xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯกรุงเก่าทำพิธีขอบคุณพระแม่คงคา - ถกค่าชดเชยเหยื่อเรือน้ำตาลล่มเหลว นัดถกใหม่ศุกร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระนครศรีอยุธยา - ผู้ว่าฯพระนครศรีอยุธยาและกาชาดกรุงเก่าร่วมทำพิธีขอบคุณพระแม่คงคาที่ทำให้การกู้เรือบรรทุกน้ำตาลล่มประสบผลสำเร็จ กรมเจ้าท่าเตรียมกู้เรือยนต์ลำที่ลากเรือบรรทุกล่มและล่มลงไปด้วยอีก 1 ลำ เชื่อกู้ไม่ยากคาด 1-2 วันนี้กู้ได้แน่นอน ด้านประมงจังหวัดเตรียมปล่อยปลา 50 ล้านตัวลงแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนการประชุมหารือชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่ได้ข้อสรุปนัดถกใหม่วันศุกร์นี้ตอนบ่าย

รายงานข่าวจาก จ.พระนครศรีอยุธยาแจ้งว่า เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ (13 มิ.ย.) นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมนางวาสินี ผิวผ่อง นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทำพิธีบวงสรวงขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคา บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกับจุดที่เรือบรรทุกน้ำตาลล่ม โดยเครื่องเส้นไหว้ประกอบด้วยทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ข้าวสุก ไข่ต้ม บายศรีปากชาม และผลไม้ โดยทั้งหมดถูกจัดใส่กระทงใบตองอย่างสวยงาม

หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้นำเครื่องเส้นไหว้ไปลอยในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขอขมาและขอบคุณที่ดลบันดาลให้การกู้เรือบรรทุกน้ำตาลที่ล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาประสบความสำเร็จ

สำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเรือบรรทุกน้ำตาลล่มวันนี้ต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสมากขึ้น โดยเฉพาะลุงฮาโรล มาทอง อายุ 60 ปี ซึ่งต้องถูกรื้อบ้านไป 1 หลังและมีอาการซึมเศร้ รวมถึงความดันขึ้น แต่มาในวันนี้ลุงฮาโรล กลับมีแรงยกสิ่งของและเดินได้เหมือนคนปกติทั่วไป ลุงฮาโรล บอกว่า "วันนี้ไม่เครียดแล้ว เพราะภูเขาได้ถูกยกออกจากอกไป"

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในวันนี้เวลา 15.00 น.จะเรียกเจ้าของบริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด บริษัท อัลฟ่ามารีน ซัพพลาย จำกัด บริษัท เจเอ็นพี จำกัด และบริษัท คลังสินค้าไทยรวมทุน จำกัด ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาหารือในการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้

ด้าน พ.ต.อ.สมบัติ ชูชัยยะ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา บอกว่า เหตุการณ์เรือล่มที่หมู่ 2 ต.ภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา มีผู้เสียหายและผู้ได้รับความเดือดร้อนเข้ามาแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้ว โดยมีชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อน 10 ราย และหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมควบคุมมลพิษ สำนักพุทธศาสนา เป็นต้นได้ลงบันทึกแจ้งไว้เป็นหลักฐานแล้วนำไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับผู้ที่รับผิดชอบอีกครั้ง

เตรียมกู้เรือยนต์ที่จมอีกลำ-คาดก็ไม่ยาก

ด้านนายถวัลรัฐ อ่อนศีระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยถึงการกู้เรือน้ำตาลทรายจนประสบความสำเร็จไปเมื่อวานนี้ว่า เป็นไปตามแผนทุกประการ สำหรับเรือยนต์หรือเรือลากที่ถูกกระแสน้ำพัดจนพลิกคว่ำจมกลางแม่น้ำเจ้าพระยาขณะลากเรือขนถ่ายน้ำตาลทรายเมื่อกลางคืนวันที่ 2 มิ.ย.จนทำให้นายธวัชชัย เชาวฺวิไล จมน้ำเสียชีวิตนั้นคงจะกู้ไม่ยากคาดว่าภายใน 1-2 วันนี้จะสามารถกู้ขึ้นมาได้อย่างแน่นอน

ส่วนการเดินเรือได้เปิดให้สัญจรทางน้ำตั้งแต่ช่วงค่ำที่ผ่านมาแล้ว โดยจะอนุญาตให้เรือบรรทุกน้ำตาลและเรือบรรทุกข้าวสารที่มีขนาดใหญ่ พ่วงได้ครั้งละ 2 ลำและจะต้องมีเรือยนต์ดึงหัวและท้ายเรือ ส่วนเรือบรรทุกดินและทรายนั้นอนุญาตให้พ่วงได้ 3-4 ลำตามขนาดที่กำหนด

