xs
xsm
sm
md
lg

กรมข้าวติวเข้ม“ชาวนาชั้นนำ”รับศึก“AFTA” - ทุ่ม 128 ล้าน ผุดศูนย์ข้าวชุมชุน 5 จว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมการข้าว เปิดอบรมชาวนาชั้นนำ ปี 2554 ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา รองรับผลกระทบเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ที่ จ. สุรินทร์ วันนี้ (12 ก.ค.)
สุรินทร์ - กรมการข้าวติวเข้ม “ชาวนาชั้นนำ” รับมือผลกระทบ “AFTA” พร้อมทุ่ม 128 ล้าน ตั้งศูนย์ข้าวชุมชนนำร่อง 5 จังหวัดๆ ละ 11 ศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนฯ การเพิ่มผลผลิตข้าว-ลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพ หลังพบชาวนาปลูกข้าวด้อยคุณภาพเหตุเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้นาน พร้อมตั้งศูนย์บริหารจัดการศัตรูพืชชุมชน เฝ้าระวังเตือนภัยให้เกษตรกร โดยเฉพาะโรคใบไหม้ข้าวที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เผยจับมือ 9 กรม กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าเต็มสูบ

วันนี้ ( 12 ก.ค.) สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมทองธารินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว เป็นประธานเปิด “โครงการอบรมชาวนาชั้นนำ ปี 2554” ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนา เพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ปี 2553-2555 จัดขึ้นโดย สำนักส่งเสริมการผลิตข้าวและสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาชาวนาที่เป็นชาวนาชั้นนำ ให้เป็นผู้ที่มีความรู้และมีความสามารถเป็นวิทยากรข้าวและพร้อมเปิดโรงเรียนชาวนาเพื่อถ่ายทอดความรู้เรื่องการผลิตข้าวแก่ชาวนาที่สนใจในชุมชน โดยมีชาวนาชั้นนำจากศูนย์ข้าวชุมชนที่เป็นศูนย์หลัก และศูนย์เครือข่ายปี 2554 ในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ สุรินทร์ , อุดรธานี , อำนาจเจริญ และ จ.นครสวรรค์ จังหวัดละ 11 ศูนย์ รวม 44 ศูนย์ ๆ ละ 5 คน จำนวน 220 คน เข้าร่วมอบรมเป็นวิทยากรประจำศูนย์ข้าวชุมชนในครั้งนี้

นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ให้ความสำคัญและได้อนุมัติงบประมาณ 128 ล้านบาท ให้ดำเนินการนำร่องทั้งหมด 5 จังหวัด ประกอบด้วย อ่างทอง , นครสวรรค์ ส่วนภาคอีสานประกอบด้วย จ. สุรินทร์, อุดรธานี และ จ. อำนาจเจริญ

โดยกรมการข้าวได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีหลักการสำคัญคือ จะมีการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนทั้งหมด 11 ศูนย์ในแต่ละจังหวัด และ มีศูนย์หลัก 1 ศูนย์ที่ได้รับการคัดเลือกประจำจังหวัด ซึ่งจะเป็นศูนย์ข้าวชุมชนเข้มแข็งและมีความดีเด่น พร้อมได้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ประจำศูนย์หลัก ทั้ง ลานตาก ยุ้งฉาง เครื่องคัดเมล็ดพันธุ์ และ เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ

ส่วนอีก 10 ศูนย์เครือข่าย จะทำงานร่วมกันเพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้รับการสนับสนุนเรื่องของโครงการหมู่บ้านลดต้นทุนการผลิต , แปลงเรียนรู้ ,การสร้างมูลค่าเพิ่ม , การผลิตเมล็ดพันธุ์ และ ศูนย์บริหารกำจัดศัตรูพืช สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ และหากศูนย์ข้าวชุมชนเกิดความสำเร็จ เราจะสามารถขยายผลไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดอื่นๆ ได้ในอนาคต

นายชัยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ในโครงการดังกล่าวนี้สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวัง คือ การแก้ปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพ เนื่องจากพบข้อมูลว่าชาวนาที่ปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ ข้าวเหนียว กข. 6 นั้น ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้นานเกินไป ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตด้อยคุณภาพ ซึ่งศูนย์ข้าวชุมชนทั้ง 11 ศูนย์ ในแต่ละจังหวัดจะเป็นศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่สำคัญด้วย โดยวางเป้าหมายผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวศูนย์ละประมาณ 50 ตัน รวม 11 ศูนย์ จำนวน 550 ตัน และจะเพิ่มเป็นศูนย์ละ 100-200 ตัน ต่อไปในอนาคต

ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีการลดต้นทุนการผลิตข้าวนั้น เป็นปัญหาสำคัญที่พี่น้องเกษตรกร มีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่ใช้เงินลงทุนในเรื่องของปุ๋ย สารเคมี และเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างมาก ฉะนั้นกิจกรรมหมู่บ้านลดต้นทุนการผลิต การค้าข้าวจะเป็นการทำงานร่วมกันในหลายหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ประมาณ 9 กรม ทั้งการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูล ให้ความรู้ การจัดทำแปลงเรียนรู้ แปลงสาธิต สิ่งเหล่านี้เกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจากการเรียนรู้จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายชัยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่มีความเป็นห่วงคือการบริหารจัดการ ศัตรูข้าว ปัญหาโรคไหม้ใบข้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงมาก จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการศัตรูพืชชุมชน โดยจะมีการรายงานผล การสำรวจและเฝ้าระวัง การเตรียมการป้องกัน พยากรณ์ เตือนภัยให้เกษตรกรทราบด้วย อีกประเด็นหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งและเหมาะสำหรับภาคอีสาน คือการสร้างมูลค่าเพิ่ม จะมีการฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยี เกี่ยวกับเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้ข้าวขาวดอกมะลิ 105 สามารถขายได้ในราคาสูงสุด ในรูปแบบของการแปรรูป และ แพ็กเกจต่างๆ

“สำหรับจังหวัดสุรินทร์ นับเป็นโอกาสดีที่มีการส่งเสริมพัฒนาข้าวขาวดอกมะลิ 105 มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สุรินทร์มีชื่อเสียงในเรื่องข้าวขาวดอกมะลิ 105 รวมทั้งข้าวอินทรีย์ด้วย ซึ่งถือเป็นต้นแบบของประเทศและสิ่งหนึ่งคือในเรื่องเทคโนโลยีที่ได้กล่าวมานั้น พี่น้องชาวนาทั้งหลาย ยังไม่สามารถขยายผลได้อย่างทั่วถึง ฉะนั้นโครงการดังกล่าวจะเข้ามาเสริมแนวนโยบายของจังหวัดได้ดำเนินการในเรื่องข้าวขาวดอกมะลิ 105 รวมทั้งข้าวอินทรีย์ ให้ขยายผลได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น”นายชัยฤทธิ์ กล่าว


นายชัยฤทธิ์  ดำรงเกียรติ  รองอธิบดีกรมการข้าว




กำลังโหลดความคิดเห็น