ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - “ไอบีเอ็ม” ชูโมเดล “สมาร์ทเตอร์ ซิตี้” กลยุทธ์ดันเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง “การแพทย์-ผลิตและจัดส่งสินค้าเกษตร” หลังคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกับทีมงานเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์-จังหวัด-มช. ลงพื้นที่ 3 อาทิตย์ก่อนำข้อมูลมาสรุปแล้วสร้างเป็นโรดแมพให้ ชี้เชียงใหม่เป็นเมืองมีศักยภาพ หากใช้ระบบสารสนเทศมาช่วยจะทำให้แข่งขันในตลาดโลก - กลายเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคได้
คณะผู้เชี่ยวชาญจาก IBM ร่วมกับนางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทไทย จำกัด และนายชูชาติ กีฬาแปง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนางสาวซูซาน สตีเวนสัน กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวโครงการสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ สร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทางการแพทย์ และการผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา
การแถลงข่าวดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินโครงการไอบีเอ็ม สมาร์ทเตอร์ ซิตี้ ชาเลนจ์ (Smarter City Challenge) ซึ่งไอบีเอ็มจะทำการคัดเลือกเมืองต่างๆ จากทั่วโลก เพื่อทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูล ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อสร้างแผนงานโดยยึดแม่แบบของสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การสนับสนุนเงินลงทุนทางด้านเทคโนโลยีและการบริหารแก่โครงการทั้งหมดในทุกเมืองที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 100 เมืองภายในระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวนเงิน 50 ล้านเหรียญ โดยคิดเป็นเงินลงทุนสูงสุดประมาณเมืองละ 400,000 เหรียญ
จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งใน 22 เมืองที่ไอบีเอ็มคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวในปี 2554 ซึ่งที่ผ่านมาทีมผู้เชี่ยวชาญจากไอบีเอ็มได้แก่ผู้บริหารระดับสูงภายใต้ชื่อ IBM Executive Service Corps ได้ทำงานร่วมกับทีมงานเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์ (Chiang Mai Creative City Steering Committee) ทีมงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในการสำรวจศักยภาพของเมือง ทำการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และนำข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาใช้ในการสร้างแผนยุทธศาสตร์ที่มุ่งให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางในเป้าหมายหลัก 2 ด้าน ได้แก่ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) และการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร
โดยกลยุทธ์การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์นั้น คณะทำงานได้สรุปกลยุทธ์หลัก 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. Hospital Efficiencies คือการเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของโรงพยาบาล ด้วยการนำเทคโนโลยีและกระบวนการทางการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการตรวจรักษา 2. Ecosystem Integration คือการสร้างระบบการรักษาและสถานพยาบาลให้เชื่อมต่อเป็นข้อมูลเดียวกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ และ 3. Service Identification and Marketing คือการส่งเสริมการตลาดด้วยการจัดการบริการที่หลากหลายสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่ม ควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์และการรับรู้ถึงการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและคนไข้จากต่างประเทศ
ขณะที่กลยุทธ์เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร ประกอบด้วย 1. Creating insight to enable smart decision making คือการสร้างข้อมูลเชิงลึกสำหรับรัฐบาลและเกษตรกรเพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการเพาะปลูก หารเก็บเกี่ยว การคาดการณ์ตลาด การพยากรณ์อากาศ ฯลฯ ผ่าน อี-ฟาร์มเมอร์ เว็บ พอร์ทัล (e-Farmer Portal) ที่จะให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์และ SMS 2. Chiang Mai Food Branding การสร้างตราสินค้าด้านอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ทางการตลาดให้เป็นอาหารจากธรรมชาติที่มีความปลอดภัยสูง และ 3. Focusing Improvements การปรับปรุงทางด้านการตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหาร (food Traceability) ทุกขั้นตอน รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำและการจัดการเรื่องน้ำท่วม เป็นต้น
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวถึงการดำเนินโครงการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการแพทย์ และการผลิตและจัดส่งสินค้าทางการเกษตร ตามแนวทางของสมาร์ทเตอร์ ซิตี้ว่า เจ้าหน้าที่ของบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทยทุกคนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่จะได้มีส่วนร่วมในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไอบีเอ็มมาใช้ในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่น่าสนใจในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการนำผู้บริการของไอบีเอ็มทั้ง 5 ท่านมาร่วมกันวางกลยุทธ์ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ตามแผนที่วางเอาไว้ จะสามารทำให้เชียงใหม่ก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นศูนย์กลางตามเป้าหมายทั้ง 2 ด้านที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน
อนึ่ง ในการแถลงข่าวดังกล่าว นอกเหนือจากการนำเสนอกลยุทธ์ซึ่งผ่านการศึกษาและจัดทำโดยทีมผู้บริหารระดับสูงจากไอบีเอ็มหรือ IBM Executive Service Corps แล้ว ไม่ได้มีการกล่าวถึงการดำเนินโครงการในขั้นตอนต่อไป อาทิเช่นการวางระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อใช้ในแผนงานต่างๆ ที่ได้นำเสนอ หรือการลงทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ขณะเดียวกันยังไม่มีการระบุว่าในภาคปฏิบัติ ไอบีเอ็มจะเป็นผู้เข้ามาวางระบบต่างๆ เอง หรือจังหวัดเชียงใหม่จะต้องเป็นผู้ทำการวางระบบและทำตามแผนที่ทางไอบีเอ็มได้ให้เป็นข้อเสนอแนะไว้