xs
xsm
sm
md
lg

ค้าชายแดนไทย-เขมร ชะงักหลังเกิดปัญหาพิพาทชายแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2553 และแนวโน้มปี 2554
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แบงก์ชาติสำนักงานภาคอีสาน ยอมรับ ตั้งแต่เกิดปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ส่งผลให้การค้าชะงัก แต่เชื่อจะกลับสู่ภาวะปกติหากสถานการณ์คลี่คลาย ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอีสานในปี 54 มีทั้งปัจจัยหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 53 เป็นแรงส่ง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเรื่อยๆ และความไม่แน่นอนการเมืองภายในประเทศ

วันนี้ (2 ก.พ.) ณ สถานสวัสดิ์สงเคราะห์ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น นายเพิ่มสุข สุทธินุ่น ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

นายเพิ่มสุข กล่าวยอมรับว่าจากสถานการณ์ปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ ส่งผลให้การค้าชายแดนด้านนี้ได้รับผลกระทบชะงักชั่วคราว ไม่สามารถระบุตัวเลขการค้าได้ แต่ก็เชื่อว่า จะเป็นผลกระทบระยะสั้นๆ หากสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งตามปกติสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา ได้แก่ น้ำตาลทราย อะไหล่ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ปูนซีเมนต์ และผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง และเศษโลหะ

อย่างไรก็ตาม นายเพิ่มสุข ระบุถึงเศรษฐกิจไทยปี 2553 แม้จะเกิดปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และอุทกภัยในช่วงครึ่งปีหลัง แต่เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ดีประมาณ ร้อยละ 8

ทั้งนี้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2553 ในภาคการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อ้อย หัวมันสำปะหลัง ข้าวเปลือกเหนียว ยางพารา ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงสะท้อนให้เห็นปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวจากรายได้ที่สูงขึ้นของเกษตรกร เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี และรายได้จากแรงงานที่มีงานทำมากขึ้น

สำหรับการลงทุนในปี 2553 เป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน กระจายตัวอยู่เกือบทุกจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนโครงการ และเงินลงทุนมากที่สุด รวม 13 แห่ง จำนวน 25,117.40 ล้านบาท

นายเพิ่มสุข ระบุถึงการลงทุนภาคเอกชนนั้น ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุน เห็นได้จากเงินทุนจดทะเบียนโรงงาน และเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ ขณะที่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างยังมีแรงขับเคลื่อนจากปีก่อนที่มีการก่อสร้างค่อนข้างสูง และบรรยากาศการลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดีมาก สะท้อนจากเงินลงทุนจากโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์

ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานเชื้อเพลิงจากเอทานอล และพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ชีวภาพ แสงอาทิตย์ และลม นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรให้คงอยู่ในระดับสูง แรงงานมีงานทำมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาวต่อไป

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2554 มีปัจจัยสนับสนุนคือแรงส่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2553 ที่จะส่งให้ปี 2554 เศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนไปได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทยังคงมีอยู่ตามกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นจากการปรับตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ รวมไปถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป


นายเพิ่มสุข  สุทธินุ่น ผอ.อาวุโส ธปท.สภอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น