xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทจีนติด "อันดับบริษัทชั้นนำ ฟอร์จูน 500" เพิ่มจากปีที่แล้ว 15 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิตยสารฟอร์จูนเผยการจัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก 500 อันดับ ประจำปี 2554 โดยมีกลุ่มบริษัทจีนรายใหม่ๆเข้ามายึดครองอันดับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ขณะที่บริษัทอเมริกันหลุดออกจากทำเนียบบริษัทชั้นนำโลกชุดนี้ ไปแล้วกว่า 60 รายในช่วง 9 ปีมานี้

การจัดอันดับบริษัทชั้นนำ 500 อันดับ ประจำปี 2554 โดยนิตยสารฟอร์จูน ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลด้านธุรกิจเศรษฐกิจ ระบุบริษัทจากแผ่นดินใหญ่ (ไม่รวมไต้หวัน) 61 บริษัทติดอันดับฯ ซึ่งเพิ่มจากปีที่แล้ว 15 บริษัท และนับเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันที่บริษัทชั้นแนวหน้าของจีนติดอันดับเพิ่มขึ้น หากย้อนไปในปี พ.ศ. 2546 มีบริษัทของจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 11 บริษัทที่ได้ครองอันดับในทำเนียบบริษัทชั้นนำโลกนี้

สำหรับปีนี้กลุ่มบริษัทชั้นนำสัญชาติอเมริกันก็ยังคงครองอันดับฯมากที่สุด เท่ากับ 133 บริษัท โดยมีวอล-มาร์ต ครองอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 ตามด้วยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อีก 3 รายคือ เอ็กซอน โมบิล เชฟรอน และโคโนโคฟิลิปส์

กลุ่มบริษัทจากญี่ปุ่นกวาดอันดับมากที่สุดรองลงมา เท่ากับ 68 บริษัท อย่างไรก็ตาม หากนับบริษัทชั้นนำของไต้หวันที่ติดอันดับด้วยแล้ว ประเทศจีนจะมีบริษัทแนวหน้าที่ติดอันดับฯถึง 69 ราย ซึ่งเท่ากับว่าได้แซงหน้าญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย จะเป็นรองก็เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

และที่น่าสนใจและติดตามกันต่อไปก็คือ ขณะที่กลุ่มบริษัทชั้นนำของจีนได้ขึ้นทำเนียบ “การจัดอันดับฟอร์จูน 500” เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 8 ปีมานี้ จำนวนบริษัทอเมริกันในการจัดอันดับดังกล่าวกลับลดลงเป็นเวลาถึง 9 ปีติดต่อกัน คือจากปี พ.ศ. 2545 ที่มีบริษัทอเมริกันติดอันดับฯถึง 197 บริษัท เหลือเพียง 133 บริษัทในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มบริษัทชั้นนำของจีนที่ได้ติดอันดับเมื่อปีที่แล้วทุกราย ต่างขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับสูงขึ้น และกลุ่มบริษัทจีนรายใหม่ 15 บริษัท ที่ติดอันดับฯ ได้แก่ “เหลียนเสี่ยงจี๋ถวน” (Lenovo Group ที่ 449 ของโลก) “จงกั๋วหย่วนหยาง” (China Ocean Shipping ที่ 398 ของโลก) อีก 13 บริษัทที่เหลือนั้นได้รับการจัดอันดับเป็นครั้งแรก ได้แก่ “โส่วกังจี๋ถวน” (Shougang Group ที่ 325 ของโลก) “จงกั๋วโหยวเจิ้งจี๋ถวน” (China Post Group ที่ 342 ของโลก) “จงกั๋วเตี้ยนจื่อ” (China Electronics ที่ 407 ของโลก) “จงกั๋วเถี่ยลู่อู้จือ” (China Railway Materials Commercial ที่ 429) “จงกั๋วโหยวหัง” (China National Aviation Fuel Group ที่ 430) “บริษัท Sinomach” (ที่ 434) “บริษัท Henan Coal and Chemical Industry Group” (HNCC ที่ 445) “จี้จงเหนิงหยวน” (Jizhong Energy Group ที่ 457 ของโลก) “จงกั๋วฉวนป๋อ” (China Shipbuilding Industry ที่ 462) “จงกั๋วไท่ผิงหยาง” (China Pacific Insurance Group ที่ 466) “จงกั๋วฮว่ากงจี๋ถวน” (ChemChina ที่ 474) “เจ้อเจียงอู้ฉ่านจี๋ถวน” (Zhejiang Materials Industry Group ที่ 483) และ “บริษัท ไฉเลี่ยวจี๋ถวน จำกัด” (China National Building Materials Group ที่ 484 ของโลก)

บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่ทั้ง 61 บริษัทนี้ มีมูลค่ารายได้รวมกว่า 2,890,600,000,000 (สองล้านแปดแสนเก้าหมื่นหกร้อยล้าน) ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.08 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีน (GDP) กำไรโดยรวมอยู่ที่176,100,000,000 (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นหกพันหนึ่งร้อยล้าน) ดอลลาร์สหรัฐ เปรียบเทียบกับมูลค่ารายได้ของบริษัทอเมริกันทั้ง 133 บริษัทรวมกัน เท่ากับ 7,662,800,000,000 (เจ็ดล้านหกแสนหกหมื่นสองพันแปดร้อยล้าน) ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 52.3 ของ GDP กำไรรวมอยู่ที่ 484,400,000,000 (สี่แสนแปดหมื่นสี่พันสี่ร้อยล้าน) ดอลลาร์สหรัฐ

การเปรียบเทียบภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของวิสาหกิจระหว่างบริษัทชั้นนำของจีนกับสหรัฐฯ ต่อไปนี้น่าสนใจมาก เพราะทำให้เห็นว่าขนาดเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังห่างชั้นกันมาก

ประการแรก บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ กระจายอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ 35 ภาค ขณะที่มีบริษัทจีนที่ติดอันดับฯมาจาก 22 ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเท่านั้น ในจำนวนนี้มี 17 ภาคฯ ที่ทั้งสองประเทศมีบริษัทชั้นนำติดอันดับเหมือนกัน พิจารณาอย่างง่ายๆ จะพบว่าบนเวทีระหว่างประเทศ มีภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจถึง 18 ประเภทที่บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ชั้นนำอันแข็งแกร่งจากแดนมังกร (อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ยาสูบ ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ ของใช้ในครัวเรือน การบินพาณิชย์ อุตสาหกรรมบันเทิง เวชภัณฑ์และยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เป็นต้น) แต่สำหรับบริษัทจีนในตลาดระหว่างประเทศนั้น พบว่ามีบริษัทจากเพียงภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจ 5 ประเภท ที่ไม่มีคู่แข่งชั้นนำจากสหรัฐฯ มาต่อกรด้วย โดย 5 ภาคฯดังกล่าวได้แก่ “วัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง บริการขนส่งสินค้าทางเรือ เครื่องจักรอุตสาหกรรม การค้า และการติดตั้งสาธารณูปโภค”

ประการต่อมา กลุ่มบริษัทจีนที่ติดอันดับฯมาจากภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะมากที่สุด เท่ากับ 8 บริษัท ขณะที่บริษัทอเมริกันจากภาคผลิตภัณฑ์โลหะที่ติดอันดับ มีเพียงบริษัทเดียว กลุ่มบริษัทอเมริกันจากภาคธุรกิจประกันภัยติดอันดับมากที่สุด เท่ากับ 15 บริษัท ขณะที่มีบริษัทประกันภัยจีนที่ติดอันดับ เพียง 4 บริษัทเท่านั้น

ประการสุดท้าย ประเทศจีนมีบริษัทจากภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ติดอันดับ 4 บริษัท ขณะที่สหรัฐฯ มีเพียง 3 บริษัท เห็นได้ว่าประเทศจีนไม่เพียงมีตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุด แต่อาจจะมีบริษัทที่ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกอยู่ด้วย

การจัดอันดับ 500 บริษัทชั้นนำโลกโดยนิตยสารฟอร์จูนปีนี้ ได้กำหนดเกณฑ์สำหรับบริษัทที่จะติดอันดับฯ ต้องมีมูลค่าสินทรัพย์ขั้นต่ำถึง 19,500,000,000 (หนึ่งหมื่นเก้าพันห้าร้อยล้าน) ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยับขึ้นจากปีที่แล้ว 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากบริษัท 61 รายของจีนที่ติดอันดับ พบว่าเป็นธุรกิจเอกชนเพียงสองบริษัท คือ บริษัทหฺวาเหวย (Huawei Technologies) และกลุ่มบริษัทเจียงซูซากัง (Jiangsu Shagang Group)

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว นายแอล ไมเคิล คาเคซ บรรณาธิการอาวุโสผู้พิจารณาการจัดอันดับบริษัทชั้นนำโลกแห่งนิตยสารฟอร์จูน ได้เดินทางเยือนจีน และได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2555 จำนวนบริษัทจีนที่ติดอันดับ “500 บริษัทชั้นนำโลก” จะมีถึง 75 บริษัท และในพ.ศ. 2557 จะพุ่งขึ้นเป็น 100 - 110 บริษัท

ด้านสื่อจีนก็แสดงความเชื่อมั่นว่าจะมีวิสาหกิจจีนติดอันดับมากขึ้น โดยขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาดของจีนลงลึกมากขึ้น กำแพงกีดกันการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม/ธุรกิจและขอบเขตข้อจำกัดต่างๆก็จะลดลงเรื่อยๆ และบริษัทภาคเอกชนของจีนก็จะติดอันดับมากขึ้นด้วยเช่นกัน.




กำลังโหลดความคิดเห็น