xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯกรุงเก่า เผย จ่ายค่าชดเชยให้เหยื่อเรือน้ำตาลล่มเบื้องต้นแล้ว ยันสร้างบ้านให้กลับสภาพเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยา เผย ความคืบหน้าผลเจรจาจ่ายค่าชดเชยให้แก่เหยื่อเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม โดยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายในเบื้องต้นไปแล้ว และพร้อมให้การดูแล ซ่อมแซม รวมทั้งสร้างบ้านให้กลับสู่สภาพเดิม

วันนี้ (14 มิ.ย.) นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงผลการเจรจาการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้เสียหายกรณีปัญหาเรือน้ำตาลล่มที่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.ภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ที่ผ่านมา ทางจังหวัดและทีมอัยการจังหวัดได้เรียกตัวแทน 4 บริษัท คือ 1.กลุ่มบริษัท JNP (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ว่าจ้างให้มีการขนส่งน้ำตาลทางเรือ 2.บริษัท อัลฟ่า มารีน ซัพพลาย จำกัด ที่เป็นเจ้าของเรือและรับการว่าจ้างขนส่งน้ำตาลทางเรือ 3.บริษัท ไทยรวมทุนคลังสินค้า จำกัด ที่เป็นเจ้าของโกดังน้ำตาลก่อนที่จะขนส่งลงเรือลำที่เกิดเหตุ และ 4.บริษัท น้ำตาล สระบุรี จำกัด ที่เป็นผู้ผลิตและเจ้าของน้ำตาลมาประชุมร่วมกันชาวบ้านที่เสียหายอย่างเป็นทางการไปแล้ว 2 ครั้ง คือ วันที่ 10 และ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีการประสานงานนอกรอบอีกหลายครั้ง

ล่าสุด วันนี้มีข้อยุติในเบื้องต้นและเป็นข้อยุติทีมีทิศทางที่ดีมากเช่นกัน เพราะมีข้อสรุปตัวเลขและแนวทางการจ่ายเงินชดเชย รวมถึงเงื่อนไขเวลาการชดเชยแล้ว โดยแนวทางการช่วยเหลือแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.แนวทางแรกช่วยเหลือชดเชยกรณีบ้านพังเสียหาย และ 2.กรณีความเสียหายในภาคประมง

นายวิทยา กล่าวว่า กรณีบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบตรงจุดเกิดเหตุ 5 หลังพบว่า หลังที่ 1 ของ นางละเอียด มาทอง เสียหายทั้งหลัง ได้รับเงินช่วยเหลือจากการบริจาคและเงินทดรองราชการไปแล้วทั้งสิ้น 52,000 บาท ได้รับค่ารื้อถอน 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 67,000 บาท และทางบริษัทจะสร้างบ้านให้อยู่ชั่วคราวพร้อมจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,000 บาท เมื่อสร้างเขื่อนถาวรแล้วเสร็จ บริษัทจะเป็นผู้สร้างบ้านตามสภาพเดิมให้

บ้านหลังที่ 2 ของ นายฮาโรล มาทอง บ้านเสียหายบางส่วน บริเวณที่ล้างเท้าและตัวบ้าน เสาบ้านบริเวณด้านหน้า มีรอยแตกร้าว ได้รับเงินช่วยเหลือจากการบริจาคทั้งสิ้น 27,000 บาท ได้รับค่ารื้อถอนเป็นเงิน 30,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 57,000 บาท และข้อตกลงล่าสุดทาง บริษัทจะซ่อมแซมบ้านให้ โดยช่างของบริษัท

บ้านหลังที่ 3 ของ นายละออ พาลีขำ เสียหายบางส่วนบริเวณระเบียงด้านหน้าและลูกปูนที่เจ้าของบ้านใช้ทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง ได้รับเงินช่วยเหลือจากการบริจาคและเงินทดรองราชการไปแล้วทั้งสิ้น 42,000 บาท และได้รับค่ารื้อถอน เป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 92,000 บาท และข้อตกลงล่าสุด จะขอเงินค่าซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายอีก 250,000 บาท

