เชียงราย - การก่อสร้างสะพานข้ามโขง 4 เชื่อมเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ สะดุด หลังผู้รับเหมาเกี่ยงรับ “หยวน” จากฝ่ายจีน หวั่นขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน คาดกระทบกำหนดสร้างเสร็จต้องเลื่อนยาวถึงปี 56
นายพินิจ หาญพาณิชย์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้ถนนสาย R3a ไทย-สปป.ลาว-จีน มีการก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้วและสามารถใช้งานได้ดี ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) พร้อมพัฒนาระบบสาธารณูปโภครองรับ เพื่อให้ไทย-สปป.ลาว-จีน สามารถเชื่อมต่อไปถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลหยุนหนัน ตามเส้นทางคุนหมิง-กรุงเทพฯ ได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถนนสายดังกล่าวกำลังประสบปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อตรงสะพานข้ามแม่น้ำโขง ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย
นายพินิจ กล่าวว่า การก่อสร้างสะพานดังกล่าวล่าช้า เพราะมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินเนื่องจากโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือไทย-สปป.ลาว-จีน และทางประเทศไทย-จีน ตกลงจ่ายฝ่ายละ 50% ตามงบประมาณเต็มประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อถึงเวลาการก่อสร้างจริง ฝ่ายไทยได้เบิกจ่ายงบประมาณให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างไปตามปกติ แต่ฝ่ายจีนยังไม่ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง
“จีนต้องการจ่ายเป็นหยวน แต่ผู้รับเหมาไม่อยากรับหยวน โดยให้เหตุผลว่าหากรับเป็นเงินหยวน จะประสบปัญหาเรื่องค่าเงินผันผวนช่วงที่นำไปแลกเปลี่ยน ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังตกลงกันไม่ได้ ทำให้เกิดความล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน”
นายพินิจ บอกอีกว่า ปัจจุบันฝ่ายไทยได้จ่ายเงินก่อสร้างไปแล้วกว่า 20% และขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูน้ำหลากทำให้การก่อสร้างในน้ำเริ่มชะงัก โดยการก่อสร้างส่วนของสะพานคืบหน้าไปได้เพียง 6 % คาดว่าหากยังเป็นเช่นนี้จะทำให้การก่อสร้างล่าช้า อาจต้องเลื่อนออกไปอีก 9 เดือน หรือราวปลายปี 2556 จึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อภาคขนส่ง และระบบลอจิสติกส์โดยรวมด้วย
ด้านนายวิรัตน์ แสนอุดม ผู้อำนวยการแขวงการทางเชียงรายที่ 2 กล่าวว่า ตอนนี้การก่อสร้างยังคงเดินหน้าไปตามปกติ ส่วนกรณีที่อาจจะมีการเลื่อนไปนั้น ยังไม่มีรายละเอียดเป็นทางการ เป็นเพียงการนำเสนอเข้าไปของภาคเอกชน เพื่อขอเลื่อนเวลาออกไป เนื่องจากปัญหาการเบิกจ่ายค่าจ้างดังกล่าว แต่ผลสรุปว่าจะเลื่อนออกไปหรือไม่จะต้องมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการก่อสร้างสะพานอีกครั้งหนึ่งก่อน
สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ที่ อ.เชียงของ ถือเป็นสะพานเชื่อมสองประเทศแห่งที่ 4 เพื่อเชื่อมแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ของภูมิภาคนี้ ด้วยการใช้งบประมาณรวมระหว่างไทย-จีน ประมาณ 1,486.5 ล้านบาท โดยได้ว่าจ้างกลุ่มซีอาร์ 5-เคที จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทไชน่า เรลเวย์ โน.5 เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด จากประเทศจีน และบริษัทกรุงธนเอ็นยิเนียร์ จำกัด ของประเทศไทย มีกำหนดก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 11 มิ.ย.2553 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 10 ธ.ค.2555 ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน แต่จากสภาพการก่อสร้างในปัจจุบันพบว่าไม่คืบหน้ามากนักทั้งๆ ที่เป็นช่วงกลางปี 2555 แล้ว
เอกชนทั้งสองรายได้แบ่งงานกันทำด้วยการให้ฝ่ายไทยก่อสร้างถนนทั้งฝั่งไทยและ สปป.ลาว รวมทั้งอาคารด่านพรมแดนของทั้งสองฝั่ง เป็นถนนติดขอบฝั่งยาว 630 เมตร ถนนเป็นจุดสลับการจราจรในฝั่งไทย 5 กิโลเมตร และฝั่ง สปป.ลาว อีก 6 กิโลเมตร ส่วนเอกชนจีนก่อสร้างตัวสะพานกลางแม่น้ำโขง