xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯยันโครงกระดูกที่พบในบ่อกุ้งกุยบุรีเป็น “แรดชวา” ราว 100 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมนายจำนงค์ บุญศิลป์ ผอ.สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 าขาเพชรบุรี  ,นายพงษ์พันธ์  วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี ,นายสุภากร  ปทุมรัตนาธาร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ  ,นายพนม  พงษ์สุวรรณ ผอ.ส่วนอุทยานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และนายนพวงศ์  พฤกษชาติ หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงการขุดพบโครงกระดูกแรดชวาที่มีความสมบูรณ์ 80 % อายุราว 100 ปี
ประจวบคีรีขันธ์ - กรมอุทยานแห่งชาติฯ ยันผลพิสูจน์หัวกระโหลกและโครงกระดูกแรดที่ชาวบ้านพบในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านหุบตาโคตร อ.กุยบุรี เป็นแรดชวาที่สูญพันธุ์จากไทยไปแล้วนับ 100 ปี และพบซากแรดชวาเป็นตัวที่ 3 แต่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศ ผู้ว่าฯประจวบฯนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเพื่อให้เยาวชน นักท่องเที่ยว นักวิชาการได้ศึกษาข้อมูล และเตรียมขุดบ่อกุ้งที่พบซากโครงกระดูกเพื่อหาชิ้นส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วย คาดว่าอาจพบชิ้นส่วนสำคัญอย่าง นอแรด ที่ยังขาดหายไป

วันนี้ (6 เม.ย.) ที่ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายจำนงค์ บุญศิลป์ ผอ.สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3สาขาเพชรบุรี, นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี, นายสุภากร ปทุมรัตนาธาร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ, นายพนม พงษ์สุวรรณ ผอ.ส่วนอุทยานพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี และนายนพวงศ์ พฤกษชาติ หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และหน่วยงานเกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักเรียน นักศึกษา เพื่อยืนยันผลพิสูจน์โครงกระดูกสัตว์ป่าที่ขุดพบในพื้นที่บ่อกุ้ง หมู่ที่ 7 บ้านหุบตาโคตร ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพื้นที่ซึ่งถูกขุดพบอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวแสดงความยินดีที่ซากสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่ขุดพบ โดย นายอร่าม ศรีวิลัย ชาวบ้านที่มารับจ้างจับกุ้งในบ่อเลี้ยง และเพื่อนๆบริเวณหมู่ 7 บ้านหุบตาโคตร ต.เขาแดง อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพบขณะลากอวนกุ้งแล้วไปเหยียบเอาซากสัตว์ป่าขนาดใหญ่ซึ่งจมอยู่ก้นบ่อ จึงได้ช่วยกันงมขึ้นมาได้ 40 กว่าชิ้น(เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา) และนำไปกระจายเก็บไว้ตามบ้านเพื่อนบ้าน เพราะยังไม่รู้เหมือนกันในขณะนั้น

และยังทำความสะอาดหลังจากนั้นจึงแจ้งให้ นายโกสินทร์ สีดำ เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาประชากรและการแพร่กระจายของเสือปลาในอำเภอกุยบุรี ได้ทราบ ซึ่งขณะนี้ผมเห็นโครงกระดูกแรดชวาทั้งหมดแล้ว เห็นว่าค่อนข้างสมบูรณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฟัน ไม่น่าเชื่อว่าจะจมดินอยู่นับ 100 ปี

ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยขอให้เก็บรักษาโครงกระดูกแรดชวาทั้งหมดไว้ที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดเพื่อให้เยาวชนนักท่องเที่ยว นักวิชาการได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ป่าหายากที่สูญพันธ์ต่อไป ผมเชื่อว่า นับจากนี้ไปเมื่อสื่อมวลชนเผยแพร่ออกไป จะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยชาวต่างชาติและกลุ่มเยาวชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมั่นใจว่าจุดนี้จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดมากขึ้น

เช่นเดียวกับ นายพงพันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า หลังจากพบโครงกระดูกสัตว์ฯ ก็ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ติดตามผู้ที่ขุดพบและสอบถามว่า นำไปเก็บรักษาไว้ที่ไหน และจึงออกติดตามกลับมาซึ่งทางชาวบ้านที่พบ เค้าก็มอบให้กับทางอุทยานฯสามร้อยยอดทั้งหมด ไม่เพียงเท่านั้นอีกประมาณ 2 เดือน อาจจะมีการขุดพบโครงกระดูกแรดชวาเพิ่มอีกในบ่อกุ้ง ซึ่งทางกำนั้นตำบลเขาแดง ได้แจ้งให้ทราบว่าเคยจับกุ้งและไถเลนไปชนซากสัตว์ใหญ่แต่ไมได้สนใจ และได้เลี้ยงกุ้งต่อซึ่งหากมีการจับกุ้งอีกก็น่าจะได้คำตอบ ซึ่งต้องยอมรับว่านี่เป็นข่าวดีของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกิดมาผมยังไม่เคยเห็นแรดชวาตัวเป็นๆเลย

