xs
xsm
sm
md
lg

COMMODITY CORNER:"ข้าว " สินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกลืม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากพูดถึงการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักและคุ้นเคยกันพอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนในทองคำ น้ำมัน หรือแม้แต่พืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา แต่จะมีสักกี่คนที่จะนึกถึง "ข้าว " พืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของไทย ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้มหาศาลให้แก่คนในชาติ แต่ยังเป็นอาหารหลัก เป็นวิถีชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และความเชื่อต่างๆ ของชาติไทย

ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องการลงทุนใน “ข้าว” หรือแม้แต่เหตุผลที่ทำให้การลงทุนในข้าวไม่เป็นที่นิยม เรามาทำความรู้จักข้าวให้ลึกซึ้งมากขึ้น แล้วจึงมาตอบคำถามกันว่า "ข้าว" เป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่น่าลงทุนหรือไม่ และเพราะเหตุใดในปัจจุบันสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าจึงไม่ได้รับความนิยม รวมถึง อนาคตสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยข้าวที่คนไทยนิยมบริโภคนั้นคือข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ส่วนข้าวที่นิยมปลูกมากที่สุดในประเทศไทยคือข้าวเจ้า ประเภทที่เรียกว่า "ข้าวอินดิกา" ซึ่งเป็นข้าวเจ้าที่มีเมล็ดยาว ต้นสูง ต้องการช่วงแสงที่สั้นกว่า 12 ชั่วโมง แต่มีข้อเสียคือไม่ค่อยตอบสนองต่อปุ๋ย ให้ผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำ โดยแหล่งเพาะปลูกข้าวส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในแถบที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ทั้งนี้ชาวนาไทยจะเพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูฝน (ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายน) เรียกว่า "ข้าวนาปี" และจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์

นอกจากนี้ยังมีข้าวที่ปลูกนอกฤดูฝน เรียกว่า "ข้าวนาปรัง" ที่จะปลูกในที่ที่มีการชลประทานที่ดี ซึ่งโดยปรกติจะทำได้ปีละประมาณ 2-3-ครั้ง สำหรับพันธุ์ข้าวที่ปลูกนั้น ในอดีตชาวนาจะเป็นผู้เลือกพันธุ์เอง โดยระหว่างการเพาะปลูกก็จะพึ่งดินฟ้าอากาศเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ แต่ปัจจุบันหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนด้านการปลูกข้าว และส่งเสริมเทคโนโลยีในการปลูกข้าว เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันข้าวปทุมธานี กรมวิชาการเกษตร ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และเพิ่มคุณภาพข้าวของไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพดินฟ้าอากาศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดปริมาณสินค้าเกษตร เช่น ปริมาณข้าวที่ออกสู่ตลาดในแต่ละช่วง แตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถกำหนดปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการได้ นอกจากนี้การที่ข้าวเป็นสินค้าที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทย รัฐบาลจึงต้องเข้ามาดูแลราคาข้าว โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะมีหน้าที่กำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกและราคาข้าวสาร ส่วนกรมการค้าต่างประเทศจะกำกับดูแลเรื่องการส่งออกข้าว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการเสริมอื่นๆ ในการเข้ามาดูแลราคาข้าวไม่ให้สูงหรือต่ำเกินไปอีกด้วย

ถึงตอนนี้ท่านคงรู้จักข้าวมากขึ้น ในสัปดาห์หน้าเราจะมาติดตามความรู้พื้นฐานเหล่านี้กันต่อ เพราะหากท่านสนใจจะหันมาลงทุนในสินค้าข้าวแล้วล่ะก็ ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น