ฉะเชิงเทรา - พ่อเมืองแปดริ้ว แจงชาวบ้านเปล่าทิ้งชาวบ้านถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเตรียมดำเนินการกับโรงงานที่ทำน้ำเสีย ที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านและสัตว์น้ำ พร้อมจัดตั้งไตรภาคีแก้ปัญหาอย่างถาวร
วันนี้ (3 พ.ค.) นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวถึงกรณีปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งปลากะพง กุ้ง หอย และปูทะเล ที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบที่มีโรงงานอุตสาหกรรม คือ บริษัท ซิง ไล ฟา จำกัด ซึ่งมี น.ส.ปราณีต สะติม เป็นเจ้าของได้มาเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ 6 ไร่บริเวณพื้นที่ ม.3 ต.สองคลอง อ.บางปะกง โดยอ้างว่าจะขอใช้พื้นที่ทำนาเกลือแต่ได้ปล่อยให้ผู้อื่นแอบนำเอาเศษสิ่งของเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมมาฝังกลบ หมกทิ้งไว้ในพื้นที่ ที่บริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงนั้น
ขณะนี้ทางจังหวัดได้ทำการเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการกับปัญหาดังกล่าว โดยเร็วด่วน โดยที่ผ่านมาทางกรมควบคุมมลพิษได้เข้ามาเก็บตัวอย่างของน้ำในบริเวณดังกล่าว ไปตรวจวิเคราะห์แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลจากการตรวจสอบ และขณะนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัด และกรมโรงงานได้รับทราบปัญหา โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนของศาลปกครอง
นายกิตติ กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้านั้น ทางจังหวัดจะเข้าไปขอรับทราบข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ทางธนารักษ์จังหวัดได้แจ้งให้ผู้เช่าที่ดินดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ให้กลับมาสู่สภาพเดิมแล้ว ถ้าหากไม่สามารถปรับพื้นที่ให้กลับมาเหมือนเดิมได้และยังคงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอยู่ทางธนารักษ์สามารถขอคืนพื้นที่ โดยบอกยกเลิกสัญญาได้ เพราะผู้เช่าทำผิดวัตถุประสงค์
ที่ผ่านมา ทราบว่า ทั้งสองฝ่าย ได้มีการแจ้งความกันไปมาทั้งฝ่ายชาวบ้านและผู้ถูกร้อง และฝ่ายโรงงาน อุตสาหกรรมโดยที่ฝ่ายชาวบ้าน มีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ที่ จ.ระยอง และฝ่ายโรงงานได้แจ้งความเอาผิดต่อชาวบ้าน กรณีไปชุมนุมปิดกั้นถนนหน้าโรงงาน ในพื้นที่ ม.8 ต.สองคลอง โดยอ้างว่ากักขังหน่วงเหนี่ยว ปิดกั้นให้ไม่ได้รับอิสรภาพ
นายกิตติ กล่าวว่า ในส่วนของทางจังหวัดฉะเชิงเทรานั้นจะได้เข้าไปดำเนินการเร่งรัดและเรียกทั้งสามฝ่ายเข้ามานั่งเจรจากันแบบไตรภาคีระหว่างภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผู้ประกอบการและฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยที่โรงงานจะต้องอยู่ได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงงานก็ต้องไม่ได้รับความเสียหายในการประกอบอาชีพและหากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายของชาวบ้านเกิดจากโรงานอุตสาหกรรมรายนี้จริงก็ต้องมีการชดใช้และเยียวยาโดยที่ทางภาคประชาชนก็สามารถที่จะเรียกร้องค่าความเสียหายจากทางบริษัทได้
หากการเจรจาสามารถตกลงกันได้ ปัญหาก็จะจบลงหากเจรจากันแล้วไม่ได้ผล ก็ต้องอาศัยทางกระบวนการยุติธรรมต่อไป เผยเตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องทั้งสามฝ่ายมาตั้งโต๊ะเจรจาแจงแบบไตรภาคีซึ่งหน้าก่อนให้ธนารักษ์จังหวัดเร่งจัดการขอคืนพื้นที่โดยด่วน