ด้าน นายศุภากร ปทุมรัตนาธาร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า (วันที่ 25 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา) เมื่อได้รับแจ้งจึงได้เข้าตรวจสอบ เบื้องต้นพบว่า เป็นโครงกระดูกสัตว์ป่ากินพืชขนาดใหญ่ จึงได้นำหัวกะโหลก และโครงกระดูกบางส่วนส่งไปตรวจสอบที่กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรุงเทพฯ

นายศุภากร กล่าวอีกว่า จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 25554 มีนาคม 2554 รศ.ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับการยืนยันว่า เป็นซากกะโหลกแรดชวา โดยวิเคราะห์จากโครงสร้างรูปกะโหลกและเปรียบเทียบกับเอกสารอ้างอิง ที่ปัจจุบันมีซากกะโหลกแรดชวาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เขาสัตว์ จ.นนท์บุรีและกรมทรัพยากรธรณี ขุดพบที่ จ.กาญจนบุรี

ขณะเดียวกัน นายนพวงศ์ พฤกษชาติ หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวด้วยว่า เมื่อในอดีตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เมื่อก่อนยังไม่เป็นอุทยานนั้นเป็นป่าใหญ่ที่สมบูรณ์ มาตั้งแต่ครั้งในอดีตดูจากสัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ป่ากุยบุรี ทั้งช้างป่า กระทิง เสือโคร่ง และสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก

แต่มาภายหลังความเจริญเข้ามามีการตัดถนนสร้างหมู่บ้าน จนกลายเป็นสองพื้นที่และมาจัดตั้งอุทยานขึ้น โดยซากแรดชวาที่ขุดพบ คาดว่ามีอายุมากกว่า 100 ปี ความยาวประมาณ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 2 ตัน ซึ่งชิ้นส่วนกระดูกที่พบ มีตั้งแต่หัวกระโหลกแรดชวาที่สมบูรณ์พร้อมทั้งฟันขนาดใหญ่ที่อยู่ครบทุกซี่, กระดูกส่วนซีโครง,ส่วนขา และชิ้นส่วนกระดูกบริเวณต่างๆ ซึ่งเกือบครบสมบูรณ์ทั้งซากเรียกว่าประมาณ 80%

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯเขาสามร้อยยอด, ฝ่ายปรกครองอำเภอกุยบุรี เตรียมขุดบ่อกุ้งจุดที่พบซากโครงกระดูกแรดชวา เพื่อหาชิ้นส่วนกระดูกที่เหลือเพิ่มเติมด้วย โดยคาดว่าอาจพบชิ้นส่วนสำคัญอย่าง นอแรด ที่ยังหาไม่พบ โดยนอแรดไม่ใช่กระดูกแข็งเหมือนชิ้นส่วนอื่น ลักษณะคล้ายเล็บ ซึ่งมีความเปาะบางมากกว่า

ล่าสุด นางปิ่นนาถ เจริญผล ผอ.ททท.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวภายหลังทราบข้อมูลจากสื่อมวลชน ว่า ไม่น่าเชื่อว่า จะพบโครงกระดูแรดชวาในพื้นที่อำเภอกุยบุรี ยิ่งมีการยืนยันพิสูจน์จากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายแล้ว น่าจะเป็นที่สนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบเรื่องของสัตว์ป่าหายาก และกลุ่มนักอนุรักษ์ เชื่อมั่นว่าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

นอกจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภท ทะเล ภูเขา ถ้ำ และป่าชายเลนที่มีชื่อเสียงแล้ว การนำโครงกระดูกของแรดชวาจะเป็นจุดสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวอีกส่วน ซึ่งทาง สน.ททท.ประจวบฯ จะเตรียมขอข้อมูลเอกสาร มาไว้ที่สำนักงานเผื่อมีนักท่องเที่ยวสอบถามข้อมูล ทาง ททท.จะได้ให้ข้อมูลได้ถูกต้อง





กำลังโหลดความคิดเห็น