xs
xsm
sm
md
lg

ศก.อีสานไตรมาสแรกยังขยายตัวดี ชี้ปะทะไทยเขมรไม่กระทบเศรษฐกิจรวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีแถลงข่าวเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสแรกปี 2554
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เศรษฐกิจอีสานไตรมาสแรกขยายตัวต่อเนื่อง เหตุสินค้าเกษตรราคาสูง ดันการใช้จ่ายภาคประชาชนเพิ่ม ทั้งการลงทุนเอกชนปรับตัวดี และภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่ม เผยเหตุปะทะไทย-เขมร ไม่กระทบเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนผลกระทบจากพิบัติภัยสึนามิ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอีสานระยะยาว คาดแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสสอง ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินครั้งที่ 2/2554 โดยมีนายเพิ่มสุข สุทธินุ่น ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.แถลงข่าว พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่างๆของ ธปท.สภอ. ณ สถานสวัสดิสงเคราะห์ ริมบึงแก่นนคร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

นายเพิ่มสุข สุทธินุ่น ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า เศรษฐกิจภาคอีสานไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีก่อน และยังขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว จาก 3 ปัจจัยประกอบด้วย การใช้จ่ายของประชาชาชน โดยเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นจากราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ประการต่อมาการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และประการสุดท้ายการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ขยายตัวมากประมาณร้อยละ 17 การขยายตัวของ 3 ปัจจัยดังกล่าวสอดคล้องกับสินเชื่อสถาบันการเงินที่ขยายตัวดี ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเล็กน้อย แต่ราคาสินค้าหมวดอาหารยังอยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานยังอยูในระดับต่ำ

ผู้อำนวยการ ธปท.สภอ.กล่าวต่อว่า ในส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นมาก เครื่องชี้วัดเศรษฐกิจด้านการลงทุนเพิ่มขึ้นทุกตัว โดยการลงทุนจริงขยายตัวมาก ทั้งทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 70 และทุนจดทะเบียนโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 11 เท่าตัว มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 37,113.9 ล้านบาท กว่าร้อยละ 82 หรือเงินลงทุน 30,472.3 ล้านบาท เป็นโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า ส่วนใหญ่ผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม

การลงทุนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ ประกอบด้วย นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ความสนใจลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14 และเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

กรณีผลกระทบจากสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจอีสาน ในระยะสั้นทำให้สภาพคล่องธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางแห่งลดลง เนื่องจากผู้สั่งซื้อจากญี่ปุ่นได้รับความเสียหาย แต่ก็มีอุตสาหกรรมผลิตลูกสูบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยางรถยนต์ มีคำสั่งซื้อจากญี่ปุ่นเพิ่มเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่บริษัทในญี่ปุ่นยังผลิตไม่ได้

ส่วนระยะยาว น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ จากการที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มกระจายการผลิตไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะไทยที่เป็นฐานผลิตเดิม รวมถึงภาคอีสานที่มีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนหลายแห่ง ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเมืองหลักในภาคอีสานคือ จังหวัดนครราชสีมา และขอนแก่น

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.กล่าวถึงการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาวว่า ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนด้วยมูลค่า 29,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ขณะที่การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด้านจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากปัญหาความไม่สงบตามแนวชายแดน มูลค่าการค้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 70 ลดลงทั้งการส่งออกและนำเข้า

สำหรับผลกระทบจากเหตุปะทะระหว่างทหารไทยกับกัมพูชา บริเวณปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ และด้านภูมะเขือ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีไม่มากนัก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปกัมพูชาเพียงแค่ร้อยละ 1.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

ส่วนบริเวณจุดปะทะที่จ.สุรินทร์และจ.ศรีสะเกษ มีปริมาณการค้าไม่มากประมาณร้อยละ 2.9 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา แต่ผลการปิดจุดผ่านแดน 2 แห่งทำให้จ.สุรินทร์และจ.ศรีสะเกษขาดแคลนแรงงานกัมพูชาที่เข้ามารับจ้างในฝั่งไทย ทั้งยังส่งผลถึงความไม่มั่นใจของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในกัมพูชา

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกปีนี้ ชะลอลงเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3.9 แต่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อแต่ละจังหวัดในภาคอีสานอยู่ระหว่างร้อยละ 3.2 ถึงร้อยละ 8.9 จังหวัดที่มีอัตราเงินเฟ้อหรือของแพงมากที่สุดคือ จ.เลย รองลงมาคือ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี เนื่องจากราคาหมวดอาหารเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาข้าวเหนียวที่จังหวัดอีสานตอนบนนิยมบริโภค

นายเพิ่มสุข กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจประเทศยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ร้อยละ 4.1 อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งความเชื่อมั่นการใช้จ่ายอยู่ในเกณฑ์ดีอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชนจากโครงการต่างๆ จะทยอยเปิดดำเนินการในปี 2554 และการเลือกตั้งในช่วงไตรมาสที่สอง ทำให้บางธุรกิจมีกิจกรรมมากขึ้น เช่น สิ่งพิมพ์

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ประกอบด้วย ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นภายหลังประสบภัยสึนามิ และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศหลังการเลือกตั้ง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายเพิ่มสุข  สุทธินุ่น ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กำลังโหลดความคิดเห็น