น่าน - ปศุสัตว์จังหวัดน่าน ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว พื้นที่บ้านนากอก ตำบลตาลชุม อำเภอเวียงสา หลังพบมีหมูป่วยและตายเป็นจำนวนมาก เตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายคุมเข้มเจ้าของฟาร์ม
วันนี้ (21 ก.ค.)นายนพพร มหากันทา ปศุสัตว์จังหวัดน่าน เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ว่า ที่ตำบลตาลชุม และตำบลจอมจันทร์ อ.เวียงสา จ.น่าน มีหมูป่วยตายที่ฟาร์มจำนวนมาก ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์ฯ นำโดยสัตวแพทย์หญิง อ้อมฤทัย ใจจันทร์ สัตวแพทย์ชำนาญการ และทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ได้เข้าตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงหมูตามรับแจ้งแล้ว เบื้องต้นยังไม่พบการแพร่ระบาดของโรคในหมู แต่พบหมูหลายตัวมีสภาพอ่อนแอ และยังพบในลักษณะคล้ายกันในฟาร์มใกล้เคียงอีกจำนวน 8-9 ฟาร์ม
พร้อมกันนั้น ได้สุ่มเก็บตัวอย่างของหมูและน้ำเสียภายในฟาร์มดังกล่าว และฟาร์มเลี้ยงหมูในพื้นที่ ต.ตาลชุม อ.เวียงสา ซึ่งมีทั้งผู้เลี้ยงหมูทั้งรายย่อย ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่งตรวจที่ศูนย์พัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง เพื่อเพาะเชื้อหาเชื้อโรคหรือโรคระบาดที่เกิดในหมู
แต่เพื่อป้องกันการเกิดโรคในฟาร์มสุกรของเกษตรกรรายอื่นๆ และป้องกันการแพร่กระจายของโรคไปยังท้องที่อื่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน จึงขอประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ตั้งแต่บ้านนากอก หมู่ที่ 6 ตำบลตาลชุม อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ไปทางทิศเหนือ จรดบ้านหลับหมื่นไตย หมู่ที่ 5 ตำบลตาลชุม อำเภอเวียงสา ไปทางทิศใต้ จรดบ้านนาเคียน หมู่ที่ 2 ตำบลจอมจันทร์ อำเภอเวียงสา ไปทางทิศตะวันออก จรดบ้านครกคำ หมู่ที่ 4 ตำบลตาลชุม อำเภอเวียงสา ไปทางทิศตะวันตก จรดบ้านตาลชุม หมู่ที่ 1 และบ้านตาลชุม หมู่ที่ 7 ตำบลตาลชุม อำเภอเวียงสา เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคพีอาร์อาร์เอส ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการในระบบทางเดินหายใจ และระบบสืบพันธุ์ในสุกร โรคระบาดร้ายแรงของสุกร ตั้งแต่ 20 ก.ค.-19 ส.ค.54
ทั้งนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสุกร หรือซากสัตว์ดังกล่าว เข้า-ออก หรือผ่านในเขตนั้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ ห้ามมิให้เจ้าของหรือบุคคลใดเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยไปจากบริเวณนั้น และให้เจ้าของสัตว์แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือสารวัตร หรือสัตวแพทย์ แล้วแต่กรณีภายใน 12 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่สัตว์ป่วย และในกรณีสัตว์ตาย ให้เจ้าของควบคุมซากสัตว์นั้นให้คงอยู่ ณ ที่สัตว์ตาย ห้ามมิให้เจ้าของหรือบุคคลอื่นใดเคลื่อนย้ายหรือกระทำการอย่างใดแก่ซากสัตว์นั้น และให้เจ้าของแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือสารวัตร หรือสัตวแพทย์แล้วแต่กรณีภายใน 12 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่สัตว์ตาย
พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือสารวัตร หรือสัตวแพทย์ ไม่อาจมาตรวจซากสัตว์นั้นภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่สัตว์ตาย ให้เจ้าของฝังซากสัตว์นั้น ใต้ระดับผิวดิน 50 เซนติเมตร สำหรับสัตว์ใหญ่ให้พูนดินกลบหลุมเหนือระดับผิวดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตรอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคในสุกรและลดความสูญเสียจากโรคระบาดดังกล่าว โดยต้องทำความสะอาดและล้างมือ จุ่มรองเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ก่อนเข้าฟาร์มหรือคอกเลี้ยงสุกรทุกครั้ง และสังเกตอาการป่วยของสุกรในฝูงอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับอาการของสุกรที่ป่วยด้วยโรค PRRS จะแสดงอาการมีไข้สูง ผิวหนังเป็นปื้นแดง ร่วมกับอาการป่วยที่เกิดขึ้นในหลายระบบ เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท และเกิดขึ้นได้ในสุกรทุกอายุ หากพบอาการดังกล่าวให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล ผู้ใหญ่บ้าน หรือปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ให้ทราบทันที