ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แพทย์ระบุอาการอาพาธ “หลวงพ่อคูณ” น่าเป็นห่วง พบปอดอักเสบชัดเจน 1 ข้าง และมีน้ำในเยื้อหุ้มปอด 2 ข้างแต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเจาะปอด ให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ-ยาพ่น-ยาขับเสมหะ และนำเสมหะไปตรวจพร้อมเฝ้าติดตามอาการใกล้ชิด ชี้สภาพแวดล้อมวัดบ้านไร่ไม่เหมาะสมทั้งด้านร่างกายและจิตใจประกอบกับอายุมาก ทำให้อาพาธต้องเข้า รพ.อีกครั้งหลังเพิ่งกลับวัดได้แค่ 2 วัน เผยต้องการให้พักที่ รพ.นานที่สุด
วันนี้ (5 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอาการอาพาธของพระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่พักรักษาอาการอาพาธด้วยภาวะปอดอักเสบ อยู่ที่ห้องผู้ป่วยพิเศษ 9821 ชั้น 8 อาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.มหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา หลังลูกศิษย์ได้นำส่งเข้าโรงพยาบาลเป็นการด่วนอีกครั้งด้วยอาการอ่อนเพลีย แขนขาด้านซ้ายไม่มีแรงและมีไข้ เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 พ.ค.) ทั้งที่เพิ่งหายอาพาธออกจากโรงพยาบาลกลับไปพักฟื้นที่วัดบ้านไร่เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อเวลา 07.00 น.หลวงพ่อคูณ ตื่นจากจำวัดและทำกิจธุระส่วนตัว พูดคุยกับศิษย์ผู้ใกล้ชิด ซึ่งจากการสังเกตอาการหลวงพ่อยังมีอาการอ่อนเพลีย จากนั้นได้ฉันภัตตาหารเช้าทั้งอาหารคาวหวานที่ลูกศิษย์นำมาถวาย และฉันยารักษาโรคประจำตัว ก่อนเข้าจำวัดพักผ่อนต่อในห้องผู้ป่วย
เวลา 10.00 น.นพ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด รพ.มหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นแพทย์ประจำตัวหลวงพ่อคูณ ได้นำทีมแพทย์ เข้าตรวจอาการหลวงพ่อคูณอีกครั้งใช้เวลาประมาณ 20 นาที
นพ.พินิศจัย กล่าวว่า อาการโดยภาพรวมวันนี้ดีขึ้นบ้าง และฉันได้มากกว่าเมื่อวาน อาการอ่อนแรงดีขึ้น ไม่มีไข้ ซึ่งหลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกรอบ ในเวลาห่างกันแค่ 2 วันครั้งนี้ หากเทียบกับครั้งแรกนั้นถือว่าอาการรุนแรงมากกว่า และมาครั้งนี้พบว่ามีการอักเสบของปอดชัดเจน ส่วนเชื้อจะเกิดจากตัวใดนั้นต้องรอผลการเพาะเชื้อก่อน
สำหรับผลการตรวจที่ชัดเจน พบว่า ปอดอักเสบ 1 ข้าง และมีภาวะน้ำในช่องปอด 2 ข้าง แต่ข้างซ้ายจะมากกว่าซึ่งในทางการแพทย์ค่อนข้างซีเรียส ทั้งนี้ครั้งแรก (25 เม.ย.) ที่ท่านมารับการรักษาด้วยภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด แต่เราไม่ทราบว่าติดเชื้อชนิดใดและจุดใด ซึ่งท่านตอบสนองต่อการรักษาดีและเมื่อดีขึ้นหลวงพ่อมักจะบ่อยอยากกลับวัด และทุกครั้งถ้าท่านกลับไปวัดก็จะค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาเอง และทุกครั้งที่ฟื้นไข้ใหม่ ๆ แพทย์จะบอกเสมอว่าภูมิต้านทานท่านจะลดลง และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง แต่ทำไมคราวนี้ท่านกลับไปได้แค่ 2 วันก็ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลอีก (4 พ.ค.) ซึ่งทางคณะแพทย์คิดว่าอาจมาจากปัจจัยเรื่องอายุท่านมากขึ้น และสภาพแวดล้อมที่วัดในช่วงนี้อาจไม่เหมาะที่จะให้ท่านพักอยู่ที่วัดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และอีกประการ คือ อาจมีการติดเชื้อที่มันซ่อนเร้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการวินิจฉัยเพื่อให้ชัดเจนอีกครั้ง