บ้านหลังที่ 4 ของ นางละเมียด แจ่มอ่อน ที่รื้อบ้านก่อนที่จะเสียหาย ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากการบริจาคทั้งสิ้น 15,000 บาท ได้รับค่ารื้อถอน เป็นเงิน 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ข้อตกลงล่าสุด ทางบริษัทจะดำเนินการสร้างบ้านด้วยวัสดุที่รื้อถอนมาให้เหมือนเดิมทุกประการ และทางบริษัทกำหนดจ่ายค่าเช่าบ้านให้เดือนละ 2,000 บาท จนกว่าจะปลูกบ้านใหม่ให้แล้วเสร็จ

โดยบริษัทกำหนดจ่ายค่าเช่าบ้านล่วงหน้าให้ก่อนเป็นเวลา 7 เดือน (14,000 บาท) ในการสร้างบ้านบริษัทจะเป็นผู้หาช่างมาสร้างบ้านให้บ้านหลังที่ 5 ของ นายผดุงกิจ แสงสลวย ซึ่งท่าน้ำเสียหาย และบริษัทได้รื้อรั้วสังกะสีออกไป บริษัทจะชดใช้ค่าเสียหายของสังกะสีให้ตามที่เจ้าของบ้านร้องขอ

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในการชดเชยบ้านเรือนที่เสียหาย พบว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด บริษัท JNP (ไทยแลนด์) จำกัด จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 2 ใน 3 และบริษัท อัลฟ่า มารีน จำกัด จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย 1 ใน 3 ส่วน และในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน 2554 เวลา 13.00 น.บริษัทและผู้ประสบภัยจะมาทำสัญญาร่วมกันที่ศาลากลางจังหวัดโดยมีทางจังหวัดและอัยการจังหวัดเป็นคนกลางในการทำสัญญาข้อตกลงอย่างเป็นทางการ

“สำหรับในวันพรุ่งนี้ (15 มิ.ย.) บริษัทจะเริ่มจัดหาช่างที่จะซ่อมบ้านมาพบกับเจ้าของบ้านและช่างโยธาของ อบต.ภูขาทอง เพื่อทำความตกลงร่วมกัน และกำหนดแนวทางการซ่อม และก่อสร้างบ้านใหม่ให้คืนสู่สภาพเดิม โดยมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเป็นผู้ประสานงาน และช่างโยธา อบต.ภูเขาทอง จะเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง”

นายวิทยา กล่าวอีกว่า สำหรับความเสียหายในภาคประมง กรณีปลาในกระชังตาย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้วยเงินทดรองราชการไปแล้วบางส่วน และครม.มีมติให้ใช้จ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือรายละ 60% ของมูลค่าความเสียหายแล้วนั้น ผลการประชุมและเจรจาล่าสุดทางจังหวัด ขอให้บริษัทพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

เช่น มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 1 ราย ที่ได้รับความเสียหายถึง 4.5 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ 60% แล้ว หรือประมาณ 2.9 ล้านบาท แต่ก็ยังคงมีความเสียหายอีก 1.6 ล้านบาท ที่ยังขาดอยู่ ซึ่งทางบริษัทขอเวลาไปพิจารณาก่อน

และกรณีกลุ่มอาชีพตกกุ้งแม่น้ำ ซึ่งมีประมาณ 20 ราย ที่เรียกร้องว่าเดือนร้อนจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเน่าเสียเพราะเรือน้ำตาลล่ม เพราะกลุ่มอาชีพตกกุ้งแม่น้ำ ที่มักจะนำเรือออกไป

ช่วงค่ำคืนตะเวนไปตกกุ้งในแม่น้ำเจ้าพระยา อ้างว่าเสียหายและขาดรายได้ไป 1,000 บาท/วัน/คน ที่ได้รับผลกระทบมาแต่ เรือล่มและจะเสียหายต่อไปอีกหลายเดือน เหตุจากเรือน้ำตาลล่มและกุ้งแม่น้ำตายจำนวนมาก ทำให้กลุ่มอาชีพตกกุ้งแม่น้ำให้เหตุผลว่าจะไม่สามารถ

ประกอบอาชีพตามเดิมได้นานหลายเดือน และสูญเสียรายได้จำนวนมาก โดยกลุ่มอาชีพตกกุ้งต้องการขอรับเงินชดเชยบ้างนั้น ผลการประชุมและเจรจาล่าสุดทางจังหวัดขอให้บริษัทช่วยเหลือตามมนุษยธรรมตามแต่จะเห็นสมควร และทางบริษัทกำลังนำข้อมูลไปตัดสินใจ”
กำลังโหลดความคิดเห็น