กาฬสินธุ์ - พบครอบครัวชาว อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ เลี้ยงลูกชายที่ป่วยเป็นออทิสติก 90 เปอร์เซ็นต์ หายเป็นปกติ ทั้งระดับไอคิวสูงถึง 112 เผย ใช้วิธีการดูแลและรับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ศูนย์กระตุ้นและพัฒนาการเด็กออทิสติก รพ.กาฬสินธุ์ ยกย่องให้เป็นต้นแบบเครือข่ายให้คำปรึกษาย่อย
วันนี้ (11 ก.พ.) ที่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 4 ต.สมเด็จ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบนายศรีวิศาล และ นางอารญา ปอคีรีบารมี ที่มีลูกชายวัย 7 ขวบ ซึ่งป่วยเป็นออทิสติกตั้งแต่กำเนิด แต่ปัจจุบันลูกชายหายจากอาการออทิสติก สามารถเข้าสังคมเรียนและเล่นกับเพื่อนๆ ได้อย่างปกติ ทั้งผลการเรียนยังเป็นอันดับต้นๆ ของโรงเรียน ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนเข้าแข่งขันทักษะวิชาการได้รับรางวัลมามากมาย
นายศรีวิศาล ปอคีรีบารมี อายุ 45 ปี ผู้เป็นพ่อ กล่าวว่า เดิมทีตนเองก็เป็นออทิสติกมาตั้งแต่เด็ก แต่เป็นเพียงเล็กน้อยกระทั่งได้แต่งงานและมีลูกชาย คือ น้องเกมส์ หรือ ดช.วรโชติ ปอคีรีบารมี ขณะนี้อายุได้ 7 ขวบ เรียนอยู่ชั้น ป.2 ร.ร.เอกปัญญา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ครอบครัวสังเกตพบว่าลูกชายมีพัฒนาการพูดที่ล่าช้า ไม่สบตา จนญาติที่เป็นแพทย์ให้คำแนะนำ ให้นำเด็กไปตรวจ
ขณะนั้น ด.ช.วรโชติ อายุประมาณ 1 ปี 8 เดือน ผลตรวจพบว่า ลูกชายเป็นออทิสติก หรือออทิสซึม มีอาการหนักถึงร้อยละ 90 หลังจากนั้น มาได้พาลูกชายเข้ารับการรักษามาตลอดเริ่มตั้งแต่คลินิกที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และมีการประดิษฐ์เครื่องมือและอุปกรณ์การเล่นต่างๆ สำหรับเด็กขึ้นมาบำบัดเพิ่มเติม
กระทั่งย้ายมารักษาที่ รพ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2550 โดยอยู่ในการดูแลของคลินิกกระตุ้นและพัฒนาการเด็กออทิสติก ซึ่งมีการดูแลตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ อีกทั้งได้รับการเอาใจใส่จากแพทย์ และพยาบาลที่ดูแลเป็นอย่างดี จนทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด โดยการเรียนรู้และการเข้าสังคม
“ปัจจุบัน น้องเกมส์ ตั้งหน้าตั้งตาเรียน ชอบเรียนและผลการเรียนอยู่ในระดับต้นๆ ของโรงเรียนเกรดราวๆ 3.5 ขึ้นไปทุกๆ เทอม วิชาที่น้องเกมส์ชอบมากที่สุด คือ คณิตศาสตร์หรือคำนวณ ล่าสุด ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดไปแข่งขันการเขียนตอบทักษะภาษาอังกฤษ โดยได้เข้าแข่งขันระดับภาคก็ได้รางวัลรองชนะเลิศ” นายศรีวิศาล กล่าวและว่า
สิ่งที่ภูมิใจคือ ผลการทดสอบด้านไอคิว จากเดิมน้องเกมส์ มีไอคิวแค่ 70 ในช่วงป่วยเป็นออทิสติก ล่าสุด เมื่อเดือนที่ผ่านมาไอคิวน้องเกมส์ พุ่งขึ้น ถึงระดับ 112 ปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ คือ การทุ่มเท ตอนนี้เรากำลังเป็นเครือข่ายให้คำปรึกษา และบำบัดเด็กออทิสติก ที่จะเชื่อมโยงกับคลินิกของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ที่ตอนนี้มีเด็กเข้ารับบำบัดเบื้องต้นประมาณ 3-5 ราย
ด้าน นายแพทย์ สมคิด สุริยเลิศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า นับเป็นความสำเร็จของคลินิก เพราะเท่าที่ผ่านมาการดูแลเด็กประเภทนี้ต้องอาศัยความพยายาม ความอดทน และต้องปรับเปลี่ยนการให้ความรู้กับผู้ดูแลเป็นพิเศษ โดยการถ่ายทอดความรู้ในอนาคตสำหรับเด็กออทิสติกของเครือข่าย จะจัดให้มีเวทีย่อยเพื่อพบปะระหว่างผู้ปกครองให้ครอบคลุมและทั่วถึง
ปัจจุบัน รพ.กาฬสินธุ์ โดยคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก มีเครือข่ายที่ต้องดูแลประมาณ 1,200 ราย สำหรับผู้ปกครอง หรือผู้สนใจสามารถขอรับคำปรึกษาได้ โดยผ่านมายังคลินิกกระตุ้นและพัฒนาการเด็กออทิสติก โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ในเวลาราชการ ซึ่งคลินิกจะมีแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาอยู่ตลอด