xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีพัทยามิวสิกฯ ไม่ปลื้ม นักเที่ยวโอดงานกร่อยโคตรๆ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตระการตายิ่งใหญ่ พัทยาอินเตอร์เนชันแนลมิวสิคเฟสติวัล 2011
ศูนย์ข่าวศรีราชา- เสร็จสิ้นไปแล้วสำหรับเทศกาลแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรี พัทยา ครบรอบ 10 ปี นักท่องเที่ยวครวญวงดนตรีผูกขาดค่ายยักษ์ใหญ่ เหมือนจับธุรกิจดนตรียัดหัวนักเสพดนตรี หวังอนาคตทุกค่ายเพลงมีโอกาสอย่างเท่าเทียม เพื่อประกาศสุนทรียภาพความเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ครบวงจรอย่างแท้จริง เผยปีนี้สุดกร่อยนักเที่ยวน้อยกว่าปีที่แล้วชัดเจน โชคดีภาคเอกชนในพื้นที่ช่วยจัดกิจกรรมสร้างสีสันทำภาพรวมดูดีขึ้นมาระดับหนึ่ง

สำหรับเทศกาลแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีระดับประเทศที่มีชื่อเสียงติดหูอย่าง “พัทยาอินเตอร์เนชันแนล มิวสิกเฟสติวัล” ที่อดีตเมื่อย้อนหลังไปประมาณ 10 ปีที่เริ่มใช้ชื่อเพียงว่า “งานพัทยามิวสิกเฟสติวัล” สำหรับในปีนี้ก็คงเสร็จสิ้นไปแล้วด้วยความสนุกสนานหลังเมืองพัทยาสนับสนุนงบประมาณจัดงาน รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีร่วมหนุนงบมาอีกรวมทั้งสิ้นจำนวนหลายล้านบาท ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อหวังสร้างความยิ่งใหญ่ตามที่หวังจะส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวตากอากาศที่เคล้าเสียงดนตรีแห่งภูมิภาคตะวันออกของไทย และยังเป็นมหกรรมดนตรีบนชายหาดที่ยาวที่สุดในเอเชีย “The Longest Beach Music Festival in Asia” ตามทัศนวิสัยความเพ้อฝันของใครบางคน แต่เมื่อมีโอกาสได้สัมผัสบรรยากาศของรูปแบบงานอย่างใกล้ชิดหลายปีติดต่อกันนั้นก็อดที่จะนำเสนอมุมมองแห่งความจริงไม่ได้ เพราะล่าสุดบรรยากาศเป็นไปอย่างสุดกร่อยจริงๆ หากเทียบได้จากปีที่ผ่านๆ มา ถึงแม้ภาพรวมจะดูดีตามอัธภาพก็ตาม

แรกเริ่มในช่วงที่ยังเรียกว่างาน “พัทยามิวสิกเฟสติวัล” นั้นจะเป็นงานที่ทำให้บรรดาผู้คร่ำหวอดในวงการดนตรี รวมถึงกลุ่มผู้คลั่งไคล้ดนตรีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในไทยจะรู้สึกตื่นตัวอยากหาความสำราญผ่านเสียงดนตรีริมทะเลพัทยา โดยรูปแบบงานปีแรกๆ จัดได้เข้าถึงอารมณ์ดนตรีอย่างดีระดับหนึ่ง เพราะเปิดโอกาสสร้างความทัดเท่าเทียมทางดนตรีมีการแสดงของศิลปินจากเวทีค่ายเพลงต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมถึงเพลงลูกทุ่ง และเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลือกที่สร้างสุนทรียภาพทางการเติบโตของเมืองท่องเที่ยวแห่งความหลากหลายได้อย่างแท้จริง

ทว่า นับวันเทศกาลดนตรีดังกล่าวที่พยายามสร้างภาพให้ได้คำว่ายิ่งใหญ่กลับเสมือนผูกขาดด้วยค่ายเพลงยักษ์ใหญ่บางค่ายของประเทศ ทำให้การตัดสินใจของกลุ่มคนฟังดนตรีและกลุ่มคนที่สนับสนุนอุตสาหกรรมดนตรีไทยที่แท้จริงมีมุมมองต่อการจัดงานดังกล่าวไปในเชิงของการเติบโตทางวัตถุมากกว่าความสำคัญในมุมมองความเติบโตทางวัฒนธรรมทางดนตรีที่แท้จริง ความคึกคักของเทศกาลดังกล่าวก็จะมีเพียงกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่มาร่วมงาน ซึ่งสวนทางกับความต้องการเสพทางดนตรีที่แท้จริงได้เลือนหายไปแล้วด้วยเช่นกัน

คุณปุ๊ก รจนา (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) อายุ 38 ปี นักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยกับทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ เล่าว่า ได้มาร่วมงานพัทยามิวสิกฯ ตั้งแต่ปีแรกจนปีนี้พบว่ารูปแบบงานดูขาดสีสันลงไปจากเดิมมากมาย ทั้งนี้เพราะศิลปินส่วนใหญ่มาจากค่ายเพลงดังบางค่ายเท่านั้น ทำให้คำว่าเทศกาลแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีดูจางเลือนลงไป เหมือนไม่โอกาสให้นักดนตรีค่ายอื่นได้ร่วมแสดงความสามารถทางดนตรี ทั้งที่อดีตก็เคยมีการแสดงจากค่ายเพลงต่างๆ ทั่วเมืองไทย แต่ปัจจุบันก็เห็นได้ชัดว่าเหมือนเป็นกิจกรรมของค่ายเพลงบางค่ายเท่านั้น กลุ่มศิลปินที่นำมาแสดงก็เหมือนถูกจัดฉากจับยัดให้ผู้เสพดนตรีต้องรับฟังแนวดนตรีตามกระแสไม่มีความหลากหลายเหมือนในอดีต

