ไอบีเอ็มไทยคุยผลประกอบการเติบโตเป็นเลข 2 หลักเพราะลูกค้าให้ความไว้วางใจต่อเนื่อง เผยนโยบาย 3 ด้าน รวมฉลองครบรอบ 100 ปี ไอบีเอ็มทั่วโลก เน้นเป้าหมายสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ประเดิมประเทศไทยที่แรกในภูมิภาค เดินโครงการ Executive Service Corps เสนอแผนสร้างยุทธศาสตร์ ทุ่มงบ 50 ล้านดอลลาร์ใน 3 ปี
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานไตรมาสแรกของปีนี้ ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 8% หรือมีมูลค่า 24.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยได้ มีอัตราเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และมองว่าไตรมาส 2 นี้ จะยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องต่อไป เนื่องจากทางไอบีเอ็มได้รับความเชื่อมั่น และไว้วางใจในการดำเนินธุรกิจจากองค์กรธุรกิจ พันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจ จึงทำให้ฮาร์ดแวร์ของไอบีเอ็มเติบโต 19% ซอฟท์แวร์ 10% และธุรกิจบริการ 7%
"ปี 2554 นับเป็นปีสำคัญที่ไอบีเอ็ม ประเทศไทยร่วมกับสำนักงานไอบีเอ็มทั่วโลก ฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของ ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2454 ในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษของการก่อตั้ง ไอบีเอ็มมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปธุรกิจ วิทยาศาสตร์และสังคม นับเป็นพื้นฐานของแนวคิดหลัก 3 ข้อสำหรับการฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของไอบีเอ็ม นั่นคือ การสร้างองค์กรที่ทันสมัย (Reinventing the Modern Corporation), การบุกเบิกเทคโนโลยีสารสนเทศ (Pioneering the Science of Information) และ การปรับปรุงโลกของเราให้ดีขึ้น (Making the World Work Better) ทั้งหมดนี้นับเป็นรากฐานสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมและโลก"
ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้มีการคิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้โลกของเราฉลาดขึ้น ล่าสุดได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ จากอัจฉริยะคอมพิวเตอร์ชื่อว่าวัตสัน (Watson) เป็นคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาให้มีความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติภาษามนุษย์ ซึ่งคนทั่วโลกได้พิสูจน์ความสามารถของวัตสัน จากเกมโชว์ตอบคำถามชื่อดัง เจพพาร์ดี้(Jeopardy) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอเมริกา
วัตสันยังเป็นตัวแทนล่าสุดของเทคโนโลยี ที่เป็นเจนเนอเรชั่นใหม่ของระบบคอมพิวเตอร์ ที่นำมาประยุกต์ใช้และสร้างคุณค่าให้กับหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งในประเทศไทยหลายองค์กรมีการนำวัตสันมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ให้รองรับการทำงานปริมาณมาก ประมวลผลจากข้อมูล และยังเรียนรู้จากประสบการณ์ ความผิดพลาดและความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน เช่น ทางการแพทย์ ในหน่วยงานภาครัฐ ธนาคาร โทรคมนาคม ทรัพยากรธรรมชาติ นับเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของไอบีเอ็มในการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคใหม่ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
เพื่อตอกย้ำประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของไอบีเอ็มในภูมิภาคนี้และยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างความสำเร็จที่จะผลักดันธุรกิจให้ประเทศไทยเติบโตใน 3 ด้านคือ หนึ่ง Growth หมายถึงการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า การขยายตลาดและการนำเทคโนโลยีมาช่วยทำให้โลกของเราฉลาดขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศ เป็นตลาดที่มีการเติบโต ทางไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่นได้เล็งเห็นศักยภาพ การลงทุนในธุรกิจ ด้วยกลยุทธ์ทางธุรกิจของประเทศไทย และอาเซียนในปี 2557 มุ่งเน้นให้บรรลุไปสู่การเติบโตอย่างแข็งแรงในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเน้นพัฒนาการดำเนินงานของกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 4 กลุ่ม คือ ธนาคาร โทรคมนาคม ทรัพยากรธรรมชาติ รัฐบาลและสาธารณสุข เพื่อที่จะนำพาประเทศไทยให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด การพัฒนาขยายตลาดในต่างจังหวัดไปยังจังหวัดเชียงใหม่
