ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จังหวัดภูเก็ตผลักดันสับปะรดภูเก็ตขึ้นสู่ระดับโลกหลังจดสิทธิบัตรข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ส่งข้อมูล ม.เกษตรศึกษาวิจัยการเก็บรักษาให้ได้นานคงคุณภาพเดิม พร้อมดันตั้งศูนย์เก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ก่อนปล่อยออกสู่ตลาดสร้างมูลค่าเพิ่ม
นายชาลี สิตบุศย์ รักษาการเกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนา “สับปะรดภูเก็ต”ภายหลังได้รับการจดสิทธิบัตรข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ และตั้งศูนย์รวบรวมผลผลิตเพื่อส่วนมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรว่า ขณะนี้สับปะรดภูเก็ตถือว่าสินค้าที่เป็นแบรนด์เฉพาะของภูเก็ตเอง เนื่องจากได้รับการจดสิทธิบัตรข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ซึ่งเป็นเครื่องช่วยยืนยันคุณภาพของสับปะรดภูเก็ตได้เป็นอย่างดี
แต่ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อ “สับปะรดภูเก็ต”ในแหล่งที่มาโดยตรงได้การตลาดยังไม่เป็นระบบซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องปรับปรุงและแก้ไขปัญหาโดยด่วนเพื่อให้สับปะรดภูเก็ตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรดภูเก็ตได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตจะเข้าไปส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต ที่มีอยู่ประมาณ 50 ราย เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ รวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์รวมผลผลิตก่อนที่จะส่งออกไปจำหน่าย เชื่อว่าถ้าทำได้จะทำให้ราคาสับปะรดภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนั้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นก็จะเข้าไปส่งเสริมในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับซื้อเป็นของฝากก็จะส่งผลดีต่อเกษตรกรอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเรื่องของการสร้างเครือข่ายในการผลิตสับปะรดภูเก็ต เพื่อให้ผลผลิตออกมาเพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากปัจจุบันนี้บางช่วงผลผลิตออกมามากจนล้นตลาด
ขณะที่บางช่วงผลผลิตมีไม่เพียงพอจนต้องนำเข้าจากที่อื่น จนทำให้เสียคุณภาพและไม่ใช้สับปะรดภูเก็ตที่เป็นของแท้ แต่ถ้ามีการวางแผนในการผลิตที่ดีมีผลผลิตออกมาต่อเนื่องและเหมาะสม ก็จะทำให้ราคาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
นายชาลี ยังได้กล่าวต่อไปถึงการพัฒนาและส่งเสริมเพื่อให้สับปะรดภูเก็ตเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ ว่า ขณะนี้การพัฒนาเพื่อส่งเสริมให้สับปะรดภูเก็ตสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้นั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย ที่กรมส่งเสริมการเกษตรมอบหมายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสนศึกษาวิจัยทั้งในเรื่องของการคงสภาพ และคงคุณภาพ ให้สามารถเก็บได้นานเพื่อให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้
โดยกลุ่มประเทศแรกๆที่คาดว่าจะส่งออกไป คือ ประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งการศึกษาวิจัยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งขณะนี้ทางเกษตรจังหวัดได้นำผลผลิตไปให้ทาง ม.เกษตรฯศึกษาวิจัยแล้ว