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเมืองพัทยา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ควรให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าวด้วยหากหวังให้ภาพกิจกรรมออกมาเป็นเทศกาลแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีที่แท้จริง เพราะเชื่อว่าแนวคิดริเริ่มการจัดกิจกรรมดังกล่าวมาจากความเข้าถึงต่อความต้องการดนตรีของมนุษยชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวสู่ความครบวงจรและความหลากหลาย ซึ่งเมืองพัทยาพยายามสร้างภาพดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจึงควรเน้นย้ำความรู้สึกของผู้เสพดนตรีต่อกิจกรรมที่ดำเนินการมาร่วม 10 ปีด้วยเช่นกัน

คุณป๊อก สิทธิ (ไม่ขอเปิดเผยนามสกุล) อายุ 26 ปี นักดนตรีคนหนึ่งจากชลบุรี ที่เดินทางมาร่วมชมกิจกรรมดังกล่าวให้ข้อมูลด้วยว่า พัทยามิวสิกฯ เปลี่ยนแปลงไปมาก ความหลากหลายทางดนตรีดูลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มนักดนตรีทั่วประเทศหลายคนเดินทางมาร่วมงานนี้เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการร่วมชมคอนเสิร์ตของศิลปินต่างๆ แต่เมื่อมาเจอศิลปินค่ายดังเพียงบางค่าย แนวเพลงไม่มีความหลากหลาย ความพยายามอยากในการเดินทางมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในงานก็คงลดน้อยลงไปด้วยเพราะไม่มีความแปลกใหม่ และไม่มีความตื่นเต้น รวมถึงความกระตือรือร้นของศิลปินจากนานาค่ายซึ่งเป็นบรรยากาศที่หาได้ดูยากอยู่แล้วก็จะหาดูไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม เมืองพัทยายังมีความพิเศษตรงที่ว่าหน่วยงานภาคต่างๆ ในพื้นที่ให้การสนับสนุนฝ่ายบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างดี เห็นได้จากการพยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกช่วงเทศกาล ร่วมถึงช่วงเทศกาลพัทยาอินเตอร์มิวสิกเฟสติวัลด้วยเช่นกัน บรรดาห้างร้าน ศูนย์การค้า และกลุ่มสถานประกอบการต่างร่วมมือจัดกิจกรรมสร้างสีสันอย่างต่อเนื่อง บ้างลงทุนดึงศิลปินจากค่ายเพลงอื่นๆ มาสร้างสีสันตามจุดและพื้นที่ต่างๆ ตลอดการจัดกิจกรรมซึ่งก็ช่วยให้ภาพรวมความคึกคักองกิจกรรมดูมีสีสันความคึกคักอย่างที่เห็น แต่หากจะเข้าถึงความต้องการเสพดนตรีอย่างที่แท้จริงแล้วเวทีหลักของการจัดกิจกรรมต้องเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้แสดงความสามารถมากกว่านี้ ไม่ใช่เปิดโอกาสให้ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่บางค่ายเท่านั้น

ประมวลภาพรวมโดยสรุปรูปแบบงานพัทยาอินเตอร์เนชันแนลมิวสิกเฟสติวัลในปีก็คงเป็นอย่างที่หลายคนที่เข้ามาสัมผัสงานแล้วรู้สึกกัน ซึ่งเชื่อว่าคณะผู้บริหารเมืองพัทยาผู้มากด้วยวิสัยทัศน์คงจะเข้าใจและมีข้อมูลความต้องการของนักท่องเที่ยวต่อช่วงเทศกาลดังกล่าว เพื่อความเป็นเมืองท่องเที่ยวแห่งความหลากหลายที่ครบวงจรอย่างแท้จริง และที่สำคัญงานนี้ก็วางคอนเซ็ปต์ไปแล้วว่า เป็นเทศกาลวัฒนธรรมเคล้าเสียงดนตรีแห่งภูมิภาคตะวันออกของไทยทั้งยังเป็นมหกรรมดนตรีบนชายหาดที่ยาวที่สุดในเอเชีย “The Longest Beach Music Festival in Asia” ทั้งนี้และทั้งนั้นหลากหลายฝ่ายมากมาย ก็ยังคงจับตามองเทศกาลนี้ในปีหน้าว่า จะมีรูปแบบความน่าสนใจในกิจกรรมจะเป็นไปในทิศทางไหน หรือไม่ก็คงต้องเข้าใจและยอมรับกับทิศทางเดิมๆ ที่มีเพียงค่ายเพลงยักษ์ใหญ่บางค่ายมาเป็นแม่งานจัดกิจกรรมในแบบอีหรอบเดิมๆ
ภาคเอกชนจัดเวทีคอนเสิร์ตดึงศิลปินอื่นผสมกิจกรรมอื่นเสริมสร้างสีนสันให้งาน
RAIN ศิลปินผู้เรียกความฮือฮาให้งานวันที่ 2 แต่เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
RAIN เต็มๆ
ห้างรอยัลการ์เด้นท์เปิดเวทีอินดี้ให้ศิลปินหน้าใหม่โชว์ความสามารถเรียกความสนใจและความคึกคัก ย่านพัทยาใต้
ภาพรวมของกิจกรรมที่ดูไปได้สวยแต่ไม่ได้ใจคอดนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น