“ขณะนี้ได้ตั้งสำนักงานที่จังหวัดชลบุรีเรียบร้อย เพื่อตอบสนองลูกค้าทั้ง 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ 1,140 บริษัท ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีอยู่ประมาณ 40% และที่กำลังเตรียมย้ายฐานผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่มีแผนที่จะเปิดสำนักงานแห่งใหม่ได้ที่จังหวัดนครราชสีมาภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อรองรับโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการขนาดกลาง และย่อม ที่เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย”
สอง People ไอบีเอ็มมีการพัฒนาบุคลากรในระดับพนักงานเพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำความรู้ทางด้านธุรกิจ และการเข้าใจความต้องการในภาคตลาดและอุตสาหกรรม มาให้บริการ และสามารถแนะนำสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า โครงการพัฒนาผู้นำของไอบีเอ็ม เช่น GET (Global Enablement Team) เป็นโครงการที่นำผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มจากสำนักงานใหญ่เดินทางเข้ามายังประเทศต่างๆ เพื่อถ่ายทอดทักษะและประสบการณ์การบริหารงานระดับสูง การสร้างสรรค์ผู้นำยุคใหม่และการสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานในองค์กร ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจของไอบีเอ็มและผู้บริหารไอบีเอ็มในประเทศนั้นๆ
“งบประมาณที่ไอบีเอ็มให้สำหรับโครงการนี้ในระยะเวลา 3 ปีอยู่ที่ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไอบีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น ได้ตัดสินใจ เลือกประเทศไทย เป็น 1 ใน 24 ประเทศ จาก 140 ประเทศ และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญภายใต้ชื่อ Executive Service Corps ทำวิจัย พร้อมทั้งนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ เพื่อรองรับทั้งคนไข้ในชุมชนจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยว และศูนย์อัจฉริยะด้านอาหาร ช่วยให้ห่วงโซ่อาหารทั้งระบบของภาคเหนือดีขึ้น"
ทางไอบีเอ็มเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของข้อมูลเชิงวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งได้เข้าไปเริ่มดำเนินการแล้ว คาดว่าอีก 3 สัปดาห์ ทีมผู้เชี่ยวชาญ จะสามารถสรุปได้ สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจ ในปีนี้บริษัทมุ่งเน้นในการนำเสนอไอทีโซลูชั่น เข้าไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับลูกค้า พร้อมทั้งอบรมเพิ่มความสามารถให้กับลูกค้า และการใช้งานอุปกรณ์ด้านไอทีให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือสังคมเพิ่มขึ้น เน้นเข้าไปในตลาดที่มีการเติบโต
สาม Community ปีนี้ไอบีเอ็มได้จัดโครงการสำคัญๆ เพื่อสร้างสิ่งดีๆ สู่สังคม เช่น โครงการ ESC (Executive Service Corps.) เป็นโครงการที่ผู้บริหารระดับสูงของไอบีเอ็มเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนทั้งภาครัฐและภาคประชาคม เพื่อทำความเข้าใจถึงความท้าทายและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชน พร้อมทั้งช่วยจัดสร้างแผนพัฒนาชุมชนที่ตรงกับความต้องการจริงๆ เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลในอนาคต โครงการ Smarter City สร้างเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และศูนย์อัจฉริยะทางด้านอาหาร สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคม IBM Think for Community โดยการดึงความคิดในการนำความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีไอบีเอ็มมาพัฒนาสร้างเป็นโครงการช่วยเหลือสังคม และยังขอความร่วมมือของพนักงานอุทิศเวลาคนละ 8 ชั่วโมงมาร่วมกันทำกิจกรรมช่วยสังคมตลอดทั้งปีนี้อีกด้วย
“ด้วยวาระครบรอบ 100 ปีของไอบีเอ็ม กับความตั้งใจในการผลักดันการเติบโตในทุกๆด้าน และโครงการสำคัญๆ ที่ไอบีเอ็มจัดขึ้นดังกล่าว เพื่อให้ไอบีเอ็มเป็นองค์กรไอทีในใจที่ลูกค้า และ พันธมิตร นึกถึงเราเป็นอันดับแรก ในการช่วยสร้างความก้าวหน้าเติบโตในธุรกิจ สังคมไทย และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศชาติให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต” นางพรรณสิรี กล่าวในตอนท้าย
Company Related Link :
IBM