กาญจนบุรี -นักธรณีวิทยา ม.มหิดล เตือนระวังรอยเลื่อนแก่งแคบในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ที่อยู่ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ 10 กิโลเมตร แต่โอกาสที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวมีน้อยมาก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเขื่อนโลกตรวจ “เขื่อนศรีนครินทร์” พบแข็งแรง ส่วนพรุ่งนี้ซ้อมแผนเผชิญเหตุ
เมื่อเวลา 14.30 น.วันนี้ (7 เม.ย.54) ดร.Loren R.Anderson ผู้เชี่ยวชาญเขื่อนโลก เดินทางถึงเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เพื่อร่วมกับ นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล นายณรงค์ ไทยประยูร ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ นายณัฐจพนธ์ ภูมิเวียงศรี ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ และ นายวีรชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบด้านการประเมินความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ โดยได้ตรวจสอบบริเวณสันเขื่อนและประตูระบายน้ำล้น ตรวจเช็กสถานีตรวจสัดความสั่นสะเทือนของแผ่นดิน
ต่อจากนั้นคณะทั้งหมดได้เข้าไปตรวจสอบที่อุโมงค์ใต้แกนสันเขื่อน เพื่อตรวจเช็กการไหลซึมของน้ำผ่านแกนดินเหนียว และสภาพความพร้อมของเครื่องวัดความดันกดของน้ำในอ่างเก็บน้ำว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยใช้เวลาตรวจนานกว่า 2 ชั่วโมง
ต่อจากนั้น คณะทั้งหมดได้เดินทางร่วมประชุมที่ห้องประชุมอาคารที่ทำการเขื่อนศรีนครินทร์ โดย ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายเกี่ยวกับผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงจากรอยเลื่อนแผ่นดินไหวในพื้นที่กาญจนบุรี โดยมีใจความช่วงหนึ่งว่า สิ่งที่ กฟผ.ต้องศึกษาเพิ่มเติม คือ รอยเลื่อนแผ่นดินบริเวณบ้านแก่งแคบ หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ที่อยู่ห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ 10 กิโลเมตร เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นรอยเลื่อนแขนงที่มีความยาวไม่มาก แต่จากการศึกษาพบว่าเคยมีการสั่นไหวเมื่อประมาณ 3,000 ถึง 1,000 ปี ซึ่งแม้ว่าโอกาสเกิดการสั่นไหวน้อยมาก แต่ก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อมีข้อมูลไว้ในการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน โอกาสที่จะเกิดความแรงไม่น่าจะเกิน 6 ริกเตอร์ แต่โอกาสที่จะเกิดน้อยมาก
หลังจากที่ ดร.Loren R.Anderson ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบเขื่อนศรีนครินทร์ ว่า จากการที่ได้อ่านข้อมูลการศึกษาเรื่องความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนศรีนครินทร์ จากที่ ม.เกษตรศาสตร์ มาทำการศึกษา พบว่า มีการคำนวณที่สมบูรณ์และจากการที่ได้ดูสภาพสันเขื่อน ไม่พบความผิดปกติ ในส่วนของในอุโมงค์ พบว่า น้ำที่ซึมผ่านแกนดินเหนียวมีน้อยกว่าปกติหลายร้อยเท่า และจากที่ได้รับฟังการนำเสนอของทางเขื่อน มีแผนการฉุกเฉิน ก็ยอมรับว่า มีความพร้อมในการรองรับทุกสถานการณ์ โดยหลังจากที่เดินตรวจเขื่อน ทางด้านสันเขื่อนและทางเดิน มีข้อคิดเห็น ในเรื่องการตรวจสอบ ประทับใจในขั้นตอนการตรวจสอบเขื่อน (DAM SAFTY MANAGEMENT) มีขั้นตอนที่สมบูรณ์แบบ
ดร.Loren R.Anderson เปิดเผยต่อว่า สิ่งที่อยากให้ความเห็นเรื่องแผนฉุกเฉิน ต้องมีการ UPDATE อยู่เสมอ ต้องมีการซ้อมแผน และมีการให้ความรู้กับชาวบ้าน บางครั้งมีการทำแผนอย่างดี แต่ไม่มีการฝึกซ้อมและปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย หากเกิดเหตุจะทำให้มีปัญหาได้ ในเรื่อง ความปลอดภัยของเขื่อน แผนการตรวจสอบและบำรุงรักษาของเขื่อนทำได้ดีมาก ผลการตรวจวัดดีกว่าหลายเขื่อนที่เห็นมา
ส่วนอุโมงค์ ดูเรื่องการรั่วซึมของน้ำ มีปริมาณน้อยกว่าหลายๆ เขื่อนในต่างประเทศที่เห็นมา ส่วนอาคารระบายน้ำล้น สภาพดี แต่อย่างไรก็ดี ขอให้มีการตรวจสอบที่ดีเช่นนี้เสมอไป ส่วนของตนยังไม่โอกาสดูเรื่องปริมาณน้ำในการออกแบบการระบายน้ำ น่าจะออกแบบได้พอเพียง ทางเขื่อนจะต้องมีการออกแบบให้พอเพียงที่จะระบายน้ำได้อย่างพอเพียง
ดร.Loren R.Anderson เปิดเผยต่อว่า ตัวสันเขื่อนความเสถียรภาพเขื่อนยังดีมาก ยังไม่พบความผิดปกติ เขื่อนยังอยู่ในสภาพที่มั่นคง ส่วนการตรวจสอบผลการศึกษาของ ม.เกษตรฯ เรื่องการเกิดแผ่นดินไหว เขื่อนศรีนครินทร์มีเสถียรภาพที่ปลอดภัย หลายๆ วิธีการได้ถูกนำมาศึกษาอย่างครบถ้วน ผลการศึกษาของท่าน น้อยมากของเขื่อนที่จะเกิดพังทลายจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะลักษณะของเขื่อนศรีนครินทร์ ที่เป็นเขื่อนแบบหินทิ้งแกนดินเหนียว จะมีเสถียรภาพมาก เพราะจะมีการปรับสภาพได้ดี สิ่งที่ท่านเห็นทำให้พบว่า กฟผ.ทำมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างเสถียรภาพของเขื่อน เช่น ที่ ให้ ม.เกษตรฯ ทำการประเมินเสถียรภาพของเขื่อน น่าจะมีการวิเคราะห์การประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเขื่อน น่าจะมีการจัดทำขึ้นในประเทศไทย
หลังจากนั้น สื่อมวลชนได้ถามว่า อยากทราบว่า เขื่อนศรีนครินทร์ ทนต่อแรงแผ่นดินไหว 6-7 ริกเตอร์ ในรัศมี 10 กิโลเมตร หรือไม่ ดร.Loren R.Anderson ตอบว่า สิ่งที่ ม.เกษตรฯ วิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อเขื่อน 6.8 ริกเตอร์ ในรัศมี 10 กิโลเมตร เขื่อนปลอดภัย ยกตัวอย่างเขื่อนที่แคลิฟลอเนีย เป็นเขื่อนคนละประเภทกับเขื่อนศรีนครินทร์ ลักษณะทรายถม เขื่อนที่ได้รับการออกแบบทางด้านวิชาการ จะมีผลรองรับจากการเกิดแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดี
นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมในส่วนของจังหวัดกาญจนบุรี พรุ่งนี้ (8 เม.ย.) เวลา 11.00 น.จะมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุให้แก้ชาวบ้านและผู้แทน อปท.ทั้งจังหวัด โดยจะมีการซ้อมแผนในเวลา 13.00 น.ที่ท่าน้ำเทศบาลตำบลหนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี