ประจวบคีรีขันธ์ - โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหิน เอกซเรย์ลูกช้างป่ากุยบุรี แล้วพบกระดูกสะโพกหลุด แนะใช้วิธีกายภาพบำบัด แทนการผ่าตัดเปลี่ยนเบ้า ส่วนอาการอื่นๆพบลูกช้างป่าอาการน่าวิตกทั้งเม็ดเลือดขาวต่ำ ร่างกายขาดน้ำประกาศหาแม่ช้างให้น้ำนมด่วน และห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องสัมผัสลูกช้างป่าหวั่นติดเชื้อ
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีช้างป่ากุยบุรีติดหล่ม วันนี้ (5 เม.ย.) นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทีมสัตวแพทย์จากศูนย์การศึกษาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นำลูกช้างป่าติดหล่มในป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ซึ่งชาวบ้านที่หาผักกูดไปพบติดหล่มอยู่ในป่า และตามเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ไปช่วยเหลือและนำมาพักรักษาอยู่ภายในอุทยานฯกุยบุรี ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมาแล้วนั้น ซึ่งลูกช้างป่ายังไม่สามารถลูกขึ้นเดินได้
กระทั่งวันนี้ได้มีการเคลื่อนย้ายนำเข้ามาฉายเอกซเรย์ที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหิน โดยนายสัตวแพทย์ วันชาติ ยิบประดิษฐ์, นายสัตวแพทย์ คชพล จาตุรันต์รัศมี ได้นำลูกช้างป่าเพศผู้อายุ 1 เดือนเศษ น้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัมเข้ายังห้องเอ็กซ์เรย์ทันที พร้อมสอบถามข้อมูลการรักษาเบื้องต้นจากนายจามร ศักดินันท์ สัตวแพทย์ประจำสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ตลอดจนทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี และทีมสัตว์แพทย์จากศูนย์ศึกษาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้ช่วยกันทำการรักษามาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลาถึง 5 วันเต็ม ซึ่งพบลูกช้างป่าไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้เอง เนื่องขาซ้ายหลังพบบาดแผลหลายจุด เกิดการกดทับ และไม่ทราบว่ากระดูกข้อขาและส่วนอื่นหักหรือไม่จึงต้องนำมาเอกซเรย์
โดยทางนายสัตวแพทย์โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหิน และทีมสัตวแพทย์ประจวบฯตลอดจนเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กุยบุรี พร้อมทั้งนายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ช่วยกันยกลูกช้างป่าขึ้นวางบนแท่นเอกซเรย์ และเมื่อทำการใช้เครื่องเอกซเรย์ ทำการฉายตามจุดต่างๆ ด้านขาซ้ายและสะโพกที่ละจุด และนำแผ่นฟิลม์ออกมาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ ดูผลได้ทันทีพบว่าในส่วนกระดูกขาซ้ายไม่พบร่อยรอยหักและหลุดแต่อย่างใด
ทางทีมสัตวแพทย์จึงทำการเอกซเรย์ใหม่อีกครั้ง จนพบว่าบริเวณกระดูกสะโพกซ้ายหลุดจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกช้างป่าไม่สามารถลุกขึ้นและยืนได้
นายสัตวแพทย์วันชาติ ยิบประดิษฐ์, โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหิน ได้ให้คำแนะนำในการรักษาลูกช้างป่าขั้นต่อไปว่าแทนที่จะต้องใช้วิธีการผ่าตัด เพื่อใช้เบ้าเทียมเข้าไปใส่แทนนั้นไม่สมควรใช้วิธีนี้ ควรใช้วิธีทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีต่างๆ แทน เช่น การพยุงให้ลุกขึ้นในบางครั้ง และการให้ลูกช้างป่าเดินในน้ำ สาเหตุที่ต้องใช้วิธีการกายภาพบำบัดแทนการผ่าตัดนั้น เนื่องจากเป็นลูกช้างการที่ร่างกายของลูกช้างป่าจะสร้างเบ้าข้อต่อจุดที่หลุดมีโอกาสมาก เนื่องจากเป็นช้างเล็กแต่ต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งทั้งหมดจะต้องให้การรักษาสุขภาพช้างและร่างกายให้แข็งแรงก่อน
ด้าน นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ผลจากการตรวจเลือดและวิเคราะห์จากการรักษาที่ผ่านมาแล้ว 5 วันจนถึงวันนี้ยอมรับว่า อาการของลูกช้างป่ายังไม่อยู่ในขั้นที่เรียกว่าไม่ปลอดภัย และน่าเป็นห่วงเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งเรื่องของเม็ดเลือดขาวที่ต่ำลง รวมทั้งเรื่องของตับ และร่างกายที่ขาดน้ำมาหลายวันในช่วงที่ติดหล่ม และเกรงว่าอาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งทีมสัตว์แพทย์ทั้งหมด และเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี ได้ประชุมร่วมกันและตัดสินใจนำลูกช้างป่ากลับไปรักษาพักฟื้นในพื้นที่อุทยานฯกุยบุรี เพื่อสะดวกต่อการดูแลในการทำการภาพบำบัด โดยทางปศุสัตว์จังหวัดประจวบฯ จะจัดทีมสัตวแพทย์ผลัดเปลี่ยนเข้าไปดูแลทำการรักษาทุกวัน
รวมทั้งการให้น้ำข้าว และการเร่งหาแม่ช้างมาให้น้ำนมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ถึงแม้จะยากก็ตาม โดยหลังจากวันนี้เป็นต้นไปจะห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาเข้าไปสัมผัสจับต้องลูกช้างป่าโดยเด็ดขาดเพราะหวั่นว่าจะติดเชื้อและอาจทำให้ลูกช้างป่าซึ่งร่างกายอ่อนแออยู่แล้วเสียชีวิตลงได้