xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านหาผักกูด พบลูกช้างป่าพลาดติดหล่มกลางป่าลึกอุทยานฯกุยบุรี - จนท.ช่วยสำเร็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - จนท.อุทยานแห่งชาติกุยบุรี นอภ.กุยบุรี พร้อมทีมสัตว์แพทย์สำนักงานปศุสัตว์ประจวบฯ ตลอดจนชาวบ้านให้การช่วยเหลือลูกช้างป่าวัยเพียงเดือนเศษติดหล่มในป่าอุทยานฯกุยบุรี พร้อมเตรียมเคลื่อนย้ายกลับมารักษา ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในช่วงเย็นวันนี้ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยของลูกช้างป่า

เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (31 มี.ค.) นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี พร้อมด้วย นายพนม พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี รักษาการหัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี, นายสัตวแพทย์ จามร ศักดินันท์ สัตวแพทย์ประจำสำนักงานปศุสัตว์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี เจ้าหน้าที่ประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าป่าลึก บริเวณคลอง 3 หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่เข้าป่ามาเก็บผักกรูด ว่า พบเห็นลูกช้างป่าติดหล่ม เกรงจะได้รับอันตรายและหากปล่อยไว้นานอาจเสียชีวิตได้ หลังรับแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้สนธิกำลังเข้าตรวจสอบ ตลอดเส้นทางลาดชันขึ้นลงเขา และข้ามลำธารที่มีน้ำมากขึ้นหลังจากมีฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งต้องใช้รถโฟร์วีลของอุทยานฯกุยบุรีเข้าไป

เมื่อไปถึงยังจุดที่รับแจ้งพบ นายสำรวม และ นางละเอียด คำวง อาชีพเก็บผักกรูดขาย ยืนรออยู่พร้อมด้วย นายน้อย คนเลี้ยงวัว โดยทั้งหมดได้พาเจ้าหน้าที่เดินลึกเข้าไปในป่าข้างทาง ซึ่งมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นรกทึบ อีกราว 20 เมตร ก็พบกับลูกช้างป่าขนาดเล็ก วัยเพียงเดือนเศษ โดยขาหลังของลูกช้างทั้งสองขาติดอยู่ในดินลึกถึงสะโพกช้าง ไม่สามารถขยับตัวได้ โดยรอบที่เกิดเหตุตรวจสอบพบร่องรอยเท้าช้างเต็มไปหมด มีต้นไม้ขนาดใหญ่หักโค่น จนราบ
 
โดยคาดว่าจะเป็นแม่ช้างและพี่เลี้ยงได้เดินย่ำดินไปมา คล้ายพยายามหาทางช่วยลูกช้างป่าที่ติดหล่ม แต่การกระทำดังกล่าวเจ้าหน้าที่เชื่อว่ายิ่งทำให้พื้นดินอัดแน่นมากขึ้น จนขาของลูกช้างอัดติดกับดิน เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงจึงต้องช่วยกันขุดดินโดยรอบขาลูกช้างออก แล้วช่วยกันอุ้มลูกช้างขึ้น ซึ่งเมื่อสามารถขึ้นมาจากดินได้ ลูกช้างถึงกับนอนราบกับพื้นดินด้วยอาการอ่อนเพลียอย่างมาก จากนั้นจึงได้ช่วยกันเคลื่อนย้ายลูกช้างออกมาห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 15 เมตร เพื่อทำการรักษาลูกช้างโดยด่วน

โดย นายสัตวแพทย์ จามร ศักดินันท์ สัตวแพทย์ประจำสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ลูกช้างที่พบเป็นช้างเพศผู้ วัยเพียงเดือนเศษ ไม่ถึงสองเดือนเท่านั้น มีขนาดเล็กมาก ความสูงเบื้องต้นประมาณ 70-80 เซนติเมตรเท่านั้น ส่วนน้ำหนักตัวยังไม่สามารถชั่งได้ เบื้องต้นลูกช้างมีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ดวงตาแดงกล่ำ คาดว่า มีสาเหตุมาจากการขาดน้ำนม และน้ำ อย่างมาก
 
ส่วนที่บริเวณขาซ้ายด้านหลังบวมอักเสบจนลูกช้างยืนไม่สะดวก เป็นเพราะลูกช้างยืนอยู่ในดินเป็นเวลานาน และขารับน้ำหนักตัวมากเกินไป ส่วนตามลำตัวของลูกช้างมีแผลถลอกทั่วไป โดยต้องกั้นคลอกขนาดเล็ก เพื่อจำกัดพื้นที่ให้ลูกช้างสามารถยืนได้ แต่ไม่ให้เคลื่อนไหวมากนัก

สัตวแพทย์ประจำสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวภายหลังจากตรวจอาการเบื้องต้นแล้ว ได้ฉีดยาปฏิชีวนะให้ 1 เข็ม และให้น้ำเกลือ อีก 2 ขวด เพื่อให้ลูกช้างมีกำลังขึ้น ส่วนแผลตามตัวใช้ยา Gentian violet หรือยาม่วง ทาตามบาดแผลเพื่อให้แผลแห้งเร็ว ซึ่งการรักษาต้องรักษาตามอาการ และรอลุ้นให้แม่ช้างกลับมารับลูกช้างแล้วพากลับเข้าโขลงตามเดิมซึ่งจะเป็นทางเดียวที่ลูกช้างจะหายเป็นปกติ

เบื้องต้นมีรายงานว่า ทางนายอำเภอกุยบุรี สัตวแพทย์ และทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯกุยบุรี เตรียมเคลื่อนย้ายลูกช้างป่า กลับมารักษาที่ทำการอุทยานฯแห่งชาติกุยบุรี อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหากอาการของลูกช่างแข็งแรงขึ้นก็จะนำกลับแปล่อยให้เข้าป่าไป เนื่องจากพื้นที่ที่พบลูกช้างป่าติดหล่มจุดนั้น เป็นบริเวณถิ่นหากินของเสือโคร่ง เกรงว่าลูกช้างที่บาดเจ็บอยู่อาจเกิดอันตรายได้

กำลังโหลดความคิดเห็น