ครบรอบ 10 ปี ศาลปกครอง ปธ.กฤษฎีกาเปรียบนักกฎหมาย-ตุลาการเป็นวิศวกรสังคม ชี้รัฐธรรมนูญไทยล้มเหลวก่อให้เกิดการผูกขาดระบบพรรคการเมืองนายทุน ต้นเหตุคอร์รัปชัน เตือนอย่าทำตัวเป็นศรีธนญชัยร่วมกันอุดช่องกฏหมาย
วันนี้ (9 มี.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “หลักประกันสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี ศาลปกครอง โดยมีนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานการจัดสัมมนา พร้อมทั้งมีคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ นักกฎหมาย นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เป็นวิทยากรเข้าร่วมบรรยายด้วย
นายหัสวุฒิกล่าวว่า ศาลปกครองได้เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.44 จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยได้มีการพัฒนาบุคลากร มาตรการดำเนินงานและการพัฒนาองค์ความรู้ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เราต้องยอมรับว่า สภาพสังคมไทยในขณะนี้เปลี่ยนแปลงไม่หยุดยั้ง ทั้งแนวนิติรัฐที่มีทฤษฎีจำนวนมากจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สิทธิการฟ้องคดีต่อศาลปกครองถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญภายใต้หลักนิติรัฐ ดังนั้น ศาลปกครองจึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ขึ้นเพื่อเสริมความรู้ ความเข้าใจแก่งองค์กรภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจและองค์กรต่างๆ
ด้าน นายอมร จันทรสมบูรณ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 4 บรรยายในหัวข้อ “บทบาทของนักกฎหมายและตุลาการในยุคนิติปรัชญา” ใจความตอนหนึ่งว่า นักกฎหมายและตุลาการ เปรียบเสมือนเป็นวิศวกรสังคมที่แบ่งเป็น 2 บทบาท คือ 1.เป็นผู้ออกแบบกฎหมายให้เป็นลายลักษณ์อักษร 2.เป็นผู้ใช้กฎหมาย หากตัวบทกฎหมายดีก็จะช่วยลดปัญหาได้ แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หมด ทั้งนี้ ตุลาการที่มีหน้าที่ตีความกฎหมายนั้นต้องนึกถึงการอุดช่องว่างของกฎหมายด้วย ไม่ใช่เป็นศรีธนญชัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างหลักกฎหมายใหม่ด้วย เพื่อแก้ไขปัญหา
นายอมรกล่าวต่อว่า ในปัจจุบันสภาพความแตกแยกของคนไทยหาทางแก้ไขไม่ได้และไม่สามารถรู้ได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ออกแบบให้มาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีระบบผูกขาดนักการเมืองและนายทุน โดยมีบทบัญญัติ3ข้อที่ต่างประเทศไม่มี ได้แก่ 1.ให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง 2.ให้อำนาจพรรคการเมืองทำให้ ส.ส.สิ้นความเป็นสมาชิกภาพได้ 3.ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดการผูกขาดระบบพรรคการเมืองนายทุนใช้อิทธิพล เข้ามาจากการเลือกตั้งภายใต้สังคมไทยที่ยังไม่พัฒนาและยากจน ทำให้นายทุนท้องถิ่นและระดับชาติร่วมกันตั้งพรรคการเมือง ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาคุมเสียงข้างมากในสภาฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากระบบประธานาธิบดีและลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุน จนเป็นต้นเหตุของการคอร์รัปชัน หากไม่แก้ไขระบบผูกขาดนายทุนพรรคการเมืองเราก็จะแก้ไขปัญหาไม่ได้ ดังนั้น นักกฎหมายในฐานะผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญถือว่าประสบความล้มเหลว นอกจากนี้กฎหมายอื่นๆ ก็ล้วนแต่ออกแบบมาผิดทั้งหมด โดยยกตัวอย่างเมื่อปี 53 ที่ไม่สามารถแต่งตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาต (ผบ.ตร.) ได้ แต่ต้องใช้ระบบรักษาการเกือบปี เพราะมีนักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังต้องการควบคุม ผบ.ตร.ที่มีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ล้วนเกิดจากนักกฎหมาย และตุลาการทั้งสิ้น