลา A โรงแรมไดอิชิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาคฯ สป.เปิดเผยภายหลังการสัมมนาว่า ปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินภาษีจากการส่งออกยาง หรือที่เรียกว่า เงิน CESS ที่มีการปรับอัตราการจัดเก็บใหม่ตามขั้นบันไดหากยางพารา ราคาสูงก็จะจัดเก็บสูงตามไปด้วยยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่วงการยางพาราไม่ยอมรับ ทั้งประเด็นอัตราการจัดเก็บที่เพิ่มสูงขึ้นและประเด็นการประกาศให้สิทธิ์ชำระเงิน CESS อัตราเดิมให้แก่ผู้ที่มีสต๊อกยางและสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยขณะนี้ ราคายางเกิน 100 บาท การจัดเก็บเงิน CESS อยู่ที่อัตรา 5 บาทต่อกิโลกรัม จากอัตราเดิมที่จัดเก็บอยู่ที่ 1.40 บาทต่อกิโลกรัม
ประธานคณะทำงานเศรษฐกิจฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาข้างต้น สมาคมยางพาราไทยและสมาคมน้ำยางข้นไทย ซึ่งจัดการประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ที่หาดใหญ่ มีมติคัดค้านประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องหลักเกณฑ์การให้สิทธิ์ชำระเงิน cess หรือเงินภาษีส่งออกยางในอัตราเดิม ลงนามโดย นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2554
ทั้งนี้ เพราะประกาศกระทรวงดังกล่าวไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ทำให้ผู้ประกอบการที่สุจริตไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจในกิจการยาง ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากกำหนดสัญญา AFET ต้องทำก่อน 4 มิถุนายน 2553 จึงจะได้รับสิทธิ์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้และเงื่อนเวลาไม่มีเหตุผล เช่น ส่งออกยางโดยอ้างอิงสัญญาล่วงหน้ามีสิทธิ์ไม่เกิน 1 ปี แต่ส่งออกยางโดยอ้างอิงสต็อกมีสิทธิ์ได้เพียง 3 เดือน เป็นต้น รวมทั้งการให้สิทธิเฉพาะสัญญาขายล่วงหน้าที่มีราคาตายตัว ไม่สอดคล้องกับมติของสมาคมฯ มติของคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
“หากไม่มีการดำเนินการตามมติ สมาคมทั้งสองจะงดเว้นการทำกิจกรรมร่วมกับภาครัฐ ที่มีส่วนในการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จนกว่าเรื่องการคืนเงิน CESS จะยุติ ทั้งนี้จะให้ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิ์ของสมาชิกทุกท่าน รวมทั้งจะทำทำหนังสือคัดค้านและไม่ยอมรับประกาศดังกล่าว และขอเข้าพบรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งใหม่ที่เข้าใจในกิจการยาง และมีความเป็นธรรม”
นายอุทัย กล่าวต่อไปว่า หลังจาก 2 สมาคมยางพาราฯ มติข้างต้น ได้ทำหนังสือไปยังสมาชิกทั้งหมดและยื่นเสนอต่อนายศุภชัย โพธิ์สุ รักษาการรมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะที่กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำหนังสือตอบโต้มายังสมาคมยางพาราทั้ง 2 ทำให้เกิดความขัดแย้งในวงการยางพารายิ่งขึ้นไปอีก
“ผมมองเห็นข้อบกพร่อง เห็นจุดแตกต่างที่ก่อให้เกิดความแตกแยกทางความคิดแก่วงการยางซึ่งไม่เคยมีมาก่อน นับเป็นการเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มคนบางกลุ่มที่แสวงหาผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 7 ล้านคน จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดการลักลอบหนีภาษียางพารา เกิดความเหลี่ยมล้ำ และเกิดช่องว่างในการเก็บเงิน CESS ที่ไม่เท่าเทียมกัน ประเทศผู้ผลิตยางทั่วโลกที่มีกว่า 20 ประเทศไม่มีการเก็บเงิน CESS ยกเว้นมาเลเซียที่เก็บ CESS เพียง 1.40 บาท ขณะที่ไทยเก็บตามอัตราส่วน ซึ่งจากราคายางที่สูงขึ้นขณะนี้จัดเก็บในอัตรา 5 บาท ทำให้ขณะนี้เกิดปัญหาลักลอบยางไปขายยังมาเลเซียเป็นจำนวนมาก”
นายอุทัย กล่าวว่า การลักลอบส่งออก จะมีการขนในลักษณะกองทัพมด คือ เกษตรกรนำไปขายวันละหลายเที่ยว หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ขนส่งออกยางไปทางทะเล หรือแม้แต่การทุจริตขนส่งออกทางด่านศุลกากรตามจุดต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติมูลค่ามหาศาล เพราะหากพิจารณาย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้เกิดความเหลื่อมล้ำจากการส่งออกยางพาราเป็นมูลค่ามหาศาลมาก ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 ได้มีการประชุมสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมโดยขอให้มีการปรับเงิน CESS ไปที่อัตราเดิมที่ 1.40 บาท โดยได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลผ่านทางคณะผู้จัดงานในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย
นายอุทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นองค์กรที่สะท้อนปัญหา จากประชาสู่รัฐจึงได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพร้อมกับได้ลงพื้นที่ จ.สงขลา เพื่อรับทราบถึง ข้อมูล และปัญหา จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เพื่อนำเสนอ ครม.เพราะยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทำรายได้สู่ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น ประโยชน์จึงควรตกอยู่กับเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับชาวสวนยางตามเจตนารมณ์ที่ได้ต้องไว้ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางฯ มากกว่าที่ผลประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน ข่าวประกอบ)