xs
xsm
sm
md
lg

ทร.ทุ่มงบกว่า 400 ล้านสร้างที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเรือเอกกำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ณ สนามบินอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กองทัพเรือทุ่มงบ 468 ล้านบาท สร้างที่พักผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา รองรับนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ ความจุถึง 1,200-1,500 คน มุ่งเน้นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ และทางทหาร พื้นที่ภาคตะวันออก

วันนี้ (20 ก.ค) พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อาคารที่พักผู้โดยสาร ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ณ สนามบินอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ เทศวิศาล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ พล.ร.ต.พังพล ศิริสังข์ไชย ผู้บัญชาการกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ และบังคับบัญชาหน่วยขึ้นตรงพื้นที่สัตหีบ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้เดินทางมาร่วมให้การต้อนรับ และแสดงความยินดี

ผู้บัญชาการทหารเรือกล่าวว่า ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาพัทยา หรือสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง และอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานคร อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 18 เมตร ห่างจากจังหวัดประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 190 กิโลเมตร

ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ และกองการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ภายใต้การดูแลของ กองทัพเรือ ริเริ่มโครงการ ในปี พ.ศ. 2504 สืบเนื่องจากกองทัพเรือ ต้องการก่อสร้างสนามบินทหารเรือ จึงดำเนินการสำรวจพื้นที่บริเวณจังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ในเวลานั้นกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติให้ฝูงการบินทหารเรือ สังกัดกองเรือยุทธการ โดยใช้สนามบินกองทัพอากาศดอนเมืองเป็นสนามบินชั่วคราว

ต่อมากองบัญชาการทหารสูงสุดได้อนุมัติสร้างสนามบินแห่งใหม่ของกองทัพเรือ บริเวณหมู่บ้านอู่ตะเภา จังหวัดระยอง โดยเป็นทางวิ่งลาดยางความยาว 1,200 เมตร เมื่อการก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย ในขณะนั้นได้เกิดการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ และประเทศลาว

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นว่าต้องสร้างสนามบินขนาดใหญ่ในประเทศไทยเพิ่มเติม ในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลไทย และสหรัฐอเมริกา จึงได้มีโครงการร่วมกันโดยคณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา ในปี พ.ศ. 2508 เพื่อเป็นหน่วยในการลำเลียงหน่วยรบไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ภายในประเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 1 ปี ในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีคำสั่งให้ กองทัพเรือใช้ในราชการ และดูแลรักษาสนามบิน โดยใช้ชื่อว่า “สนามบินอู่ตะเภา”

เมื่อ พ.ศ. 2519 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังทหารออกจากประเทศไทย รวมทั้งสนามบินอู่ตะเภาด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ และเป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมือง หลังจากการปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา โดยกรมการบินพาณิชย์ คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรใช้ประโยชน์จากสนามบินอู่ตะเภามากขึ้น จึงพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานสากล โดยใช้ชื่อว่า “สนามบินนานาชาติระยอง-อู่ตะเภา” ภายใต้สังกัดของกองทัพเรือ โดยให้พัฒนาเป็นสนามบินพาณิชย์ร่วมกับการการบินพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 มีการเปิดให้ใช้สนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ในการระบายผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศ แทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองที่ถูกปิด เนื่องจากมีการชุมชุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกด้วย

ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา หรือสนามบินอู่ตะเภา จึงได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพของสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา-พัทยา เพื่อให้มีความสามารถในการให้บริการเครื่องบิน และผู้โดยสาร ซึ่งมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น จนกระทั่งอาคารพักผู้โดยสารหลังเดิม มีความแออัดมากในช่วงฤดูการท่องเที่ยว รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 468 ล้านบาท ว่าจ้างบริษัท แอสคอนคอนสตรัคชั่นจำกัด (มหาชน) ในการจัดสร้างอาคารรับรองผู้โดยสารหลังใหม่ ในรูปแบบ 2 ชั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพ เพิ่มความสะดวก และความปลอดภัยมากขึ้น สามารถรองรับอากาศยานขนาดใหญ่เข้า-ออกได้พร้อมกันครั้งละ 4 เครื่อง และจำนวนผู้โดยสารมากถึง 1,200-1,500 คน โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้างจำนวน 550 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น