เตรียมปล่อยปลส 50 ล้านตัวลงเจ้าพระยา

นายประมวล มีแป้น ประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า จากปัญหาเรือน้ำตาลทรายล่มก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดได้สูญพันธุ์รวมทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาด้วย ดังนั้น ทางกรมประมง จึงได้เร่งทำการฟื้นฟูสัตว์น้ำให้กลับคืนมาสู่ระบบนิเวศน์ธรรมชาติและชาวบ้านจะได้มีอาชีพเลียงครอบครัวโดยทำโครงการปล่อยสัตว์น้ำคืนสู่ธรรมชาติจำนวน 50 ล้านตัว ซึ่งมี จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม.และ จ.สมุทรปราการ โดยจะปล่อยที่พระนครศรีอยุธยาจำนวนมากกว่าที่อื่น โดยเริ่มปล่อยครั้งแรก 5 ล้านตัว ที่เทศบาลตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน มีปลาจำนวน 3 ล้านตัว กุ้ง 2 ล้านตัว รวมทั้งกรมประมงจะปล่อยพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่เจ้าหน้าที่ได้จับไปอนุบาลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดบางไทรอีกจำนวน 500 ตัวมีปลามากกว่า 20 ชนิดลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

แขวงการทางเตรียมเอ๊กซเรย์สะพาน

นายไพจิตร โพธิ์จันทร์ ผู้อำนวยการแขวงการทางอยุธยา กล่าวว่า สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกิดอุบัติถูกเรือบรรทุกน้ำทรายหนัก 2,400 ตันชนนั้นได้ออกแบบก่อสร้างถูกต้องตามข้อมูลและหลักการของกรมเจ้าท่ามีความกว้างช่วงละ 50 เมตรเทียบแล้ว 6 เท่าตัวของเรือได้สำรวจพบความเสียหายบริเวณฐานตอม่อ หรือสเกิ๊ต มีรอยปูนแตกออกไปจนมองเห็นเหล็กตรวจสอบแล้วซ่อมได้และไม่ส่งผลอันตรายแต่อย่างใด

"การจราจรยังสัญจรผ่านไปมาได้ตามปกติ แต่ขณะนี้ไม่สามารถลงไปติดยางกันกระแทกได้เพราะระดับน้ำขึ้นสูง และกระแสน้ำไหลแรงกรมทางหลวงได้ติดไฟแสงสว่างเพิ่มขึ้นที่ตอม่อทาสีขาว-แดงทั้งสองข้างหัวคานติดแถบไฟกระพริบสีแดงให้เรือที่สัญจรมาเห็นแต่ไกล"

นายไพจิตร กล่าวอีกว่า การออกแบตอม่อ หรือสเกิ๊ตเรียกว่ากำแพงกันซุง เพื่อกันซุงหรือไม้ขนาดใหญ่พุ่งชนไม่ใช่เรือถ้าถูกกระทบแตกก็ซ่อมได้จากการสังเกตปัจจุบันธรรมชาติวิกฤตน้ำไหลเร็วและแรงการสัญจรทางน้ำเช่นเรือบรรทุกน้ำตาล เรือบรรทุกข้าวถ้ามี 2 พ่วง วิ่งได้ปลอดภัยถ้า 3 พ่วงเมื่อไหรจะประสบปัญหาและอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และขอยืนยันว่าสะพานยังคงรับน้ำหนักได้ตามปกติ

แต่เพื่อความปลอดภัยจะประสานไปยังผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานก่อสร้างให้มาตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งเพราว่าทางสำนักงานมีเครื่องมือที่ทันสมัยจะได้นำมาเอ๊กซเรย์สะพานเร็วๆ นี้ และทราบว่าทางกระทรวงคนนาคมได้เรียกกรมทางหลวง กรมทางชนบท และกรมเจ้าท่าเข้าประชุมหารือแบบบูรณาการทางลำน้ำเพื่อหามาตราการป้องกันการจราจรทางน้ำเช่นกัน

ประชุมชดเชยค่าเสียหายล้มเหลวนัดถกใหม่ศุกร์นี้

ต่อมาเวลา 15.20 น.นายณรงค์ อ่อนสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นประธานการประชุมหารือข้อยุติการชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีเรือบรรทุกน้ำตาลล่มกับนายประยุทธ ทวีลาภ ตัวแทนบริษัท เจเอ็นพี ไทยแลนด์ จำกัด ผู้รับจ้างขนส่งน้ำตาล จากบริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง

นายณรงค์ เปิดเผยภายหลังว่า จากการประชุมหารือสรุปวันนี้ตกลงได้บางส่วนแบ่งแยกเป็นค่าเสียหายบ้านพังและต้องรื้อถอนปรากฎว่าเจ้าของบ้านบางหลังเสนอราคาที่สูง จึงต้องนัดวันใหม่ โดยให้ทั้งสองฝ่ายนำช่างมาตีราคาที่เป็นกลาง ส่วนค่าเสียหายอื่นๆ ทาง ครม.ให้อนุมัติให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ฟ้องร้องทั้งหมดมูลค่าเสียหายเบื้องต้นประมาณ 100 ล้านบาท

นางนฤมล สุกสุสาสน์ อายุ 46 ปีอยู่บ้านเลขที่ 34 หมู่ 4 ต.ไม้ตรา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าของปลากระชังรายใหญ่ บอกว่า ได้เลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม ไว้ 55 กระชังพื้นที่ 88 ตารางเมตรเสียหาย 4,869,600 บาท แต่ได้ค่าชดเชยจากรัฐ 20,560 บาทซึ่งยังตกลงค่าเสียหายไม่ได้

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 มิ.ย.เวลา 13.00 น.อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น