ต่อข้อถามว่าจะต้องส่งหลวงพ่อคูณ ไปรักษาต่อโรงพยาบาลที่ กรุงเทพฯ หรือไม่นั้น นพ.พินิศจัย กล่าวว่า โดยหลักการแล้วหากสิ่งใดที่จะทำให้หลวงพ่อคูณอาการดีขึ้น พวกเราไม่ลังเลที่จะทำแต่ถ้าถาม ณ วันนี้ ถ้าเทียบข้อดีข้อเสียในการที่จะให้ท่านเข้าไปรับการรักษาที่กรุงเทพฯ คงไม่จำเป็น ส่วนจะให้พักรักษากี่วันนั้นยังกำหนดไม่ได้แต่ขอให้อยู่นานที่สุด
“ส่วนการรักษาขณะนี้แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ และให้ยาขับเสมหะ ซึ่งวันนี้จะเก็บตัวอย่างเสมหะไปตรวจละเอียดที่กรุงเทพฯ พร้อมทั้งให้ยาพ่นขยายหลอดลมเพื่อหายใจได้สะดวกทุก 4 ชั่วโมง และเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” นพ.พินิศจัย กล่าว
ทางด้าน นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อก่อนหลวงพ่อคูณท่านสูบบุหรี่ค่อนข้างมาก ตอนนี้ปอดไม่ค่อยมีกำลังในการไอ เนื่องจากเคยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง รวมทั้งคราวที่แล้วมีการติดเชื้อปอดยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ครั้งนี้จึงมีการปอดอักเสบขึ้นมาใหม่ ร่วมกับมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ซึ่งค่อนข้างพบมากในปอดด้านซ้าย ส่วนปอดด้านขวามีน้ำอยู่เล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องเจาะปอด ส่วนการพ่นยาจะช่วยทั้งเรื่องถุงลมโป่งพอง และไม่มีแรงที่จะไอเสมหะออกมา ซึ่งทำให้มีเสมะอยู่ ในปอดค่อนข้างมีมากและเหนียวข้น สำหรับอาการไข้ยังไม่พบว่ามีอาการไข้ใหม่แต่หลวงพ่อร่างกายซุบผอมลงมากทำให้การติดเชื้อจึงค่อนข้างรุนแรง ประกอบกับชราภาพแล้วและมีโรคประจำตัวหลายโรค
“โดยสรุปแล้วการอาพาธของหลวงพ่อคูณจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในครั้งนี้ คือ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อในปอดและมีถุงลมโป่งพอง ขณะนี้คณะแพทย์ได้ทำการรักษาด้วยการพ่นยาและให้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน ส่วนน้ำในปอดต้องติดตามดูเป็นระยะๆ ต่อไป หากมีน้ำในปอดเพิ่มขึ้นจะพิจารณากันอีกทีว่าต้องเจาะปอดหรือไม่ ซึ่งอาการอาพาธครั้งนี้ถือหนักกว่าคราวที่แล้ว สำหรับการรักษานั้นต้องทำให้ท่านมีแรง มีกำลังในการไอเอาเสมหะออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ การพ่นยาคงช่วยได้ในระดับหนึ่ง และการที่ท่านสามารถทำกายภาพบำบัดในระหว่างพักอยู่โรงพยาบาลฯ จะทำให้มีกำลังในการไอดีขึ้น ระหว่างนี้จึงต้องมีการทำกายภาพบำบัดช่วยในการหายใจและการขับเสมหะให้มากขึ้นด้วย” นพ.อนุชิต กล่าว